ไทยเข้าสู่โควิดระลอก 5 ยกระดับกักตัวที่บ้าน ATK บวก โทรด่วนใน 6 ชม.

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

สธ. เผยไทยเข้าสู่โควิดระลอก 5 สั่งตั้งศูนย์ประสานงานเฉพาะพื้นที่-ยกระดับการรักษาระบบกักตัวที่บ้านและชุมชน รองรับผู้ติดเชื้อพุ่ง แนะตรวจ ATK ผลบวก โทรสายด่วน สปสช. 1330 เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับภายใน 6 ชม.

วันที่ 5 มกราคม 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดโควิดของไทยเข้าสู่ระลอกที่ 5 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนแผนการรองรับการรักษาทั่วประเทศมีเตียงอยู่ราว 5.2 หมื่นเตียง เฉพาะพื้นที่ กทม. และปริมณฑลมีเตียงว่างถึง 2.5 หมื่นเตียง

อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปตามการจำลองฉากทัศน์การติดเชื้อโควิดสูงสุดจะอยู่ที่ราววันละ 3 หมื่นราย ทางกรมการแพทย์จะมีเตียงเพียงพอสำหรับการรับมือ ทำให้ขณะนี้แนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดจะเน้นไปที่ระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation : HI) และระบบรักษาตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) เป็นการรักษาในด่านแรก ทว่าหากอาการหนักจะมีการส่งต่อเข้าโรงพยาบาลที่มีเตียงรองรับต่อไป

“สำหรับการรับมือโควิดระลอกที่ 5 นี้ จะเน้นการรักษาที่บ้าน (HI) และรักษาในชุมชน (CI) เป็นการรักษาอันดับแรก เรียกว่า HI และ CI first วันนี้ (5 ม.ค.) มีผู้ติดเชื้อในระบบ 3,899 ราย และผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK อีกกว่า 3,000 ราย รวมทั้งสิ้น 7,000 ราย ซึ่งหากพบผลตรวจ ATK เป็นบวกให้โทรสายด่วยโควิดของ สปสช. เบอร์ 1330 ภายใน 6 ชม. จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น ถ้าอารไม่หนักจะเข้าสู่ระบบ HI หรือ CI สำหรับคนที่กักตัวที่บ้านไม่ได้ หากอาการหนักให้โทร 1669 เพื่อรักษาต่อใน รพ.”

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ประเมินไว้ว่าในรอบนี้การระบาดในเด็กจะมีสูงขึ้น เนื่องจากเด็กยังไม่ได้รับวัคซีน แต่อาการในเด็กจะไม่รุนแรง หากไม่มีโรคประจำตัว เบื้องต้นประสาน กทม. จัดทำ CI สำหรับเด็กและครอบครัวไว้ทั้งสิ้น 6 โซน โซนละ 1 แห่ง แห่งละ 50 เตียง และ 1 ห้องเด็กอยู่ร่วมกัน 3-4 คน


ควบคู่กับสั่งให้สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชราชินีในการเตรียมยาน้ำฟาวิราเวียร์สำหรับเด็กทั่วประเทศ โดยรพ.แต่ละแห่งสามารถทำได้เอง ไม่ต้องสำรอง พร้อมทั้งจัดหมอเด็กเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย นอกจากนี้ CI สำหรับแรงงานต่างด้าวด้วยโซนละ 1 แห่ง แห่งละประมาณ 100 เตียง