โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล ดัน ‘กัญชา-กัญชง’ ไทยตีตลาดโลก

กัญชา-กัญชง
สัมภาษณ์พิเศษ

เป็นตลาดที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับกัญชา-กัญชง หลังรัฐประกาศปลดล็อกส่วนของกัญชาและกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด

ส่งผลให้หลายผู้ประกอบการต่างเตรียมพร้อมเพื่อคว้าโอกาสทางการเติบโต รวมถึงการปลดล็อกกัญชา ที่จะมีผลหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่จะทำให้ “กัญชา” ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 เป็นประเด็นที่น่าจับตามองถึงโอกาสของกัญชาไทยในตลาดโลก

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “กฤษณ์ ธีรเกาศัลย์” กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด (GTG) บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชง-กัญชาครบวงจร หลังจากที่ลงทุนมาต่อเนื่องกว่า 3 ปีและเริ่มมีโปรดักต์ออกสู่ตลาด และกำลังจะก้าวไปสู่สเต็ปของการส่งออก

นายกฤษณ์ ธีรเกาศัลย์

Q : มองโอกาสทางการตลาดและสินค้าจากกัญชา-กัญชงอย่างไร

ที่ผ่านมาการปลดล็อกกัญชา-กัญชงส่งผลให้กระแสและความต้องการในประเทศเพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจจำนวนมาก ทั้งในแง่ของการนำกัญชา-กัญชงไปใช้ในการรักษา การผลิตเป็นสินค้าออกมาจำหน่าย ทั้งเครื่องสำอาง อุปโภคบริโภค หรือแม้แต่ซัพพลีเมนต์ (ใช้ในการผลิต)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของธุรกิจกับธุรกิจ หรือ B2B ที่่คาดว่าจะเริ่มทยอยเห็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมาสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งโปรดักต์ที่เป็นของบริษัทและของผู้เล่นรายอื่น ๆ ซึ่งบริษัทเองก็ได้เตรียมความพร้อมทั้งในแง่ของวัตถุดิบ สูตรที่จะผลิตเครื่องสำอาง ยา และซัพพลีเมนต์ เพื่อป้อนตลาด

และเชื่อว่าจากความต้องการกัญชา-กัญชงที่มีมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เกิดมาร์เก็ตเซ็กเมนต์ที่แยกย่อยมากขึ้นและมีหลายระดับ ทั้งเกรดการแพทย์ เกรดอาหาร เกรดส่งออก

ที่สำคัญคือ ในแง่ของกฎหมาย ต้องยอมรับว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำได้ดีและเร็วมาก ขณะที่สหรัฐอเมริกาต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี ในการจะนำกัญชา-กัญชงมาใช้ทางการแพทย์ได้ แต่ไทยเพิ่งผ่านมา 3 ปี มีกฎหมายปลดล็อก และทำทุกอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดขององค์การสหประชาชาติแล้ว

Q : การก้าวเข้ามาในตลาดกัญชา-กัญชง และยุทธศาสตร์ของ GTG

บริษัทวางการตลาดและวางเป้าหมายตั้งแต่แรก ด้วยต้องการเป็น biotech ด้านกัญชง-กัญชา จึงเริ่มต้นด้วยการพัฒนาสายพันธุ์ของตัวเองขึ้นมา เพื่อจะทำให้ได้สารสกัดและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน โดยจะเน้นผลิตสกัดสาร CBD ที่เป็นเกรดคุณภาพสูงสุด หรือเมดิคอลเกรด

ที่ผ่านมาหลังจากบริษัทได้เริ่มธุรกิจเมื่อปี 2562 ก็เริ่มศึกษาวิจัยหาแม่พันธุ์กัญชง จนได้สายพันธุ์ “RAKSA” (รักษา) ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย เช่น มีปริมาณ THC ในช่อดอกแห้งไม่เกิน 1% มีปริมาณ CBD สูง เพื่อนำมาผลิตสารสกัด CBD ที่มีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2% จึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศเพื่อมาปลูก

ปัจจุบันมีฟาร์มกัญชงอยู่ที่ ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จ.เชียงราย พื้นที่ 5,000 ตร.ม. กำลังขยายต่อเนื่องไปจนถึง 20,000 ตร.ม. และโรงงานขนาด 5,000 ตร.ม.ที่กรุงเทพฯ (เส้นอาจณรงค์)

คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ ซึ่งตอนนี้โรงงานหลักจะอยู่ที่ ต.แม่กรณ์ ทุกวันนี้ยังใช้พื้นที่ไม่ถึง 20% และในแง่ของโรงงานยังสามารถขยายกำลังการผลิตได้อีก 5-7 เท่า และหลัก ๆ จะใช้เป็นฐานในการผลิตเม็ดพันธุ์

ส่วนฟาร์มกัญชามีอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 500 ตร.ม. และหากกฎหมายให้สามารถทำได้ บริษัทมีแผนเพาะแม่พันธุ์กัญชาใหม่ที่มีค่า THC สูง ในชื่อ “หรรษา” ออกมาอีกด้วย

Q : แผนการรุกตลาดกัญชา-กัญชงในช่วงเริ่มต้น

วันนี้บริษัทมีไลเซนส์ครบ ทั้งใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา-กัญชง ใบอนุญาตปลูกกัญชา-กัญชง, ใบอนุญาตสกัดกัญชา-กัญชง ยกเว้นใบอนุญาตส่งออกที่คาดว่าจะได้รับการอนุญาตในเร็ว ๆ นี้ และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นบริษัทแรกที่นำน้ำมันหรือสารกัด CBD ที่ถูกต้องตามกฎหมายออกมาทำตลาด

นอกจากการปลูกและสกัดสาร CBD แล้ว ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มทยอยมีโปรดักต์จากกัญชา-กัญชง ออกมาทำตลาดเป็นระยะ ๆ อาทิ กลุ่มเครื่องสำอาง กลุ่มการนวดและสปากลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์

ซึ่งทั้งหมดได้ขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างถูกต้อง ภายใต้แบรนด์ GTG อาทิ เทอร์ปีนส์กัญชา หรือ GTG Bath Bomb ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ (จากชิ้นส่วนของกัญชา) เป็นต้น

ควบคู่กันนี้ ที่ผ่านมายังมีการจับมือกับธุรกิจโรงแรม นำกัญชงไปผลิตเป็นโปรดักต์ เช่น แชมพู น้ำมันนวด เป็นต้น เพื่อสร้างกิมมิกและรองรับนักท่องเที่ยว ล่าสุดเพิ่งจัดอีเวนต์เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่จากสาร CBD กัญชา-กัญชง ที่เอ็มควอเทียร์

ในชื่องานมหกรรม “RAKSA CBD EVENT BY GTG” ยกขบวนสินค้าและบริการ เจาะตลาดกัญชงเต็มสูบ พร้อมเปิดตัว CBD Everyday Balm บาล์มอเนกประสงค์ คอนซูเมอร์โปรดักต์ชูโรงตัวแรกในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บริษัทยังมีสูตรการผลิตสินค้าจากกัญชง-กัญชา และบรรจุภัณฑ์ ที่มีการขึ้นทะเบียนจาก อย. เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่เป็น OEM ด้วย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีโปรดักต์ทยอยออกมาในช่วงตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป

และในครึ่งปีหลังมีแผนจะขยายเข้าไปในกลุ่มซัพพลีเมนต์ด้วย ซึ่งรอเพียงทางการอนุญาต และยังมีแผนจะจับมือกับพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดทางการตลาดสินค้ากัญชา-กัญชงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้ บริษัทจะได้รับใบอนุญาตจำหน่ายต้นแม่พันธุ์กัญชงตามมา

Q : มองการส่งออกสารสกัดจากกัญชง-กัญชา หรือโปรดักต์ ไปตีตลาดต่างประเทศไว้อย่างไร

กลยุทธ์การทำตลาดในช่วงแรก หลัก ๆ บริษัทจะโฟกัสที่ตลาดในประเทศก่อน ผ่านสินค้าต่าง ๆ เพื่อสร้างฐานให้แข็งแกร่ง ก่อนจะเริ่มส่งออกตั้งแต่ช่วงปี 2566 เป็นต้นไป

ยุทธศาสตร์สำคัญจะเน้นไปที่ตลาดในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดมีความต้องการสูง และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกัญชงและกัญชาทางการแพทย์ โดยอาจจะเริ่มที่เยอรมนีก่อน

เนื่องจากเยอรมนีเป็นตลาดที่มีความต้องการสูงและเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากปีละ 1 ตัน เพิ่มเป็นปีละ 3 ตัน นอกจากนี้ เยอรมนียังจะเป็นประตูไปสู่อีกหลายประเทศในยุโรป ทั้งสเปน กรีซ ฯลฯ และเป็นฐานการส่งออกที่สำคัญ

แต่เนื่องจากปัจจุบันกรณีของกัญชา กฎหมายอนุญาตให้ส่งออกได้เฉพาะที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐ (เฉพาะการส่งออกทางการแพทย์) บริษัทจึงได้ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม ในการปลูกเพื่อส่งออกกัญชาทางการแพทย์

ซึ่งคาดว่าการส่งออกจะเริ่มได้หลังจากที่บริษัทได้รับใบอนุญาตการส่งออกแล้ว และคาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงไตรมาส 4 นี้ เป็นต้นไป

ที่สำคัญ การส่งออกโปรดักต์กัญชาไปยุโรปได้จะต้องมีการปลูกและแพ็กเกจจิ้งจะต้องตามมาตรฐาน EUGMP ซึ่งบริษัทเป็นรายแรกในเอเชียที่ได้รับใบอนุญาตส่งออกไปยุโรปได้เมื่อเดือน พ.ค.นี้

เดือนมิถุุนายนบริษัทจะไปโรดโชว์งาน CBD ที่สวิตเซอร์แลนด์ “สวิส แคนนาเทรด” ซึ่งเป็นหนึ่งงานใหญ่ของโลกเป็นการนำโปรดักต์กัญชง-กัญชาไทยไปแสดงในเวทีโลก

นอกจากนี้ยังมีแผนจะเริ่มทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งเพิ่มเติม เพื่อเป็นการขยายการผลิตและหาวัตถุดิบเพื่อรองรับการผลิตในอนาคต จากปัจจุบันที่ทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯรายหนึ่ง

Q : มีความคาดหวังในแง่ของรายได้มากน้อยเพียงใด

ในแง่รายได้ บริษัทวางเป้าหมายด้วยการเป็น ไบโอเทค ยูนิคอร์น (บริษัทด้านไบโอเทคที่มีการเติบโตสูงอย่างรวดเร็ว) จากมีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท ในปี 2566 และไม่เกินปี 2568 ก้าวเป็น CANABIS BIOTECH UNICORN อย่างเต็มตัวและมีมูลค่า 30,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ปีหน้ายังมีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งหุ้นในไทยและต่างประเทศ เนื่องจากกัญชง-กัญชา เป็น high value agriculture

ที่สำคัญคือ เชื่อว่าไทยเป็นประเทศมีศักยภาพสูงในแง่ของการผลิตกัญชง-กัญชาที่มีคุณภาพ และสามารถที่จะแข่งกับนานาประเทศได้ เนื่องจากที่ตั้งของไทยมีความได้เปรียบในเรื่องของภูมิอากาศและอุณหภูมิที่เหมาะกับพืชกัญชง-กัญชา

มั่นใจว่ากัญชง-กัญชาไทยสามารถสู้ได้ในตลาดโลก และต่างประเทศก็พร้อมเปิดรับสินค้าไทย