สธ. เผยฉากทัศน์โควิด-19 มี.ค.-เม.ย. 65 อาการหนัก-ใส่ท่อยังเพิ่ม

โควิด ตรวจโควิด
Photo : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ฉากทัศน์โควิด-19 มี.ค.-เม.ย. 2565 กลุ่มอาการรุนแรงอาจเพิ่มเป็น 1,000 ราย และมีกลุ่มใส่ท่อช่วยหายใจ 400-500 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตจะสูงสุดที่ 50 รายต่อวัน ยืนยันพร้อมรับมือทั้งเตียงและยาต้านไวรัส

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข เผยฉากทัศน์การระบาดในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป โดยคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเริ่มทรงตัว แต่กลุ่มอาการหนักและผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อ ก่อนจะลดลงช่วงปลายเดือนเมษายน

พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในเรื่อง ปริมาณยา ฟาวิพิราเวียร์ และเตียงในโรงพยาบาลทั่วประเทศยังคงเพียงพอ ส่วนบริการรักษาแบบผู้ป่วยนอกเป็นเพียงบริการเสริม ไม่ได้มาแทนการรักษาในปัจจุบัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการเตียงให้เพียงพอกรณีมีผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้น

คาด มี.ค. ติดเชื้อใหม่ทรงตัว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประเมินสถานการการระบาดในปัจจุบัน ทำให้เชื่อว่าเดือนมีนาคม จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่น่าจะเข้าสู่ระดับระนาบและเริ่มลดลงตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนต่อและต่อเนื่องในเดือนถัด ๆ ไป แต่กลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงอาจเพิ่มมาอยู่ในระดับ 1,000 ราย และมีกลุ่มใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 400-500 ราย และทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตขยับขึ้นมาสูงสุดที่ 50 รายต่อวัน ก่อนจะลดลงตามจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

อย่างไรก็ตามยืนยันว่า สธ. มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้นนี้ ทั้งในด้านปริมาณยาต้านไวรัส และจำนวนเตียงในสถานพยาบาล เนื่องจากตามข้อมูลการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการ ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้นเพียงติดเชื้อง่ายขึ้น แต่อาการไม่รุนแรงขึ้น

ย้ำยาต้าน-เตียงเพียงพอ

โดยในส่วนของปริมาณยาต้านไวรัสนั้น ปลัด สธ. อธิบายว่า ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) มีสำรองอยู่กับองค์การเภสัชฯ 65,200 เม็ด อยู่ที่เขตสุขภาพ 1-12 อีก 13.3 ล้านเม็ด และเขตสุขภาพ 13 (กทม.) 3.49 ล้านเม็ด รวม 16.9 ล้านเม็ด โดยวันที่ 1 มีนาคมนี้จะกระจายออกไปอีก 15.4 ล้านเม็ด

ขณะเดียวกันองค์การเภสัชฯยังจัดหาและผลิตเพิ่มเติมอีก 87.6 ล้านเม็ด แบ่งเป็นจัดหา 23.8 ล้านเม็ดและผลิตช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน อีก 63.8 ล้านเม็ด

“ข่าวยาขาดแคลนนั้นไม่เป็นความจริง” ปลัด สธ.ย้ำ

ไปในทิศทางเดียวกับจำนวนเตียงซึ่งตามข้อมูลเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 65 อัตราการครองเตียงเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ประมาณ 59% หรือ 102,442 เตียง จากเตียงทั้งหมด 173,777 เตียง โดยเตียงสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมีทั้งหมด 140,924 เตียง มีการใช้งาน 95,480 เตียง (67%)

และเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการปานกลาง (ปอดอักเสบ) มีทั้งหมด 30,686 เตียง มีการใช้งาน 6,493 เตียง (21%) ส่วนเตียงสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมีทั้งหมด 2,167 เตียง มีการใช้งาน 475 เตียง (21.9%)

โดย สธ. เตรียมเพิ่มสัดส่วนเตียงว่าง ด้วยการนำบริการรักษาที่บ้านแบบผู้ป่วยนอกเข้ามาใช้เป็นบริการเสริม เพื่อให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย และไม่มีภาวะเสี่ยง ดูแล-กักตัวตัวที่บ้าน พร้อมรักษาตามอาการ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการทำ Home Isolation ใน 3 จุด คือ มีการโทร.ติดตามอาการครั้งเดียวเมื่อครบ 48 ชั่วโมง, ไม่มีอุปกรณ์ตรวจประเมิน อาทิ ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดให้, ไม่มีบริการอาหาร

ทั้งนี้ด้านการจ่ายยาสำหรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยแยกกักตัวที่บ้านจะไม่ให้ยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากสามารถหายเองได้ แต่อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลพินิจของแพทย์

สุดท้าย นพ.เกียรติภูมิ ย้ำว่า ให้กลุ่ม 608 หรือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคประจำตัว และ +1 คือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เข้ารับการฉีดวัคซีนเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมากที่สุด