“แอร์” แตะเบรกสงครามราคา พิษต้นทุนพุ่ง-เพิ่มดีกรีเจาะตลาด B2B

ตลาดแอร์เปลี่ยนทิศ คาดร้อนนี้ภาพการแข่งลดราคาจะน้อยลง หลังทุกค่ายมีปัญหาเรื่องต้นทุนพุ่งต่อเนื่อง ทั้ง “ทองแดง อะลูมิเนียม ชิปคอมพิวเตอร์” หันมาจูงใจด้วยการแจก vocher-คูปองส่วนลด-ขยายเวลาการรับประกัน พร้อมเบนเข็มเจาะตลาด B2B เพิ่ม ผลพวงกำลังซื้อมีปัญหา ย้ำโปรฯเงินผ่อน 0% ยังจำเป็น-ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจ

ปีนี้หน้าร้อนที่เป็นไฮซีซั่นของเครื่องปรับอากาศที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้ อาจจะไม่มีภาพของการแข่งขันในเรื่องของการลดราคาให้เห็นไม่มากนัก เมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์ปกติ

ส่วนหนึ่งเนื่องจากปัจจัยในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาทองแดงที่เป็นวัตถุดิบที่สำคัญ เช่นเดียวกับปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ขาดที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย

รวมทั้งราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหลาย ๆ ค่ายเริ่มมีความเคลื่อนไหวในการทุ่มงบฯเพื่อโฆษณาผ่านสื่อทีวี โดยเฉพาะช่วงรายการไพรมไทม์

ลดดีกรีการแข่งขันราคา

นายวีรพล สวรรค์พิทักษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดดิจิทัล บริษัท อีมิแน้นท์แอร์(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ “อีมิเน้นท์”เปิดเผยว่า

ปีนี้ตลาดแอร์บ้านและพาณิชย์ที่มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท อาจมีโอกาสเติบโตได้ถึง 10% เนื่องจากสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลาย ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น

ขณะนี้แบรนด์ต่าง ๆ เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการทำตลาดบ้างแล้ว หลังจากที่ได้เปิดตัวและทยอยกระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางจำหน่ายต่าง ๆ เพื่อรองรับหน้าขายสำคัญที่กำลังจะมาถึง

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาวัตถุดิบสำคัญของแอร์ที่มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายในเร็ววัน ทั้งเหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียมชิปคอมพิวเตอร์

และทำให้สัดส่วนกำไรที่บางอยู่แล้วบางลงไปอีกและเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญ และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ตลาดในปีนี้ โดยเฉพาะด้านการทำโปรโมชั่นที่การลดราคาอาจไม่ใช่ตัวเลือกหลักเหมือนที่ผ่านมา

“คาดว่า การแข่งขันช่วงหน้าขายสำคัญตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป การลดราคาทางอ้อมหรือการจูงใจด้วยปัจจัยที่ไม่ใช่ราคาเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อจะมีให้เห็นมากขึ้น

เช่น การแจก vocher หรือคูปองส่วนลด สำหรับการซื้อสินค้าอื่น การขยายเวลารับประกัน ของแถมต่าง ๆ ฯลฯ รวมไปถึงหันให้น้ำหนักกับกลุ่มลูกค้าองค์กรหรือบีทูบีมากขึ้น” นายวีรพลกล่าวและว่า

สำหรับอีมิแน้นท์แอร์เองตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป จะเริ่มโรดโชว์พร้อมจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการขายกับกลุ่มดีลเลอร์ประมาณ 20 ราย

เพิ่มบริการ-เจาะลูกค้าองค์กร

นายอดิศักดิ์ รัมมณีย์ กรรมการบริหาร บริษัท แคเรียร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้ปีนี้การแข่งขันมีแนวโน้มจะดุเดือดมากขึ้น เนื่องจากแต่ละแบรนด์ต้องพยายามทำยอดขายเพื่อชดเชยกับปี 2564

แต่ในแง่ของการแข่งขันราคาก็อาจไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา เพราะแต่ละรายต่างถูกกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น สำหรับแคเรียร์เองจะเน้นจุดเด่นด้านความทนทาน การขยายเงื่อนไขการรับประกัน มาเป็นจุดขายในการทำการตลาด

เช่น แอร์รุ่นใหม่ คอปเปอร์ 7 และคอปเปอร์ 10 ที่ใช้ทองแดงทั้งในคอยล์ร้อนและเย็น พร้อมเพิ่มเงื่อนไขฟรีค่าแรง สำหรับการเปลี่ยนแผงวงจรอินเวอร์เตอร์และแผงรังผึ้งคอยล์เย็นนาน 3 ปี จากเดิมที่รับประกันคอมเพรสเซอร์สูงสุด 10 ปี และชิ้นส่วนสูงสุด 5 ปี

แหล่งข่าวจากวงการแอร์อีกรายหนึ่งกล่าวในเรื่องนี้เสริมว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกำลังซื้อในภาพรวมยังมีปัญหา ดังนั้น การจัดโปรโมชั่นด้วยระบบเงินผ่อน 0% จะยังมีให้เห็นอยู่

และจะยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน หลาย ๆ ค่ายก็จะเน้นการทำการตลาดหรือเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นบีทูบี หรือองค์กรภาครัฐมากขึ้น

นายชินจิ คามิยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด ผู้จำหน่ายแอร์มิตซูบิชิ เปิดเผยว่า ปีนี้ (เมษายน 2565-มีนาคม 2566) บริษัทจะทุ่มงบฯกว่า 1.1 พันล้านบาท

เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยนอกจากสินค้าใหม่ที่เน้นประหยัดไฟและฟังก์ชั่นการฟอกอากาศแล้ว ยังมุ่งเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า เช่น ขยายบริการซ่อมแอร์ด่วนใน 24 ชั่วโมงในเขต กทม.-ปริมณฑล และให้ครอบคลุมสินค้าตู้เย็น พัดลม และปั๊มน้ำ

รวมถึงลดระยะเวลารอซ่อม พร้อมขยายฐานลูกค้าองค์กร อาทิ โรงแรมและร้านค้าในต่างจังหวัด โดยเตรียมขยายสาขาสำนักงานสนับสนุนลูกค้าโครงการระบบปรับอากาศซิตี้มัลติ ที่มี 6 สาขา เพิ่มเป็น 8 สาขาภายในปี 2568 และตามเป้าจะเพิ่มสัดส่วนการขายในกลุ่มบีทูบีให้อยู่ที่ 30% ของยอดขายรวม

ไปในทิศทางเดียวกับแอลจี ซึ่งปีนี้มุ่งทำตลาดทั้งแอร์บ้านและแอร์พาณิชย์ โดยนายอำนาจ สิงหจันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจีอีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นว่า ตลาดยังมีดีมานด์ที่อั้นอยู่ สะท้อนจากยอดขายที่เร่มเติบโตตั้งแต่ปลายปี 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมกราคม 2565

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวจะกลับมาลงทุนช่วงต้นไตรมาส 3 ทำให้มีความต้องการสินค้า ปีนี้บริษัทจึงเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ทั้งแอร์บ้านรุ่นใหม่ 6 รุ่น และแอร์พาณิชย์หลายโมเดลทั้งแบบฝังฝ้า แขวนใต้ฝ้าและตู้ตั้งพื้น

เพื่อตอบโจทย์หลากหลายธุรกิจทั้งร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรมและอื่น ๆ เน้นฟังก์ชั่นสุขภาพ อาทิฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี กรองฝุ่น ฯลฯ เป็นจุดขายหลักร่วมกับดีไซน์และการประหยัดพลังงาน

ตามเป้าสร้างโพซิชั่นแบรนด์แอร์เพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่ยังไม่มีคู่แข่งชัดเจน รวมถึงเริ่มนำแอร์พาณิชย์เข้าไปจัดแสดงและจำหน่ายในร้านดีลเลอร์ที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสขายกับกลุ่มลูกค้าครัวเรือนอีกด้วย

ขณะที่นายฉัตรชัย เตชะพานิช ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มเครื่องปรับอากาศ บริษัท พานาโซนิค เอ.พี.เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันฟังก์ชั่นฟอกอากาศกลายเป็นจุดขายสำคัญของตลาดแอร์

สะท้อนจากตัวเลขยอดขายแอร์ที่มีฟังก์ชั่นการฟอกอากาศยังสามารถเติบโตได้ดีและสวนทางกับภาพรวมของตลาดในปี 2564 ที่ผ่านมา โดยพานาโซนิคเองก็จะรับเทรนด์ดังกล่าวด้วยการต่อยอดเทคโนโลยีฟอกอากาศนาโนอี-เอ็กซ์

ด้วยการเปิดตัวแอร์รุ่นใหม่พร้อมเทคโนโลยีนาโนอี-2 ที่อัพเกรดให้กำจัดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และกลิ่นได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับหน้าขายสำคัญ ปีนี้บริษัทจะมีแอร์ทั้งแบบฟิกซ์สปีดและอินเวอร์เตอร์ที่มีฟังก์ชั่นฟอกอากาศ ทำตลาดรวม 12 รุ่น

จับตาเมษาฯราคาใหม่ยกแผง

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเครื่องใช้ไฟฟ้ารายหนึ่งเปิดเผยว่า จากภาพรวมของภาวะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ค่ายเครื่องปรับอากาศหลาย ๆ ค่าย ได้เริ่มทยอยปรับราคาแอร์บางรุ่นขึ้นไปบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้สินค้าในตลาดอาจจะเป็นราคาใหม่ทั้งหมด

สอดคล้องกับแหล่งข่าวอีกรายที่ระบุว่า ตั้งแต่มิถุนายนปี 2564 ที่ผ่านมา เครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยมีการปรับขึ้นราคาแล้วหลายระลอกทั้งในรูปแบบลดความแรงและความถี่ของโปรโมชั่นลง

จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่า ขณะนี้ค่ายแอร์ต่าง ๆ ยังไม่ได้ลอนช์โปรโมชั่นใหม่ออกมารอบรับหน้าขายที่กำลังจะมาถึงในช่วงหน้าร้อนนี้ และคาดว่าจะได้เริ่มเห็นแคมเปญโปรโมชั่นตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป

ซึ่งขณะนี้หลาย ๆ ค่ายได้เริ่มทยอยออนแอร์โฆษณาผ่านสื่อบ้างแล้ว โดยเฉพาะทีวี อาทิ ไดกิ้น แคเรียร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ จากการสังเกตพบว่า การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายแอร์ของร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าและร้านแอร์ต่าง ๆ ที่มีในขณะนี้ ส่วนใหญ่มีกำหนดสิ้นสุดในช่วงกลาง-ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ และส่วนใหญ่ยังเป็นการลดราคา


อาทิ เพาเวอร์บาย จัดโปรฯลดราคาแอร์ เช่น ซัมซุงอินเวอร์เตอร์ ขนาด 1.7 หมื่นบีทียู จาก 2.99 หมื่นบาท เหลือ 1.79 หมื่นบาท ถึง 15 กุมภาพันธ์ ส่วนเพาเวอร์มอลล์ จัดแคมเปญลดราคา อาทิ แอร์ไดกิ้น ขนาด 1.7 หมื่นบีทียู จาก 4.55 หมื่นบาท เหลือ 4.28 หมื่นบาท ถึง 20 กุมภาพันธ์ เป็นต้น