สธ.จ่อฟัน รพ.เอกชน ทิ้งผู้ป่วยโควิดท้อง ลั่นโทษปรับ 4 หมื่น จำคุก 2 ปี

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

สาธารณสุขย้ำ รพ.เอกชน ดูแลสตรีมีครรภ์อย่างใกล้ชิดหากพบป่วยโควิด-19 เร่งรักษา-ส่งต่อ ห้ามทิ้งผู้ป่วยหา รพ.เอง ชี้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 4 หมื่น จำคุกไม่เกิน 2 ปี

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดโควิด ส่งผลกระทบต่อสถานพยาบาลให้เกิดข้อจำกัดด้านทรัพยากร ตั้งแต่เตียง ยา และเวชภัณฑ์

ขณะที่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์นับว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง หากติดโควิด เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มคนปกติ และทารกอาจติดเชื้อจากแม่ได้สูง จึงเกิดกระแสความกังวลในกลุ่มประชาชนหญิงตั้งครรภ์ว่าอาจถูกสถานพยาบาลปฏิเสธการรักษา หรือเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก

อธิบดีกรมสนับสนุนสุขภาพย้ำว่า สถานพยาบาลที่ผู้ป่วยฝากครรภ์ไว้ หากพบว่าหญิงตั้งครรภ์ในการดูแลติดเชื้อโควิด ต้องรักษาอย่างทันท่วงที ห้ามปฏิเสธการรักษา

อย่างไรก็ตาม หากมีข้อจำกัดของบุคลากร หรือเตียงจนไม่สามารถให้บริการรักษาพยาบาล/คลอดฉุกเฉินได้ในขณะนั้น

ทาง รพ.จะต้องมีการดูแลจัดการส่งต่อผู้ตั้งครรภ์ไปยังสถานพยาบาลอื่นตามความเหมาะสม ห้ามทอดทิ้งปล่อยให้ผู้ป่วยหาที่รักษาเอง

ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้สถานพยาบาลทำการเบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))

ดังนั้น จึงขอให้หญิงตั้งครรภ์วางใจได้ว่าหากต้องคลอดแล้วพบว่าป่วยด้วยโรคโควิด-19 ก็จะสามารถรับบริการได้จากสถานพยาบาลใกล้บ้านอย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ รพ.เอกชนใดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดก็จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ หากประชาชนประสบปัญหาการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หรือปฏิเสธการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถานพยาบาลเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน กรม สบส. 1426