กรมวิทย์ฯ ร่วม ศิริราช ชี้วัคซีนสลับ-บูสเตอร์โดส ต้านโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้

ฉีดวัคซีน 3

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จับมือ รพ.ศิริราช เปิดผลการศึกษาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดลต้า หลังฉีดวัคซีนสลับชนิด-บูสเตอร์โดสเข็ม 3 ชี้สูตรซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าฯ 1 เข็ม ภูมิขึ้นสูงสุด 271.2 ขณะที่ซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิขึ้นน้อยสุดเพียง 24.28

วันที่ 19 สิงหาคม 2564 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิดออกมาหลายชนิด และเริ่มฉีดในหลายประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาตัวไวรัสโควิดเองก็มีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมจนเกิดการกลายพันธุ์ทำให้การติดเชื้อง่ายมีความรุนแรงมากขึ้น และสามารถหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดี

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์

จนองค์การอนามัยโลกประกาศไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ที่ต้องควบคุมป้องกันว่าเป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern, VOC) ซึ่งได้แก่ ไวรัสสายพันธุ์อัลฟา เดลต้า เบตา และแกรมมา

สำหรับประเทศไทยได้มีความพยายามเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด โดยมีวัคซีนหลักคือซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า และต่อมาได้นำวัคซีน 2 ชนิดนี้มาฉีดสลับกัน (Mix and Match) ควบคู่กับการนำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามาใช้ฉีดบูสเตอร์โดสเข็มที่ 3 ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในวงกว้าง

ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับศิริราชพยาบาล ทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในซีรั่มของคนที่ได้รับวัคซีน โดยใช้ไวรัสสายพันธุ์จริงที่กำลังระบาดในประเทศไทย คือ สายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) ซึ่งพบในการติดเชื้อกว่า 90% ทำการทดสอบโดยวิธีมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วไปคือวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งต้องปฏิบัติในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อหาค่าที่ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าถูกทำลาย 50% (Neutralizing Titer 50%, NT50) โดยแอนติบอดีที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน โดยทำการศึกษาในอาสาสมัคร 6 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม (SV+SV) มีค่าระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้า 24.28
  • กลุ่มที่ 2 ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม (AZ+AZ) มีค่าระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้า 76.52
  • กลุ่มที่ 3 ได้รับวัคซีนซิโนแวค และตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า (SV+AZ) มีค่าระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้า 78.64
  • กลุ่มที่ 4 ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และตามด้วยซิโนแวค (AZ+SV) มีค่าระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้า 25.84
  • กลุ่มที่ 5 ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มและตามด้วยซิโนฟาร์ม 1 เข็ม (SV+SV+Sinopharm) มีค่าระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้า 61.27
  • กลุ่มที่ 6 ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มและตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม (SV+SV+AZ) มีค่าระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้า 271.2

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาการให้วัคซีนสลับแบบ (SV+AZ) มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าการให้วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม (SV+SV) และเทียบเท่ากับการให้แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม (AZ+AZ) แต่ใช้เวลาสั้นลง แต่ไม่แนะนำให้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า เข็มแรกและตามด้วยซิโนแวค (AZ+SV) เนื่องจากภูมิคุ้มกันขึ้นน้อย

ส่วนการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า (SV+SV+AZ) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นถึง 11 เท่า ขณะที่กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยซิโนฟาร์ม (SV+SV+Sinopharm) ที่เป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเพียง 2.5 เท่า

จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลแผนการให้วัคซีนมีความเหมาะสม โดยให้ฉีดแบบสลับ (SV+AZ) และให้ฉีดเข็ม 3 ด้วย AstraZeneca (SV+SV+AZ)

การศึกษาต่อไป กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เบตา โดยใช้ไวรัสจริงเพื่อสร้างความมั่นใจ ต่อการใช้วัคซีนสลับและการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 และเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการให้วัคซีนที่เหมาะสมโดยให้ประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนต่อไป