สรกล อดุลยานนท์ หนุ่มเมืองจันท์ เขียน เรื่องของทุเรียน

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

วันก่อน เพจ “สวนจันทวิสูตร” ซึ่งเป็นสวนทุเรียนดังของเมืองจันท์

คนแย่งสั่งจองทุเรียนกันเหมือนแจกฟรี

เจ้าของสวนก็ “ติสต์” มาก ให้ลงชื่อจองไว้

ทุเรียนสุกเมื่อไรก็จะตัดส่งไปให้

บางทีส่งทุเรียนแล้ว ค่อยเรียกเก็บเงิน

เขาเขียนเรื่องน่ารักเรื่องหนึ่งที่อ่านจบแล้วเซฟเก็บไว้เลย

เป็นบทสนทนาของอากับหลานสะใภ้

เกี่ยวกับเรื่อง “ทุเรียน” ในฝัน กับ “ทุเรียน” ในความจริง

“ประโยคบอกเล่าระหว่างอา กับ หลานสะใภ้

หลานสะใภ้ : อาน้อง ๆ “ตอนได้แฟนเป็นชาวสวนนะ ฝันว่าจะได้กินทุเรียนสวย ๆ กรอบนอกนุ่มในให้หนำใจ”

อาน้อง : แล้วเป็นไงล่ะ

หลานสะใภ้ : หล่น หนอนเจาะ กิ่งฉีก มีแต่นิ่ม ๆ

อาน้อง : หึหึ กรูอยู่มาตั้งแต่เด็กก็ยังไม่ได้แบบนั้นเลยนะ

เรื่องเล่าหลังบ้านชาวสวน”

ด้านหนึ่ง เหมือนเป็นเรื่องตลก ระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริง

ด้านหนึ่ง เป็นเรื่องจริงของชาวสวน

เพราะเขารู้สัจธรรมของทุเรียน

คนที่คลุกคลีอยู่กับสวนทุเรียนจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี

“ชาวสวน” ส่วนใหญ่จะไม่กินทุเรียนที่ผลสวย ๆ

แต่จะกินทุเรียนที่กระรอกเจาะ หนอนเจาะ หล่น หรือมีเชื้อราดำ

เพราะเขารู้ว่าเรากิน “เนื้อทุเรียน” ไม่ได้กิน “เปลือกทุเรียน”

พูสวย ไม่สวย ถ้าเป็นทุเรียนต้นเดียวกัน เนื้อก็เหมือนกัน

เขาจึงไม่เคยกินทุเรียนเกรด ABC

ลูกสวย ๆ เอาไว้ขาย

ลูกไม่สวยเอาไว้กิน

เสียแค่พูเดียว พูอื่นก็ยังใช้ได้

เรื่องแบบนี้แม่ค้าทุเรียนที่แกะทุเรียน เอา “เนื้อ” มาใส่กล่องโฟมขาย เขาก็คิดแบบเดียวกัน

เขาทำกำไรจาก “ช่องว่าง” ตรงนี้

เพราะลูกค้าที่ซื้อทุเรียนเป็นลูก กับทุเรียนที่แกะแล้วคิดไม่เหมือนกัน

“โฟกัส” คนละจุด

ลูกค้าที่ซื้อทุเรียนเป็นลูกไปแกะเอง ส่วนใหญ่จะดูที่รูปทรงว่าเปลือกสวย ไร้ตำหนิพูสวยหรือไม่

พวกนี้ราคาจะแพง

แต่พ่อค้าทุเรียนแกะ เขาขาย “เนื้อ”

เขาจะเลือกซื้อทุเรียนที่ตกไซซ์ ปลิงหลุด หรือมีตำหนิมาแกะขาย

ขอแค่ลูกหนึ่งมีพูเต็ม ๆ ใหญ่ ๆ บ้าง

เพราะทุเรียนกลุ่มนี้ราคาจะถูกกว่า ABC เกือบเท่าตัว

คนซื้อ “เนื้อทุเรียน” ที่แกะแล้วไม่มีทางรู้เลยว่ารูปร่างผลทุเรียนเป็นอย่างไร

เขาดูแต่ “เนื้อ”

สีสวยไหม เนื้อเละไหม ใหญ่ไหม ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อแกะเนื้อแล้ว ทุเรียนเกรด ABC จึงเท่าเทียมกับทุเรียนตกไซซ์ทันที

เพราะคนเห็นแต่ “เนื้อ” ไม่เห็น “เปลือก”

ราคาก็เท่ากัน

แม่ค้าทุเรียนแกะ เขาจึงนิยมซื้อทุเรียนที่เปลือกไม่สวย แต่เนื้อดี

มองผ่านมิติจาก “เปลือก” ไป “เนื้อ”

แค่นี้ก็ทำกำไรแล้ว