เช็กอาการ ผู้ป่วยเข้าข่ายฝีดาษลิง พร้อมแนวทางจัดการ

ฝีดาษลิง โควิด

กรมควบคุมโรค เปิดนิยาม “ผู้ป่วยสงสัย-ผู้เข้าข่าย-ผู้ป่วยยืนยัน” พร้อมแนวทางจัดการผู้ป่วยฝีดาษวานร

วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 กรมควบคุมโรค ระบุถึง นิยามผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร 2 ส่วนหลัก ๆ คือ อาการแรกมีไข้ เจ็บคอ หรือมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น ส่วนอาการถัดมา คือ มีผื่นตุ่มนูน ผื่นกระจายตามใบหน้า ลำตัว แขนขา ตุ่มนูนเปลี่ยนเป็นน้ำใส และตกสะเก็ด

ผู้ป่วยสงสัยจะต้องมีประวัติเชื่อมโยง 3 ข้อ ดังนี้

1.มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษวานรภายในประเทศ โดยปัจจุบันมีการแพร่ระบาดใน 32 ประเทศ โดยหลัก ๆ อยู่ในประเทศอังกฤษ,เยอรมนี,สเปน และโปรตุเกส

2.มีประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศเป็นประจำ โดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงการระบาดฝีดาษวานร

3.มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ต้องเป็นสัตว์นำเข้าจากทวีแอฟริกาเป็นหลัก

มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วย 3 ข้อ นับเป็นผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร

1.สัมผัสสิ่งของผู้ป่วย เสื้อผ้า หรือของใช้ส่วนตัวที่อาจมีสิ่งปนเปื้อน
2.อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน
3. สัมผัสกับผู้ป่วยฝีดาษวานร ภายในระยะ 2 เมตร ตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป

เปิดแนวทางจัดการผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร

1. หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ และรายงานเข้าสู่ระบบ Thailand pass เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ
2. ทีมสอบสวนโรคเข้าเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการ ตรวจหาเชื้อเพื่อยืนยันว่า เป็นผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานรหรือไม่
3. หากเป็นฝีดาษวานรก็ทำการรักษาอาการต่อไป
4. ส่วนกรณีที่ยังเป็นผู้สงสัยหรือเข้าข่ายอาจต้องพิจารณาแยกกัก 21 วัน

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ย้ำว่า ผู้ที่เป็นผู้ป่วยสงสัย ไม่ว่าจะมีไข้ หรือมีผื่น ต้องมีประวัติเชื่อมโยงกับทางระบาดวิทยาภายใน 21 วันอย่างใดอย่างหนึ่งทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ถึงจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร