แม่ทัพใหญ่ “มาม่า” ลุย New Business Model ย้ำยังไม่ขึ้นราคาสินค้า

“มาม่า” เคลื่อนทัพธุรกิจ ครบรอบ 50 ปี ประกาศลุย New Business Model เดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจไทย-เทศ พัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ จับมือพันธมิตร รักษาตำแหน่งเจ้าตลาด ก่อนย้ำไม่ปรับขึ้นราคาแน่นอน หลังต้นทุนพุ่งสูง

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตรา “มาม่า” กล่าวถึงการขับเคลื่อนธุรกิจจากอดีตจนถึงปัจจุบันดำเนินงานมาครบรอบ 50 ปี แม้ต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ ทั้งต้มยำกุ้งในปี 2540 และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทมีการปรับตัวมาต่อเนื่อง

โดยมี บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายในประเทศเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจ ทำให้ผลิตภัณฑ์มาม่าเติบโตขึ้น จากการนำนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยวันนี้ กลุ่มสินค้ามาม่ามีมากกว่า 40-50 รายการ

“50 ปี มาม่า ขึ้นราคา จาก 2 บาท จนถึงราคา 6 บาท ปัจจุบันยังไม่มีการปรับขึ้นราคา ยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ แม้ราคาต้นทุนวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะ แป้งสาลี ปรับขึ้นจากถุงละ 200-300 เป็น 430 บาท ส่วนน้ำมันปาล์ม ปรับขึ้นจากปี’62 จากราคากิโลกรัมละ 19 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 50 บาท รวมไปถึงต้นทุนแรงงาน โดยปัจจุบันต้นทุนผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่ประมาณ 60-70% ของต้นทุนทั้งหมด ดังนั้นเราต้องหันมาบริหารจัดการภายในแทน”

สำหรับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจในรูปแบบใหม่ New Business Model ภายใต้การดำเนินงานของผู้บริหารและพนักงานยุคใหม่ เพื่อก้าวสู่ฟู้ด อินโนเวชั่นเต็มรูปแบบ และยังคงให้ความสำคัญทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ผ่านช่องทางต่างๆ ที่หลากหลาย ควบคู่กับการจับมือกับพันธมิตรต่างๆเพื่อพัฒนาธุรกิจที่มากกว่าอาหารกึ่งสำเร็จรูป โดยได้มีการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อขยายตลาดไปยังกลุ่มสุขภาพมากขึ้น

ด้านนายเพชร พะเนียงเวทย์ กรรมการบริษัท และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด 2 บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษา บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานตลาดในประเทศ มาม่า ต้องมีจุดแข็ง ประกอบด้วย อร่อย, ปลอดภัย,สะดวก,เก็บได้นาน,ประหยัด,เพิ่มความคุ้มค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยธุรกิจขับเคลื่อนจากผู้ผลิตสู่ผู้กระจายสินค้า

โดยมีสหพัฒน์ดูแลเรื่องการขาย การตลาดทุกอย่างยังแบ่งเป็นเทรดิชั่นนอลเทรด และโมเดิร์นเทรด รวมถึงการเพิ่มน้ำหนักขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ปัจจุบันมาม่าได้เข้าไปเปิดช็อปขายในทุกๆช่องทาง

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันเทรนด์ตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในไทย มีอัตราการบริโภคอันดับที่9ขอบโลก หรือประมาณ 3,700 ต่อปี ซึ่งในประเทศโตได้ช้า เนื่องจากผลกระทบโควิด และสถานการณ์ตลาดปัจจุบันต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว

ล่าสุดได้ลอนซ์ มาม่าชุดเซต Mama Limited Edition 50 th Anniversary ฉลองครบรอบ 50 ปี มาม่า 3 รสชาติ ได้แก่ มาม่าบะหมี่หยกแห้งเป็ดย่าง ,มาม่าเส้นโฮลวีตรสหมูพริกไทยดำ และมาม่าข้าวซอยไก่ 6 ซอง 60 บาท โดยเป็นสินค้าลิมิเต็ดอิดิชั่น จำหน่ายระยะสั้นเท่านั้น

อีกทั้งปัจจุบันภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตัวเลขการเติบโตลดลง ตลาดแมสจะโตช้ากว่ากลุ่มพรีเมียม โดยมาม่าถือส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50%

นางสาวพจนา พะเนียงเวทย์ กรรมบริษัทและกรรมการธรรมาภิบาลและบริหารความเสี่ยง บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อถึงตลาดต่างประเทศ ที่ผ่านมาบริษัททำตลาดไป 68 ประเทศทั่วโลก

โดยมีผลิตภัณฑ์มาม่าเป็นแบรนด์หลัก โดยมีทั้งส่งออกจากโรงงานในไทย และส่งจากโรงงานในต่างประเทศ 4 แห่ง สินค้าแบ่งเป็น 3 ส่วน อาทิ สินค้าแมส ,พรีเมียมและไฮแวลู่ โดยมีเป้าหมายทำตลาดมากกว่า Beyond Export นั้นคือ Global Market ซึ่งจะเน้นการทำตลาดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพรีเมียมและไฮแวลู่มากขึ้น

รวมไปถึงการปรับดีไซน์และขนาดแพคเกจจิ้งให้เหมาะกับตลาดในแต่ละประเทศมากขึ้น รวมไปถึงเน้นช่องทางการทำตลาด จัดโปรโมชั่นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ร่วมกับคู่ค้า

อีกทั้งในอนาคตยังมีแนวโน้มขยายการลงทุนเพิ่มในต่างประเทศ ทั้งการฐานการผลิต โดยเบื้องต้นจะขยายที่แอฟริกา ที่ปกติจะต้องเสียภาษีนำเข้า 25% ถ้าไปตั้งโรงงานผลิตจะได้ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งปัจจุบันโรงงานผลิตมาม่าในต่างประเทศ ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ฮังการี และบังกลาเทศ

ในปี 2565 ภาพรวมยอดขายแบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30% และตลาดส่งออกต่างประเทศ มีรายได้ 5,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น ส่วนในประเทศชะลอตัวเพราะโควิด โดยจากนี้มีเป้าหมายต้องการบาลานซ์สัดส่วนรายได้ทั้งต่างประเทศและในประเทศให้ได้ 50:50 ภายในระยะเวลา 5 ปี