ไมเนอร์ ส่งจดหมายถึง ผู้ว่าฯ กทม. เสนอเริ่มขายแอลกอฮอล์ 1 พ.ย.

ผู้ว่าฯ อัศวิน

“ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ส่งจดหมายถึง ผู้ว่าฯ กทม. ยื่นเสนอเริ่มขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 พ.ย. รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรม เช่น อนันตรา, อวานี ฯลฯ และร้านอาหาร อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, บอนชอน และอื่น ๆ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกลงนามโดย นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการบริษัท ถึง พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอให้ยกเลิกข้อจำกัดในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้นักท่องเที่ยว ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เพื่อรองรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นายวิลเลี่ยม ให้เหตุผลว่า การดื่มแอลกอฮอล์มีบทบาทสำคัญที่ช่วยสร้างความพึงพอใจและประสบการณ์ที่รื่นรมย์ในการมาเยือนของทั้งนักเดินทางเพื่อธุรกิจและนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันการจำหน่ายแอลกอฮอล์ยังคิดเป็นสัดส่วนที่สำคัญของรายได้ในร้านอาหารและโรงแรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ของธุรกิจและพนักงานโดยรวมทั่วประเทศ

พร้อมข้อเสนอแนะว่า หากไม่สามารถยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมดได้ ขอให้พิจารณายกเลิกข้อจำกัดเฉพาะในสถานประกอบการที่ให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย หรืออย่างน้อยที่สุด ธุรกิจที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานความปลอดภัยและสุขภาพ (SHA+)

สำหรับเนื้อความโดยละเอียดของจดหมายฉบับดังกล่าว มีดังนี้

พวกเรา บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ขอแสดงความชื่นชมท่านและทีมงานของท่านถึงความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราตั้งตารอมาตรการที่จะจำกัดและลดอัตราการติดเชื้อไวรัสนี้ และความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา

เราสนับสนุนและชื่นชมให้กับความพยายามทั้งหมดในการทำให้ประเทศของเรากลับสู่ภาวะปกติก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ดังนั้น ผมจึงตั้งใจเขียนจดหมายถึงท่านเพื่อวิงวอนขอให้มีการเริ่มจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบขายปลีกให้กับนักท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเร็วขึ้นเพื่อรองรับการเปิดประเทศ

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เราจึงเข้าใจถึงความคาดหวังและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นอย่างดี

สำหรับทั้งนักเดินทางเพื่อธุรกิจและนักท่องเที่ยว การดื่มแอลกอฮอล์มีบทบาทสำคัญที่ช่วยสร้างความพึงพอใจและประสบการณ์ที่รื่นรมย์ในการมาเยือนของพวกเขา อีกทั้งรายได้จากการจำหน่ายแอลกอฮอล์ยังคิดเป็นสัดส่วนที่สำคัญของรายได้ในร้านอาหารและโรงแรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ของธุรกิจโดยรวมในประเทศไทยและพนักงานนับล้านคนที่ธุรกิจเหล่านั้นว่าจ้าง

อย่างไรก็ตาม ผมตระหนักดีว่าทางภาครัฐอาจมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ออัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เราควรที่จะแยกแยะถึงความแตกต่างของสภาวะและสภาพแวดล้อมของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารและโรงแรมที่เป็นสัดเป็นส่วนและมีมาตรการสุขอนามัยที่ดี ส่วนใหญ่จะมีความรับผิดชอบ แตกต่างจากสภาพแวดล้อมที่มีความแออัดภายในสถานบันเทิง เช่น บาร์ ผับ คลับ ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงใคร่ขอให้ยกเลิกข้อจำกัดในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมดได้ ผมใคร่ขอให้พิจารณายกเลิกข้อจำกัดเฉพาะในสถานประกอบการที่ให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย หรืออย่างน้อยที่สุด ธุรกิจที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานความปลอดภัยและสุขภาพ (SHA+) ควรได้รับอนุญาตให้กลับมาให้บริการลูกค้าด้วยบริการที่ครบวงจรตามความต้องการของลูกค้าตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป

ผมยังเชื่อด้วยว่าเราควรมีการดำเนินการเพื่อปกป้องสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และสมุย จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเราควรเพิ่มความพยายามในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับทุกคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ในทำนองเดียวกัน นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่น ๆ เข้ากรุงเทพมหานครหรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย ควรแสดงผลการตรวจโควิด-19 ที่เป็นลบจากการตรวจแบบ PCR/ATK ซึ่งการทดสอบดังกล่าวจะสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติถึงมาตรการการป้องกันโควิด-19 ที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และก่อให้เกิดการป้องกันสำหรับประชาชนชาวไทยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอย่างเต็มความสามารถ

พวกเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงการธุรกิจต่างกระตือรือร้นที่จะให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ผมขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับการพิจารณาของท่านในเรื่องนี้ หากท่านมีคำถามหรือข้อกังวลอื่นใด เราหวังว่าจะมีโอกาสได้หารือในรายละเอียดกับท่านต่อไป