“กู๊ดดอกเตอร์” เปิดเกมรุกเทเลเมดิซีนเจาะ B2B

“กู๊ดดอกเตอร์” ประกาศปักธงลุยตลาดเทเลเมดิซีน เปิดแผนเฟสแรก เน้นสร้างรับรู้แบรนด์ในวงกว้าง มุ่งเจาะ B2B ก่อนขยับตัวมาจับ B2C ตั้งเป้าหนึ่งแพทย์ต่อหนึ่งครอบครัวทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อ 3-5 ปี ขยายตัวแรงรับเทรนด์ระยะยาว

คลื่นวิกฤตโควิด-19 สร้างแรงกระเพื่อมผลักดันให้ “เทเลเมดิซีน” ก้าวขึ้นมาเป็นอีก 1 ธุรกิจสำคัญบนเมกะเทรนด์โลกและในประเทศไทย สะท้อนได้จากบรรดาสตาร์ตอัพ ธุรกิจโรงพยาบาล เริ่มทยอยเปิดตัวทำการตลาดอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับ “ผิงอัน กู๊ดดอกเตอร์” เทเลเมดิซีนชั้นนำสัญชาติจีน ที่มีผู้ใช้งานกว่า 200 ล้านราย ได้ร่วมทุนกับ “แกร็บ” เปิดตัวลุยธุรกิจการแพทย์ทางไกลในไทยอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 ภายใต้ชื่อ “กู๊ดดอกเตอร์”

นายสุทธิชัย โชคกิจชัย หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ บริษัท กู๊ดดอกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GDT เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ประชากร 70 ล้านคน ส่วนใหญ่มีความรู้และคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างดี ด้วยอัตราการใช้งานสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ประกอบกับพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองหรือย่านชนบทในไทย ยังมีทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง บริการเทเลเมดิซีนจะเข้ามาตอบโจทย์จุดนี้ และคาดการณ์ว่าภายใน 3-5 ปี ธุรกิจของบริษัทจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในประเทศไทย

นายสุทธิชัยกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันแม้ว่าระบบเทเลเมดิซีนจะเป็นแนวคิดด้านการให้บริการสุขภาพดิจิทัลที่ค่อนข้างใหม่สำหรับในประเทศไทย แต่หากพิจารณาในแง่ของเทรนด์ จะเห็นได้ว่าบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยจำนวนมากให้ความสนใจ ดังนั้น เมื่อบริษัทนำบริการด้านดิจิทัลมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าจะขยายตัวได้ดี

สำหรับการให้บริการของกู๊ดดอกเตอร์ในเฟสแรก จะเริ่มให้บริการในรูปแบบข้อตกลงธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) กับพันธมิตรบริษัทต่าง ๆ ทั้งออนไลน์ผ่านการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับแพทย์ และทางออฟไลน์ผ่านการสนทนาด้วยการพิมพ์โต้ตอบ ซึ่งมีข้อดีในแง่การเก็บข้อมูลการรักษาได้ในระยะยาว เบื้องต้น การทำการตลาดเน้นไปที่การสร้างแคมเปญให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายหลัก B2B ตลอดจนการสร้างการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มองค์กร อาทิ การจัดการสุขภาพของพนักงาน การแพทย์ทางไกลกับการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ตลอดจนการช่วยสนับสนุนระบบสถานะการตรวจโควิดของพนักงานรายคน

ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาด เนื่องจากกู๊ดดอกเตอร์อยู่ในช่วงเริ่มเปิดตัวได้ไม่นาน จึงจะเน้นไปที่การสร้างการรับรู้ผ่านผู้นำในอุตสาหกรรมจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นแกนหลักสำคัญในการรณรงค์ด้านการศึกษา และแพลตฟอร์มการแบ่งปันความรู้ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับประโยชน์ของการแพทย์ทางไกล แก่องค์กรและประชาชนในประเทศไทย ด้วยการริเริ่มอย่างต่อเนื่องเหล่านี้เอง ส่วนหนึ่งจะช่วยกำหนดอนาคตของการให้บริการสุขภาพแบบดิจิทัลในประเทศไทย และสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ไปพร้อม ๆ กัน

“ในเฟสถัดไปหลังจากนี้ประมาณไตรมาสหน้า เมื่อมีการรับรู้แบรนด์พอสมควรแล้ว จะเริ่มเปิดให้บริการในแบบ B2C หรือให้บริการกับผู้บริโภคทั่วไปโดยตรง ตามเป้าหมายหลัก ‘หนึ่งแพทย์ต่อหนึ่งครอบครัวทั่ว SEA’ ซึ่งก็เป็นความมุ่งมั่นที่จะครอบคลุมทุกครอบครัวในประเทศไทยเช่นเดียวกัน เพื่อให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ง่ายขึ้นในราคาประหยัด”


อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทุนในอนาคตยังคงเน้นไปที่การเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแพทย์ดั้งเดิมในสถานพยาบาลต่าง ๆ เมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้น ด้วยการให้การดูแลผ่านช่องทางออนไลน์ ควบคู่กับลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล จัดจ้างแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงานการแพทย์ทางไกลกับกู๊ดดอกเตอร์แบบเต็มเวลามากขึ้น พร้อมกับเพิ่มความรู้ด้านเทคโนโลยีให้แก่ทีมแพทย์ประจำ ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มการฝึกอบรมที่เข้มข้น เพื่อรักษามาตรฐานสูงสุดในการให้บริการการแพทย์ทางไกล