เหล้าเบียร์ขึ้นราคายกแผง มีนาคม “คอทองแดง” กระอัก

เบียร์

ถึงคิวคอทองแดงร้องจ๊าก “เหล้า-เบียร์” จ่อขยับราคายกแผง คาดดีเดย์ต้นมีนาฯ อ้างสุดทนเหตุต้นทุนพุ่ง สุดอั้นแบกภาระ “ขวด-กระป๋อง-โลจิสติกส์” ไม่ไหว ค่ายยักษ์ไทยเบฟฯส่งเหล้าขาวกรุยทาง คาดเหล้าสีตามมาอีกในไม่ช้า “ไฮเนเก้น-สิงห์-ลีโอ” จ่อขยับตาม ยี่ปั๊วซาปั๊วเร่งสต๊อกจ้าละหวั่น โรงงานผลิตไม่ทัน

ถึงวันนี้ ดูเหมือนว่าภาพของการปรับขึ้นราคาสินค้าต่าง ๆ จะมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง จากสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารการกิน ของใช้ในชีวิตประจำวัน ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน สแน็ก ลูกอม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และยังลามไปถึงอาหารสัตว์ “หมา-แมว” ล่าสุดเป็นคิวของเหล้าเบียร์ ที่กำลังจะทยอยขึ้นราคาชนิดยกแผง โดยคาดว่าจะเริ่มมีผลตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป

เหล้าขาวขึ้นราคากรุยทาง

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทผู้ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ภาคอีสานเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสุรารายใหญ่ได้เริ่มทยอยแจ้งการปรับขึ้นราคาสินค้าไปยังคู่ค้ารายต่าง ๆ โดยเริ่มจากกลุ่มสุราขาว โดยในส่วนของสุราขาวขวดเล็กปรับขึ้นอีก 120 บาท/ลัง (24 ขวด) จากเดิมประมาณ 1,242 บาท โดยราคาใหม่นี้จะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป ส่วนสุราขาวขวดใหญ่ปรับขึ้นอีกลังละ 54 บาท/ลัง (12 ขวด) จากเดิมที่ราคาอยู่ที่ระดับ 1,158 บาท ซึ่งมีผลตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หลังจากเหล้าเบียร์ขึ้นราคาแล้ว ส่วนราคาปลายทางถึงผู้บริโภคจะปรับขึ้นเป็นเท่าไหร่ ตอนนี้อาจจะยังไม่ชัดเจน อย่างน้อยที่สุดก็จะปรับตามราคาขายส่งที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางปฏิบัติจริงการขายปลีกปลายทางอาจจะบวกขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เช่น เหล้าขาวราคาขายปลีกต่อขวดอาจจะต้องเพิ่มอีก 6-8 บาท หรือเบียร์อาจจะเพิ่มอีกกระป๋องละ 2-3 บาท

“ขณะนี้ตลาดเริ่มรับรู้การขึ้นราคาเหล้าขาวแล้ว และคาดว่าอีกไม่นาน เหล้าสีและเบียร์ก็คงจะมีการปรับขึ้นราคาตามมา เพราะปกติตลาดเหล้าเบียร์ก็จะเป็นเช่นนี้ เมื่อเหล้าขาวขึ้นราคา เหล้าสี-เบียร์ก็จะขึ้นราคาตามมาในไม่ช้าตอนนี้ในตลาดเกิดความปั่นป่วนในระดับหนึ่ง เนื่องจากมียี่ปั๊วซาปั๊วหลาย ๆ รายที่เริ่มทยอยสั่งสินค้ามาสต๊อกไว้ บางรายก็เริ่มปรับขึ้นราคาสินค้าที่มีอยู่เล็ก ๆ น้อย ๆขณะที่โรงงานบางโรงก็จะมีการกำหนดเพดานการซื้อ และจะรับออร์เดอร์โดยพิจารณาจากประวัติการสั่งซื้อและยอดขายประกอบ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เก็งกำไรกันมากนัก”

เช่นเดียวกับร้านค้าส่งเบียร์รายใหญ่ในจังหวัดปทุมธานีกล่าวในเรื่องนี้ หลังจากที่มีกระแสข่าวการปรับขึ้นราคาเหล้าเบียร์ออกมาเมื่อสัก 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ยอดขายของร้านเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก บางช่วงถึงขนาดไม่มีของขาย โดยเฉพาะเบียร์ลีโอ แม้จะส่งออร์เดอร์ไปแต่โรงงานก็ไม่สามารถผลิตได้ทัน และมีการกำหนดเพดานการซื้อในแต่ละครั้ง

ขณะที่เจ้าของร้านยี่ปั๊วเหล้า-เบียร์รายหนึ่งย่านบางนา กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมากลุ่มสุราขาวได้มีการประกาศปรับราคาขึ้นดังกล่าวแล้ว แต่สำหรับในส่วนสุราสีของค่ายไทยเบฟฯ (แม่โขง แสงโสม หงส์ทอง มังกรทอง) หรือสุราผสม (เบลนด์ 285) ยังไม่ได้มีการแจ้งการปรับราคา

แต่ก็คาดว่าจะมีการแจ้งราคาใหม่มาในเร็ว ๆ นี้ และมีเพียง รีเจนซี่ (บริษัท โรงงานสุราพิเศษสุวรรณภูมิ) ที่ได้ทยอยปรับราคามาเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เฉลี่ย 10 บาทต่อขวด

และล่าสุดได้รับแจ้งจากสายส่งว่าจะมีการปรับขึ้นอีกระลอกในสัปดาห์หน้า ประมาณ 10 บาท ซึ่งจะทำให้ตลอดช่วงเกือบ 1 เดือนนี้ รีเจนซี่มีการปรับขึ้นราคาแล้ว 30 บาท จากปัญหาต้นทุนการขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ส่วนเบียร์ ที่ผ่านมาก็ได้เริ่มมีการปรับราคากันไปบ้างแล้วในอัตราที่ไม่มากนัก เช่น อาชา และช้าง โคลด์ บรูว์ (บริษัทไทยเบฟเวอเรจ) และผู้บริโภคอาจจะไม่ค่อยรับรู้นัก เนื่องจากทั้ง 2 แบรนด์เป็นแบรนด์เล็ก ส่วนช้าง คลาสสิก ยังไม่ขึ้น แต่ก็คาดว่าจะมีการแจ้งปรับราคามาในเร็ว ๆ นี้”

ค่ายเบียร์แจงเหตุต้นทุนพุ่ง

นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัดผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้น, ไทเกอร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาพรวมของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แต่จากปัญหาเรื่องต้นทุนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลก วัตถุดิบต่าง ๆ โดยเฉพาะมอลต์ที่เป็นวัตถุดิบหลักที่ต้องนำเข้า รวมทั้งแพ็กเกจจิ้ง (กระป๋อง) ขวดแก้ว ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องมีการปรับขึ้นราคา อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นประเมินว่าการปรับขึ้นราคาครั้งนี้

แต่ละค่ายอาจจะปรับขึ้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยในเรื่องของต้นทุนและกลยุทธ์การตลาดของแต่ละค่ายเป็นสำคัญ โจทย์หลักของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปีนี้คือ การบริหารจัดการต้นทุนให้ดีที่สุด เพื่อยันราคาสินค้าให้นานที่สุด เพราะหากมีการปรับขึ้นราคามากเกินไปก็จะส่งผลกระทบกับยอดขายตามมาได้

“การปรับขึ้นราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับจากนี้จะเป็นไปในทิศทางอย่างไรต่อไป หรือจะส่งผลกระทบต่อตลาดหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวมองว่ายังเป็นเรื่องที่ยากจะประเมิน เพราะเรื่องของต้นทุนที่ยังไม่นิ่ง

ขณะที่ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อก็ยากที่จะคาดเดา ซึ่งคงต้องรอดูทิศทางอีก 3-6 เดือนข้างหน้าว่าปัจจัยลบต่าง ๆ เหล่านี้จะมีสถานการณ์เป็นเช่นไร ซึ่งหากราคาต้นทุนยังพุ่งสูงในระยะยาว แน่นอนว่าย่อมได้เห็นการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

แหล่งข่าวจากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์ เบียร์ลีโอ กล่าวในเรื่องนี้เพียงสั้น ๆ ว่า ที่ผ่านมามีกระแสข่าวการปรับราคาเบียร์ในตลาดมาอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้สูง คาดการณ์ที่ค่ายเบียร์อาจจะต้องปรับราคาขึ้นบ้าง

เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทุกค่ายประสบกับปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของราคาน้ำมัน ปัญหาการขาดแคลนกระป๋องทั่วโลกที่ทำให้ราคาแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่แต่ละค่ายจะปรับขึ้นราคามากน้อยแค่ไหนนั้นยังไม่มีความชัดเจนนัก แต่คาดว่าน่าจะเป็นต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป

คราฟต์เบียร์ไม่ขึ้นไม่ไหว

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์คราฟต์เบียร์“ไลเกอร์” “อัลเลมองท์” กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รวมถึงค่าขนส่ง (ชิปปิ้ง) ที่ปรับสูงขึ้น 3-4 เท่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบไปทั่วโลก

ทำให้ต้นทุนการนำเข้าพุ่งขึ้นมากกว่า 10% และส่งผลต่อการนำเข้าคราฟต์เบียร์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสินค้าเดิมยังมีอยู่ในสต๊อกจำนวนหนึ่ง ผู้ประกอบการจึงยังไม่มีการปรับราคา แต่ปีนี้หากสินค้าดังกล่าวหมดลง และมีการนำเข้าสินค้าลอตใหม่ คาดกว่ากลุ่มคราฟต์เบียร์จะเริ่มทยอยปรับขึ้นราคา

“นอกจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวแล้วที่ผ่านมา ผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์ยังต้องแบกรับภาระในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน จากค่าเงินบาท จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องมีการปรับขึ้นราคา ตอนนี้เริ่มเห็นสินค้าลอตใหม่ที่มีการทยอยปรับราคา บางแบรนด์ต้องปรับจาก 75 บาท เป็น 99 บาทแล้ว และหลาย ๆ แบรนด์ก็เตรียมจะทยอยปรับราคา ส่วนจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับต้นทุนจากแต่ละประเทศ”

ปรับราคายกแผง-เริ่มมีนาฯนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ มีความเคลื่อนไหวในการแจ้งปรับราคาไปยังคู่ค้าต่าง ๆ เช่น ไฮเนเก้น อาทิ ขวดใหญ่ ปรับขึ้นลังละ 48 บาท จากเดิม 805 เป็น 853 บาท ขณะที่กระป๋อง และขวดเล็ก ปรับขึ้นแพ็กละ 92 บาท จากเดิม 940 เป็น 1,032 บาท ส่วนกระป๋องยาว ปรับขึ้นแพ็กละ 49 บาท จากเดิม 690 บาท เป็น 739 บาท และไฮเนเก้น 0.0 (ไม่มีแอลกอฮอล์) ปรับขึ้นลังละ 70 บาท จากเดิม 830 เป็น 900 บาท และมีผลตั้งแต่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป

โดยก่อนหน้านี้ ค่ายไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของเหล้าขาว-เหล้าสีรายใหญ่ และเบียร์ช้าง ได้แจ้งปรับราคา อาทิ ช้างโคลด์ บรูว์ จาก 620 บาท/ลัง เป็น 633 บาท เช่นเดียวกับถาด (24 กระป๋อง) ที่ปรับจาก 490 บาท เป็น 503 บาท ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังระบุว่า สำหรับในส่วนของช้าง คลาสสิก จะปรับราคาขึ้นช่วงต้นเดือนมีนาคม และจะมีการแจ้งราคาใหม่มาอีกครั้งหนึ่ง

จากการสำรวจร้านค้าส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายหนึ่งในย่านลาดพร้าวได้รับการยืนยันจากเจ้าของร้านว่า ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา (7-11 กุมภาพันธ์) บริษัทผู้จัดจำหน่ายกลุ่มสุราขาวรายใหญ่ได้มีการแจ้งการปรับขึ้นราคา อาทิ สุราขาวขวดใหญ่ (625 มล.) มีการปรับขึ้นราคาจาก 100 บาท เป็น 110 บาท เป็นต้น