เชนดังแห่พึ่งหุ่นยนต์ช่วยเสิร์ฟ “สุกี้ตี๋น้อย-อากะ” ทุ่มแก้ปมแรงงานขาด

หุ่นยนต์ช่วยเสิร์ฟ

ร้านอาหารเร่งพลิกเกมรับปัญหาทราฟฟิกดีดกลับ แต่พนักงานขาดแคลน หวั่นเสียโอกาสการขาย “สุกี้ตี๋น้อย-อากะ-ซิซซ์เล่อร์” ลงทุนนำหุ่นยนต์มาช่วยเสิร์ฟอาหาร หวังตอบโจทย์เพิ่มความเร็วบริการ ช่วยเพิ่มความคล่องตัว ลดหน้าที่ของพนักงาน สร้างสีสันให้แบรนด์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตของไวรัสโควิด-19 ตลอดจนมาตรการรัฐที่ให้ปิดร้านอาหารชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ บางส่วนเกิดการเลิกจ้างพนักงานชั่วคราว แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการได้ ต้องเจอปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้เชนร้านอาหารที่มีสายป่านยาวเริ่มนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเสิร์ฟอาหาร อีกทั้งจะช่วยเพิ่มสีสันและประสบการณ์ในร้าน

ทราฟฟิกเพิ่ม-พนักงานขาด

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น อากะ ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง, มุฉะข้าวหน้าล้น, อาหารตามสั่งเขียง ฯลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังการผ่อนปรนมาตรการและอนุญาตให้ธุรกิจร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งหนึ่ง

ถึงตอนนี้แม้ว่าในภาพรวมแง่ของทราฟฟิกร้านอาหารจะกลับมา 80-90% แต่ปัญหาที่พบคือ การขาดพนักงานเนื่องจากพนักงานไม่กลับมา หากสังเกตจะพบว่าร้านอาหารขนาดใหญ่บางแห่งต้องเปิดให้บริการเพียงครึ่งเดียว ไม่ใช่ไม่มีลูกค้า แต่พนักงานไม่พอ เพราะช่วงโควิดพนักงานกลับไปอยู่บ้านในต่างจังหวัด แต่เมื่อร้านเปิดก็ไม่ได้กลับมาทำงาน โดยเฉพาะร้านอาหารรายเล็ก ๆ จะเจอปัญหานี้

สำหรับร้านอาหารในเครือเซ็น คอร์ปอเรชั่น ที่มีหลายแบรนด์ หลายสาขา รวมถึงเชนร้านอาหารรายใหญ่อื่น ๆ ก็เจอปัญหาในลักษณะเดียวกัน และพยายามแก้ปัญหาด้วยการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนพนักงาน เช่น แบรนด์ที่เปิดในอาคารสำนักงาน พอถึงช่วงเสาร์-อาทิตย์ลูกค้าเข้ามาใช้บริการไม่มากนัก ก็จะโยกพนักงานไปช่วยสาขาที่เปิดในห้างที่ต้องการใช้พนักงานมาก รวมถึงการจ้างพนักงานพาร์ตไทม์เข้ามาเสริมในวันที่ทราฟฟิกมาก เช่น ศุกร์, เสาร์ และอาทิตย์

หุ่นยนต์ช่วยเสิร์ฟ

ทุ่มใช้หุ่นยนต์ช่วยเสิร์ฟ

นายบุญยงกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ต้นปี 2565 บริษัทเตรียมจะนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในร้าน เบื้องต้นจะเริ่มทดลองนำมาใช้ในร้านอากะ 4-5 สาขา โดยหุ่นยนต์นี้จะสามารถรับออร์เดอร์ (ผ่านหน้าจอสัมผัส) และเสิร์ฟอาหารแทนพนักงาน แม้ว่าการใช้หุ่นยนต์จะไม่สามารถทดแทนแรงงานคนได้ 100% แต่ก็จะช่วยให้บริการมีความคล่องตัวและลดภาระของพนักงานลงได้ระดับหนึ่ง และการนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเสิร์ฟอาหารก็จะช่วยสร้างความแตกต่างและสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า

นางสาวนัทธมน พิศาลกิจวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของร้านอาหารสุกี้ตี๋น้อย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานค่อนข้างมาก เนื่องจากในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ร้านต้องปิดให้บริการนั่งทานชั่วคราวตามมาตรการรัฐ ซึ่งพนักงานบางส่วนกลับไปอยู่ต่างจังหวัด แต่หลังจากร้านกลับมาเปิดให้บริการ มีพนักงานจำนวนหนึ่งไม่กลับมาทำงาน

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้บริษัทจึงนำหุ่นยนต์มาช่วยเสิร์ฟอาหารในร้าน เริ่มทดลองที่สาขารัตนาธิเบศร์เป็นที่แรก แม้หุ่นยนต์ไม่สามารถทดแทนพนักงานได้ 100% แต่สามารถช่วยเสิร์ฟอาหารจากครัวไปโต๊ะลูกค้าได้เร็วขึ้น และช่วยให้พนักงานกระจายไปทำหน้าที่หรือให้บริการอื่น ๆ ในการดูแลลูกค้าได้มากขึ้น เช่น เติมน้ำจิ้ม เติมน้ำซุป ทำความสะอาดโต๊ะ หรือเช็กบิล นอกจากนี้ ยังมีแผนจะทยอยนำหุ่นยนต์อีกประมาณ 10 ตัวไปให้บริการตามสาขาต่าง ๆ เพิ่มอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีทั้งหมด 18 สาขา

นางนงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด ในเครือเดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการร้านอาหารภายใต้แบรนด์ซิซซ์เล่อร์ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ซิซซ์เล่อร์เองก็เจอปัญหาแรงงานหรือพนักงานขาดบ้างเช่นกัน แต่เนื่องจากบริษัทมีแบรนด์ร้านอาหารในพอร์ตโฟลิโอหลายแบรนด์ จึงสามารถที่จะดึงหรือโยกพนักงานมาใช้ร่วมกันได้ และการนำหุ่นยนต์มาให้บริการก็เป็นอีกหนึ่งทางออกของร้านอาหารที่มียอดขายสูง ๆ เพื่อช่วยเซอร์วิสให้เร็วขึ้น

ก่อนหน้านี้ซิซซ์เล่อร์ได้เปิดตัวหุ่นยนต์เข้ามาให้บริการ โดยทำหน้าที่ต้อนรับพาลูกค้าไปที่โต๊ะ เสิร์ฟอาหาร และเก็บจาน เพื่อให้สอดรับกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งขณะนี้ซิซซ์เล่อร์มีหุ่นยนต์ให้บริการอยู่ตามสาขาต่าง ๆ ประมาณ 20 สาขา (สาขาละ 2 ตัว) ส่วนใหญ่เป็นสาขาที่มีทราฟฟิกสูงในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

เป้าหมายสำคัญของการนำหุ่นยนต์มาใช้หลัก ๆ ก็คือ เพื่อช่วยให้บริการมีความรวดเร็วขึ้น ไม่ได้เอามาเพื่อลดจำนวนพนักงาน และเป็นการตอบโจทย์ที่เป็นเฮฟวี่ยูส เช่น ยกเมนูที่เป็นของหนัก การเติมสลัดบาร์ จากเดิมพนักงานจะถือได้ 1-2 จาน ถ้าหากเป็นหุ่นยนต์จะสามารถถือไปได้ 4-5 ชุด และอีกด้านหนึ่งก็เป็นกิมมิกและสร้างสีสันให้กับลูกค้า

ร้านดังแห่ใช้หุ่นยนต์นำร่อง

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาพรวมของร้านอาหารเริ่มมีทราฟฟิกและยอดขายเริ่มกลับมา แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่าร้านอาหารจำนวนมากที่เจอปัญหาพนักงานไม่พอ โดยเฉพาะร้านเล็กที่ใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่มีการแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการเข้าจูงใจให้คนเข้ามาสมัครงาน

ส่วนร้านอาหารรายใหญ่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้เสิร์ฟเพื่อชดเชยหรือแทนแรงงานที่ขาด ส่วนใหญ่เป็นเชนร้านอาหารขนาดใหญ่ ๆ ที่มีลูกค้าจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญและต้องการใช้แรงงานคนมากกว่าหุ่นยนต์ เนื่องจากสามารถสื่อสารกันได้ง่ายกว่าและมีต้นทุนที่ต่ำกว่าหุ่นยนต์ แต่อีกด้านหุ่นยนต์ช่วยสร้างสีสันให้แบรนด์เป็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้มีร้านอาหารหลาย ๆ ค่ายที่ได้เริ่มทดลองนำหุ่นยนต์เข้ามาให้บริการตามสาขาต่าง ๆ อาทิ เอ็มเค สุกี้ ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมมือกับบริษัท CT ASIA บริษัทพัฒนาระบบซอฟต์แวร์คอลเซ็นเตอร์ของคนไทย ผลิตหุ่นยนต์มาทำงานร่วมกันกับพนักงาน โดยช่วงแรกนำหุ่นยนต์มาใช้ 10 ตัว หมุนเวียนไปตามสาขาต่าง ๆ โดยทำหน้าที่หลากหลายตั้งแต่การต้อนรับ รับออร์เดอร์ ส่งหรือเสิร์ฟอาหาร อีกทั้งยังสร้างกิมมิกพิเศษด้วยการร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ทเดย์อวยพรให้ลูกค้า

เช่นเดียวกับร้านกาแฟ “แบล็คแคนยอน” ที่นำหุ่นยนต์มาทดลองเสิร์ฟอาหารที่สาขาเซ็นทรัล พระราม 9 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพก่อนนำเข้ามาให้บริการเต็มรูปแบบ ตามด้วยร้านอาหารพระราม 9 ไก่ย่าง ที่ได้นำหุ่นยนต์มาบริการส่งอาหารเช่นกัน และเริ่มทยอยขยายบริการนี้ไปยังสาขาต่าง ๆ ทั้ง 7 สาขา และร้าน Maria garden Restaurant (ถนนราชพฤกษ์) ที่นำหุ่นยนต์มาให้บริการ 2 ตัวในการเข้ามาช่วยส่งและเสิร์ฟอาหาร