ประกาศเตือนโควิดระดับ 4 ประชาชนทำอะไรได้-ไม่ได้

ร้านอาหาร
FILE PHOTO : Jack TAYLOR / AFP

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 00.01 น.

เปิดมาตรการคุมโควิด-19 ระดับ 4 สธ.ปรับเพิ่มระดับคุมเข้ม “โอมิครอน” ดันยอดติดเชื้อเฉียด 2 หมื่นรายต่อวัน งดไปสถานที่เสี่ยง ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด ลดการไปในที่สาธารณะ งดการรวมกลุ่ม กินข้าวร่วมกัน

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการระบาดของโควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์โอมิครอนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยกลับมาแตะหลักหมื่นอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉียด 2 หมื่นรายต่อวัน

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศเตือนภัยจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ทั่วประเทศ โดยคาดว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์แนวโน้มจะยังทรงตัวระดับสูงในประเทศไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปมาตรการการเตือนภัยโรคโควิด-19 ระดับ 4 และคำแนะนำในการปฏิบัติตัวของประชาชน สถานประกอบการ (ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 27 ธ.ค. 64)

มาตรการคุมโควิดระดับ 4 ทำอะไรได้บ้าง

  • สถานที่เสี่ยง : ทุกคนงดรับประทานอาหารร่วมกัน และงดดื่มสุราในร้านอาหาร พร้อมงดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท
  • การรวมกลุ่มคนจำนวนมาก : เลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน และงดกิจกรรมการรวมกลุ่มสังสรรค์
  • การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด : งดการโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท
  • การเดินทางเข้า-ออกประเทศ : งดเดินทางไปต่างประเทศ และหากเดินทางเข้าประเทศต้องกักตัวตามมาตรการ

ระดับเตือนภัยโควิด 2565

เตือนภัยโควิดระดับ 4 มีข้อแนะนำอย่างไร

  • งดเข้าสถานที่เสี่ยง : ร้านอาหารปรับอากาศ
  • งดทานอาหารร่วม-ดื่มสุราในร้าน
  • เลี่ยงการไปซื้อของที่มีคนจำนวนมาก : ตลาด ห้างสรรพสินค้า
  • เลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน หรือ งดร่วมกิจกรรมกลุ่มตามเกณฑ์ (เกณฑ์จำนวนคนขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงต่อการรบาดของโรค รายจังหวัด)
  • ทำงานที่บ้าน (WFH) 50-80% และชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด หากจำเป็นใช้รถส่วนตัว
  • เน้นการสวมหน้ากากอนามัย 100%
  • เลี่ยงเดินทางไปต่างประเทศ
  • เดินทางเข้าประเทศต้องตัวในระบบ Alternative State Quarantine (AQ)

ระดับเตือนภัยโควิด 2565

สถานการณ์โอมิครอนในไทย

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันนี้ (21 ก.พ.) พบติดเชื้อสะสม 507,763 ราย (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-21 ก.พ. 65) เสียชีวิตสะสม 958 ราย (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-21 ก.พ. 65)

ส่วนกรณีสายพันธุ์โอมิครอน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ข้อมูลองค์การอนามัยโลกสายพันธุ์ BA.2 มีความรุนแรงใกล้เคียง BA.1 แต่มีข้อมูลว่า BA.2 จะติดเชื้อและแพร่เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า ซึ่งไทยเริ่มพบ BA.2 ประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ จากการตรวจหาสายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ผู้ป่วยจากสายพันธุ์โอมิครอน 53,709 ราย พบว่า ไม่มีอาการ 53.1% มีอาการป่วย 46.9% โดยผู้ที่มีอาการส่วนใหญ่ 3 อาการหลัก คือ เจ็บคอ ไอ หรือไข้ต่ำ แต่หากพบในกลุ่มเสี่ยง 608 อาจกลายเป็นอาการหนัก เชื้อลงปอดได้ ดังนั้นให้สังเกตอาการช่วงแรก หากตากฝน มีอาการเจ็บคอ ไอ ให้รีบตรวจ ATK ทันที

อย่างไรก็ตาม กลุ่มจังหวัดที่ต้องระวังคือ 18 จังหวัด ที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต กาญจนบุรี กระบี่ พังงา นนทบุรี ปทุมธานี ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบางวัน บางวันก็ลดลง อย่างกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ลดลงบางวัน แต่แนวโน้มยังขึ้นอยู่