ยักษ์ธุรกิจยา แข่งเดือด วัคซีนถอยไป ยาเม็ดต้านโควิดมาแล้ว

Market move

 

ในขณะที่การแข่งขันพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เริ่มซาลง ล่าสุดวงการยาเริ่มกลับมาฝุ่นตลบอีกครั้ง เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการหลายรายต่างเริ่มทดลองยาต้านไวรัสโรคโควิด-19 แบบเม็ดในระดับการวิจัยทางคลินิก หรือการทดลองในมนุษย์ พร้อมตั้งเป้าวางจำหน่ายทั่วโลกในปี 2565 แบบพร้อมเพรียงกัน หวังชิงตอบโจทย์ความต้องการวิธีการรับมือไวรัสที่ง่าย รวดเร็วและราคาถูกกว่าการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่คาดว่าจะบูมขึ้นในช่วงถัดไปของการระบาด

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นอกจาก “เมอร์ค” (Merck) และ “ริดจ์แบ็ก ไบโอเทราพิวติกส์” (Ridgeback Biotherapeutics) ที่เพิ่งประกาศความสำเร็จในการทดลองเฟส 3 ของยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” (molnupiravir) ว่าสามารถรักษาอาการป่วย และลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ถึง 50%

แม้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการทดลองนี้จะยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ และยังไม่เผยแพร่ต่อสาธารณชน แต่บริษัทเตรียมขออนุญาตองค์กรอาหารและยาของสหรัฐ หรือเอฟดีเอ เพื่อนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงเดินสายการผลิตยาตัวนี้จำนวนมากถึง 10 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 นี้แล้ว

ผู้เล่นรายใหญ่ในวงการยารายอื่น ๆ เช่น “ไฟเซอร์” และ “โรช” (Roche) รวมไปถึงบริษัทยาสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง “ชิโอโนกิ” (Shionogi) และ “ชูไก” (Chugai) ต่างเริ่มการทดลองยาเม็ดต้านไวรัสโรคโควิด-19 ในสูตรของตนเองด้วยเช่นกัน

โดยไฟเซอร์อยู่ระหว่างพัฒนาและทดลองยา 2 สูตร ทั้งแบบเม็ดสำหรับทาน และแบบฉีดทางเส้นเลือดดำ ซึ่งอาศัยการต่อยอดจากโนว์ฮาวการพัฒนายารักษาโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจแบบรุนแรงเฉียบพลัน หรือโรคซาร์ส (SARS) ที่เริ่มระบาดในประเทศจีน เมื่อปี 2545 โดยยาทั้ง 2 ตัวนี้มุ่งใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือปานกลางในระดับที่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นหลัก

คาดว่าข้อมูลการทดลองทางคลินิกจากการทดลองของไฟเซอร์จะได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณชนในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมที่จะถึงนี้ ส่วนตัวยาจะพร้อมใช้งานจริงในช่วงต้นปีหน้า

ด้านบริษัทยาสัญชาติญี่ปุ่นนั้นเลือกโฟกัสการพัฒนายาแบบทานเป็นหลัก โดยชิโอโนกิเริ่มทดลองทางระยะที่ 1 ไปเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา และเตรียมทดลองทางคลินิกแบบกลุ่มใหญ่ก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อให้ทันตามเป้าหมายที่จะนำยาตัวนี้ออกวางจำหน่ายในปี 2565 ไปในทิศทางเดียวกับชูไก บริษัทในเครือของโรช ที่ซื้อสิทธิ์การพัฒนาและทำตลาดยาต้านไวรัสโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่น มาจากบริษัทแม่ ซึ่งตั้งเป้าให้ยาของตนพร้อมวางจำหน่ายทั่วโลกภายในปี 2565 เช่นกัน

ขณะเดียวกัน คาดว่านอกจากญี่ปุ่นจะเป็นผู้พัฒนาและผลิตยาแล้ว ยังจะเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับยารักษาโรคโควิด-19 อีกด้วย เนื่องจากระบบอนุญาตให้ใช้ยาและการรักษาแบบฉุกเฉินโดยไม่ต้องผ่านการรับของหน่วยงานอาหารและยาของญี่ปุ่นนั้น มีฟาสต์แทร็กสำหรับยาและการรักษาที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอื่น ๆ โดยจะใช้เวลาตรวจสอบเพียง 2 เดือน

ดังนั้น หากองค์การอาหารและยาของสหรัฐ หรือเอฟดีเอ อนุญาตให้ใช้ยาต้านไวรัสของเมอร์ค หรือไฟเซอร์ ภายในสิ้นปีนี้ ยาดังกล่าวจะสามารถจำหน่ายและใช้งานภายในญี่ปุ่นตามไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2565

ทั้งนี้ ความต้องการตัวเลือกใหม่ ๆ ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รวดเร็วและราคาจับต้องได้มีอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการรักษาในปัจจุบัน อาทิ แอนติบอดี้ค็อกเทลนั้นมีความเสี่ยงสูง และต้องใช้การให้ทางหลอดเลือดเท่านั้น อีกทั้งยังใช้เวลาค่อนข้างนานมาก เพราะการรับยา 1 รอบต้องใช้เวลาถึง 3-4 ชั่วโมง

ส่วนยาโรนาพรีวี (Ronapreve) ที่พัฒนาโดยบริษัทรีเจเนอรอล ฟาร์มาซูติคัล และโรช นั้นก็มีราคาสูงถึงโดสละ 2,100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7 หมื่นบาทเลยทีเดียว ทำให้การใช้งานเป็นไปอย่างจำกัด แตกต่างจากยาแบบทานอย่างทามิฟลู (Tamiflu) ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับไปทานเองได้ที่บ้าน

นอกจากนี้ ยาต้านไวรัสนั้นทำงานโดยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส จึงมีโอกาสสูงที่จะใช้ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์หลายตัวโดยไม่ต้องพัฒนาเป็นสูตรเฉพาะแบบวัคซีน และยังผลิตได้ง่าย อาศัยเพียงโรงงานและเครื่องจักรผลิตยาที่มีอยู่แล้ว ทำให้มีต้นทุนเพียง 1 ใน 10 ของการผลิตแอนติบอดี้ค็อกเทลเท่านั้น

ดร.ลีอานา เวน อดีตกรรมาธิการสาธารณสุขของรัฐบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า การมียาต้านไวรัสในรูปแบบเม็ด ผู้ป่วยสามารถใช้ได้เองนั้นจะลดภาระของระบบสาธารณสุขลงได้อย่างมหาศาล

การเร่งพัฒนายาต้านไวรัสแบบเม็ดนี้น่าจะทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้รวดเร็วขึ้น พร้อมสร้างความคึกคักให้กับวงการยาไปด้วย