สธ.ย้ำยังไม่พบ BA2.12.1 และสายพันธุ์ผสมในไทย พร้อมเข้มเฝ้าระวัง

โควิด

สธ.ย้ำยังไม่พบ BA2.12.1 และสายพันธุ์ผสมในไทย ยังไม่มีข้อมูลว่าสายพันธุ์ย่อยนี้จะรุนแรงเท่า/มากกว่าเดลต้าหรือไม่

วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไวรัสโรคโควิด-19 ที่พบในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมดแล้ว โดยเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 สัดส่วน 97.6%

สำหรับสายพันธุ์ผสมนั้นปัจจุบันหน่วยงานฐานข้อมูลกลางโควิดโลก หรือ GISAID ยังไม่ประกาศยืนยันว่าตัวอย่างที่ไทยส่งไปให้ทดสอบเป็นสายพันธุ์ผสม ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งตัวอย่างต้องสงสัยไปยัง GISAID จำนวน 12 ตัวอย่าง แบ่งเป็น XM 8 ตัวอย่าง XN 3 ตัวอย่าง และ XE 1 ตัวอย่าง

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน่วยงานของไทยโฟกัสการเฝ้าระวังไวรัสโควิด-19 จำนวน 3 สายพันธุ์ คือ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 เช่นเดียวกับหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลก

เนื่องจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 มีข้อมูลว่า แม้เคยติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 แล้ว ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะไม่สามารถป้องกัน 2 สายพันธุ์นี้ได้ เว้นแต่กรณีเคยติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 และได้รับวัคซีนด้วยจึงจะพอป้องกันได้ โดยในไทยเคยพบผู้ติดเชื้อ BA.5 จำนวน 1 รายเมื่อเดือนเมษายน 2565 เป็นชาวบราซิล ปัจจุบันรักษาหายและเดินทางกลับประเทศแล้ว

ส่วนสายพันธุ์ BA.2.12.1 นั้นปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลมากพอ แต่จากตำแหน่งการกลายพันธุ์อาจทำให้สามารถหลบภูมิคุ้นกันได้ดีขึ้น อีกทั้งแนวโน้มการระบาดทั่วโลกยังเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 1.2 หมื่นราย ส่วนในไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อ มีเพียงผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2.12 จำนวน 2 ราย เมื่อเดือนเมษายน 2565 เป็นชาวอินเดียและแคนาดา

โดยได้อัพเกรดศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศให้สามารถตรวจแยกสายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องส่งตัวอย่างมาที่ส่วนกลาง และโฟกัสการเก็บตัวอย่างจากชาวต่างชาติมากเป็นพิเศษ