คาวาอี้ BNK48 บานสะพรั่ง ธุรกิจเพลงใสใส…ได้ใจสาวก

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

สสวนกระแสตลาดซีดีเพลง พร้อม ๆ ทำสถิติใหม่การขายแผ่นซีดีเพลงเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เมื่อศิลปินกลุ่ม “บีเอ็นเค48” สามารถทำยอดขายแผ่นซีดีได้ถึง 13,000 แผ่น ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และพุ่งขึ้นเป็น 30,000 แผ่นทันทีที่ซิงเกิ้ลสองออกมา กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ และทำให้คนในวงการต้องหันมาเหลียวมอง

อีกด้านหนึ่ง หลาย ๆ คนก็อาจจะตั้งคำถามว่า บีเอ็นเค 48 คือใคร ทำไมเพลงของไอดอลกรุ๊ปวงนี้จึงได้ถูกอกถูกใจของกลุ่มผู้ฟังถึงขนาดว่าจะต้องตามติดตามซื้อแผ่นจนยอดทะลุหลักหมื่น ทั้ง ๆ ที่วันนี้ยอดขายแผ่นกำลังลดจำนวนลงเรื่อย ๆ

กว่าจะมาถึงวันนี้ และแจ้งเกิดในวงการได้สำเร็จ “บีเอ็นเค48” ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการฟูมฟัก “จิรัฐ บวรวัฒนะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โมเดลดังกล่าวถูกพิสูจน์ความสำเร็จมาแล้วในตลาดเพลงญี่ปุ่น ในนาม “เอเคบี48” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ที่สำคัญคือ สามารถสร้างรายได้ให้กับต้นสังกัดอย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยวัดจากยอดขายแผ่นซีดี และสินค้าเมอร์แชนไดส์ของศิลปิน

ย้อนกลับไปต้นปี 2560 บริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้ร่วมทุนกับบริษัท เอเคเอส จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์และผู้บริหารไอดอลกรุ๊ปอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัทบีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด โดยที่โรส อาร์ทิสท์ฯ ถือหุ้น 51% และเอเคเอส 49% เพื่อขยายความสำเร็จของโมเดลเพลงจากญี่ปุ่นสู่ไทย และตลาดเพลงในอาเซียนด้วย

จากนั้น บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอทฯ เริ่มการสร้างไอดอลกรุ๊ปตามแนวทางที่เอเคเอสวางไว้ เริ่มจากการหาไอดอลกรุ๊ปหน้าใหม่ที่เป็นผู้หญิงอายุ 12-18 ปี ด้วยการเปิดรับสมัครจากผู้ที่สนใจ จากนั้นจะนำผู้ชนะการคัดเลือกทั้งหมดมาฝึกซ้อม เพื่อปั้นให้เป็นศิลปินที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพในด้านต่าง ๆ ก่อนจะได้ออกผลงานเพลง ระหว่างทางของการคัดเลือกก็มีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อปูทางสร้างฐานแฟนคลับผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของ BNK48

พร้อมกันนี้ “จิรัฐ” ยังกล่าวถึงคีย์ซักเซสของบีเอ็นเค48 ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ นั่นคือ ตัวศิลปิน โดยเฉพาะกัปตันทีม รุ่นแรก “เฌอปรางค์ อารีย์กุล”

ล่าสุดเปิดให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมกับมิวสิกวิดีโอชุดแรก “คุกกี้เสี่ยงทาย” โดยสามารถส่งคลิปวิดีโอพร้อมท่าเต้นเข้ามาโดยบริษัทจะคัดเลือกคลิปและรวมเข้ามาอยู่ในมิวสิกวิดีโอ

กลยุทธ์นี้ได้ตอบรับที่ดีมาก โดยวัดจากจำนวนคลิปที่ส่งมา และยอดวิวในยูทูบ 4 ล้านวิวเป็นการเน้นการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างศิลปินและฐานแฟนคลับ ผ่านการนำเสนอเรื่องราวของไอดอลกรุ๊ปบนช่องทางโซเชียลมีเดียจากเฟซบุ๊ก BNK48 ปัจจุบันมียอดติดตามอยู่ที่ 130,000 แฟนเพจ ในจำนวนนี้เป็นผู้ชาย 55% ผู้หญิง 45% ตั้งเป้าหมายว่าปี 2561 จะเพิ่มฐานแฟนเพจเป็น 2 ล้านแฟนเพจ

พร้อมกับสร้างประสบการณ์ร่วมต่อเนื่อง ด้วยการออกอากาศสดผ่านออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ และไลฟ์ บรอดแคสต์ต่าง ๆ จากสตูดิโอให้ศิลปินได้ไลฟ์สดทุกวัน เพื่อให้แฟนคลับได้ติดตามความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

ขณะที่ในเชิงธุรกิจก็คาดว่าจะสร้างรายได้จากสปอนเซอร์ (สินค้า) เพิ่มเข้ามาอีกช่องทางด้วยเรียกว่าเริ่มสะสมฐานแฟนคลับมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่การเริ่มค้นหาศิลปิน จนได้รับการคัดเลือกและมีผลงานเพลง สร้างความผูกพันระหว่างแฟนคลับกับศิลปินมาต่อเนื่อง

เขาเล่าย้อนกลับไปว่า โมเดลนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในไทย เพลงไทยอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากซิงเกิลแรกก็มียอดขายซีดีมากถึง 13,000 แผ่น ในเวลาอันรวดเร็ว

ตามด้วยซิงเกิล 2 “คุกกี้เสี่ยงทาย” ก็มียอดขายซีดีพุ่งไปถึง 30,000 แผ่น ทำให้เกิดอีเวนต์ Handshake อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งจะได้บัตรจับมือจากการซื้อซิงเกิล โดยจะได้จับมือกับเหล่าไอดอลกรุ๊ปกลุ่มนี้ทั้ง 30 คน จึงได้รับความนิยมจากแฟนคลับมากมาย นี่ยังไม่นับรวมยอดขายสินค้าเมอร์แชนไดส์ต่าง ๆ ของเหล่าไอดอลกรุ๊ปแต่ละคน เช่น โปสเตอร์ เข็มกลัด เสื้อ ริสต์แบนด์ เป็นต้น

จากฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น เป็นปัจจัยที่ทำให้มีงานและอีเวนต์หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเร็ว ๆ นี้มีสินค้าอีก 2-3 แบรนด์สนใจจะใช้ บีเอ็นเค48 เป็นพรีเซ็นเตอร์

ขณะที่ในปี 2561 ก็เตรียมเปิดออดิชั่นไอดอลกรุ๊ป รุ่นที่ 2 เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากไอดอลกรุ๊ป รุ่นแรก

อีกทั้งเตรียมผลิตรายการทีวี เพื่อนำไปออกอากาศในช่องทีวีดิจิทัลอีก 2-3 รายการ เช่น AITAKATTA ! NIPPON ตามรอยสถานที่จริงที่ปรากฏในฉากอนิเมะต่าง ๆ กับสมาชิก BNK48 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 22.00-22.30 น. เริ่มตอนแรก 14 มกราคม 2561 ช่องอมรินทร์ทีวี เป็นต้น

จากโมเดล บีเอ็นเค48 ทำให้ธุรกิจเพลงอาจจะมองหาโมเดลการสร้างรายได้ใหม่ ๆ ว่า คอนเทนต์ที่สร้างนั้นจะสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรงได้อย่างไร จะสื่อสารกับฐานแฟนคลับได้ตรงไหน เพราะการมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น นั่นหมายถึง ขุมทรัพย์ใหม่สำหรับการต่อยอดสู่ธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น

อาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือ โมเดลใหม่ ที่เป็นการสลัดจากกรอบเดิม ๆ ของธุรกิจเพลง