ศบค. ถกคลายล็อก 26 ส.ค. ประกาศแผนฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์

ศบค. กางไทม์ไลน์ละเอียดยิบ ลั่นฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสสิ้นปีนี้แน่นอน ระบุพื้นที่ภาคอีสาน 4 เขตสุขภาพน่าห่วง พบยอดติดเชื้อรายใหม่ยังพุ่งต่อเนื่อง ห่วงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนน้อยมาก ขณะที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติถึง 2.5 เท่า เผย ศบค.ชุดเล็กนัดถกผ่อนคลายมาตรการ 26 ส.ค.นี้ ก่อนชง ศบค.ชุดใหญ่ 27 ส.ค.

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 18,417 ราย หายป่วยแล้ว 875,589 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,073,505 ราย เสียชีวิตสะสม 9,991 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้หายป่วยแล้ว 903,015 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,102,368 ราย เสียชีวิตสะสม 10,085 ราย

ศบค.แถลง-25 สิงหาฯ

ยอดเสียชีวิตสะสมทะลุหมื่นราย

สำหรับผู้มารับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 400,825 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 175,026 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 9,363 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 24 สิงหาคม 2564 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 28,197,659 โดส

ประเทศไทยวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,417 ราย เป็นตัวเลขที่เราจะเห็นกล่องสีเขียว มีผู้ป่วยหายกลับบ้าน 21,186 ราย เป็นจำนวนที่คนหายป่วยมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ สะท้อนให้เห็นว่าเราจะได้มีเตียงที่รองรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง สีแดงมากขึ้น (ดูกราฟิกประกอบ)

“ยอดผู้เสียชีวิตวันนี้เสียชีวิตเพิ่ม 297 ราย และเป็นวันที่ยอดผู้เสียชีวิตสะสมของประเทศไทยเกินหมื่นราย อยู่ที่ 10,085 ราย ส่วนผู้ที่รักษาตัววันนี้ไม่ถึง 2 แสนราย ตัวเลขอยู่ที่ 189,268 ราย อาการหนัก 5,189 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,096 ราย ซี่งยังสูงอยู่” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

ผู้ติดเชื้อ 25 สิงหาคม

พบผลตรวจ ATK เป็นบวก 1,185 ราย

มีการสอบถามเข้ามาเรื่องตัวเลข ข้อมูล ก็ต้องเน้นย้ำให้เข้าใจว่า ในส่วนของการรายงาน 18,417 ราย เป็นการรายงานด้วยวิธีการตรวจ PCR เป็นการยืนยันการตรวจเป็นผู้ติดเชื้อ

แต่มีอีกส่วนหนึ่งที่มีการรายงานผลตรวจจากชุดตรวจ ATK ในส่วนนี้จะเรียกว่าผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจะแยกตัวเลขกัน และไม่ได้นำมารวมกัน และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน ซึ่งผล ATK ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ในกทม. ซึ่งตัวเลขณวันที่ 24 ส.ค.มีจำนวน 1,185 ราย เฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 2,307 ราย และเฉลี่ย 14 วันย้อนหลังอยู่ที่ 2,697 ราย

ยอดตายผู้สูงอายุ-โรคเรื้อรัง พุ่งไม่หยุด

ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ 297 ราย เป็นชาย 151 ราย หญิง 146 ราย เป็นคนไทย 291 ราย เมียนมา 5 ราย จีน 1 ราย ค่ากลางของอายุอยู่ที่ 68 ปี อยู่ในกทม. 99 ราย อยู่ในจังหวัดปริมณฑลอย่างสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี รวม 74 ราย พื้นที่ภาคใต้อย่างที่ปัตตานี พัทลุง ชุมพร นครศรีธรรมราช ยะลา ระนอง สุราษฎร์ธานี รวม 15 ราย ที่เหลือพระจายไปในอีกหลายจังหวัด (ตามตาราง)

ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป 204 ราย เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 67 ราย ทั้งสองกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 92% และมีหญิงตั้งครรภ์ด้วย 1 ราย อยู่ใน กทม. และในจำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้ มีเสียชีวิตที่บ้าน/ระหว่างนำส่ง 2 ราย อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี

ยอดผู้เสียชีวิต 25 สิงหาคม

“สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เรามีเป้าหมายให้ได้รับวัคซีน 5 แสนราย แต่มีผู้รับวัคซีนไปแล้วเพียง 27,519 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.5 แต่เข็มที่สองฉีดเพียง 2,078 ราย คิดเป็น 0.4 % เท่านั้นเอง ซึ่งราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทยก็แสดงความเป็นห่วง เพราะมีอัตราเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงเป็น 2.5 เท่าของคนทั่วไป จึงต้องเร่งระดมให้มีการตรวจและเชิญชวนมารับการฉีดวัคซีน”

ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้ 297 ราย ในส่วนของ กทม.อยู่ที่ 99 ราย ถือเป็นตัวเลขใหญ่ทีเดียว ซึ่งการรายงานผู้เสียชีวิตบางวันจะมีการทบจำนวน ของวันก่อนหน้าซึ่งผู้เสียชีวิตได้เสียชีวิตมาก่อนหน้า 1-2 วัน และมีการนับยอดรวม บางครั้งจะเห็นบางจังหวัดมีการรายงานตัวเลขค่อนข้างสูง หรือโดดขึ้นมาในบางวัน ซึ่งเป็นการตรวจสอบที่ใช้เวลา

“บางรายรายงานซ้ำซ้อน บางรายโรงพยาบาลไม่ทราบว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากโควิด ทำให้ต้องใช้เวลาในการตรวจศพว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิดยืนยันถึงจะรายงานข้อมูลที่ถูกต้องได้ ยินยันว่าไม่มีปกปิดข้อมูล” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด “กาญจนบุรี” ติดโผ

สำหรับ 10 จังหวัดที่มียอดติดเชื้อสูงสุด อันดับหนึ่งยังเป็น กทม. 4,139 ราย รวมยอดสะสม 254,977 ราย รองลงมาเปผ้นสมุทรปราการ 2,237 ราย สมุทรสาคร1,132 ราย ชลบุรี 974 ราย ฉะเชิงเทรา 575 ราย นครปฐม 506 ราย ราชบุรี 498 ราย นครราชสีมา 482 ราย บุรีรัมย์ 445 ราย กาญจนบุรี 392 ราย

ส่วนภาพรวมจำนวนผู้ป่วยใน กทม.และปริมณฑลเทียบกับต่างจังหวัด (71จังหวัด) ยังอยู่ที่ 47%ต่อ 53% ถ้าเปรียบเทียบกับยอดที่ขึ้นไปสูง ๆ ตอนนี้ยอดจะทรงๆตัว ซึ่งอย่างที่เน้นย้ำหลายครั้งพอเราเห็นกราฟปักหัวลง เราก็จะย่อหย่อน สบายใจก็จะทำให้ตัวเลขกลับมาขึ้นได้

ซึ่งตอนนี้ตัวเลขต่างจังหวัดยังสูงกว่า กทม.และปริมณฑลโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ในเขตสุขภาพที่ 7,8,9 และ 10 ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพว่าในภาคอีสานยังมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบวกกันวันละ 300-500 ราย โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากคนที่เดินทางไปจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้ม (ตามกราฟฟิก)

ศบค.ชุดเล็กถกคลายล็อก 26 ส.ค. กางแผนฉีดวันซีน 100 ล้านโดส

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้ (26 ส.ค.) จะมีการประชุมของ ศบค.ชุดเล็ก เวลา 09.00 น.เพื่อจะนำไปสู่การประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันศุกร์ที่ 27 ส.ค. โดยจะมีการทบทวนการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ซึ่งก็จะใช้ข้อมูลหลัก ๆ เหล่านี้ด้วยในการพิจารณาผ่อนคลาย

ต่อข้อซักถามเรื่องการฉีดวัคซีน ซึ่ง ณ ปัจจุบันเพิ่งจะฉีดได้ 28 ล้านโดส แต่เราตั้งเป้าว่าจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ซึ่งเหลือเวลาอีกแค่ 4 เดือน การจัดหาวัคซีน การบริหารจัดการต่าง ๆ ทาง ศบค.คิดว่าจะทันตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวชี้แจงว่า สำหรับนโยบายเรื่องการฉีดวัคซีน ศบค.กำหนดให้ปี 2564 จะมีการฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส โดยใน 100 ล้านโดส คิดตามอัตราส่วนประชากรที่ 50 ล้านคน

“หากคิดคร่าว ๆ อัตราการฉีดจะอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน และจะต้องฉีดให้ได้ 5 แสนโดสต่อวัน ซึ่งหากติดตามอัตราการฉีดของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา เราทำได้เกิน 5 แสนก็ยังเป็นไปตามแผนการจัดการ”

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญ ในการฉีดที่จะสามารถให้ได้ตามแผน จะต้องมีการจัดหาวัคซีนให้ทันกับการฉีดด้วย ซึ่งขอสรุปให้เห็นภาพดังนี้

  • เดือนกันยายนจะเป็นเดือนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่า จากการที่เราเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับคนจำนวนมากตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ซึ่งหลายคนก็จะครบกำหนดการฉีดเข็ม 2 ในช่วงเดือนกันยายน
  • การจัดหาวัคซีนในเดือนสิงหาคมโดยรวม ๆ จะอยู่ที่ 13.8 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นวัคซีนซิโนแวค 6.5 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 5.8 ล้าน ไฟเซอร์จากยอดบริจาคบวกอีก 1.5 ล้าน และรวมซิโนฟาร์มอีก 1 ล้านโดส ซึ่งเดือนสิงหาคมนี้การฉีดเป็นไปตามแผน คือฉีดได้วันละ 5 แสนโดสขึ้น
  • เดือนกันยายนจะมีวัคซีนที่บางส่วนมาถึงแล้ว บางส่วนกำลังทยอยมา รวม ๆ แล้วอยู่ที่ 15 ล้านโดส เป็นวัคซีนซิโนแวค 6 ล้าน แอสตร้าเซนเนก้า 7 ล้านโดส ไฟเซอร์จะมาเพิ่มอีก 2 ล้านโดส
  • เดือนตุลาคม และพฤศจิกายน การจัดสรรวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านโดส โดยวัคซีนซิโนแวคจะมาในเดือนกันยายนอีก 6 ล้าน ตุลาคม อีก 6 ล้าน แอสตร้าฯตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไปหลังจาทที่รัฐบาลเจรจากับแอสตร้าเซนเนก้าที่ให้คำมั่นว่าจะจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทยตั้งแต่กันยายนเป็นต้นไป เดือนละ 7 ล้านโดสเป็นอย่างน้อย ถ้าผลิตได้มากขึ้นจะได้รับการจัดสรรที่มากกว่านี้
  • วัคซีนไฟเซอร์จัดสรรให้ 1.5 ล้านโดสในเดือนสิงหาคม เดือนกันยายน 2 ล้านโดส เดือนตุลาคม 8 ล้านโดส เดือนพฤศจิกายนและธันวาคมมาอีกเดือนละ 10 ล้านโดส

“ในส่วนของผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเสี่ยง ซึ่งหลายท่านไปที่จุดฉีดวัคซีนและอาจจะมีความไม่มั่นใจวัคซีนซิโนแวค อยากจะสะท้อนให้เห็นการรายงานของโรงเรียนแพทย์ว่า การใช้วัคซีนไขว้หรือวัคซีนผสม ฉีดเข็ม 1 ซิโนแวค และอีก 3 สัปดาห์กระตุ้นภูมิด้วยการฉีดแอสตร้าฯเข็ม 2 สามารถทำให้มีภูมิคุ้มกันสูง และสามารถป้องกันและลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ขอให้ท่านมั่นใจเรื่องการจัดสรรวัคซีน ความปลอดภัยที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด และรวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ วัคซีนพอ เข็มพอ การจัดการขนส่งที่เตรียมรับมืออย่างเต็มที่ เพราะกันยายนเข็ม 1 ก็ต้องฉีด เข็มที่ 2 ก็กำลังครบ ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อม” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวในตอนท้าย