ปลดล็อก “กัญชา” แค่เริ่ม…ราคาก็ร่วง

กัญชา
คอลัมน์ : จับกระแสตลาด

การปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ที่มีผลตั้งแต่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนและแวดวงธุรกิจไม่น้อย

สะท้อนจากการแจ้งการจดแจ้งผ่านแอป “ปลูกกัญ” ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ถล่มทลายถึงกับระบบล่ม

เพียงแค่ 5 วันหลัง สถิติการใช้งานแอป “ปลูกกัญ” ณ วันที่ 13 มิ.ย. 65 เวลา 7 โมงเช้า ที่ อย.รายงาน พบว่ามีจำนวนการเข้าใช้งานสะสมอยู่ที่ 35,751,572 ครั้ง และมีผู้ลงทะเบียนทั้งกัญชา กัญชง รวมทั้งสิ้น 735,932 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการออกใบรับจดแจ้งกัญชา 713,544 ใบ และใบรับจดแจ้งปลูกกัญชง 22,388 ใบ

จากวันแรก (9 มิ.ย.) ที่ประชาชนและผู้สนใจอยากจะปลูกกัญแห่เข้าแอปมากถึง 9,023,194 ครั้ง และมีการออกใบรับรองจดแจ้งไปเพียง 152,700 ใบ

เชื่อว่าตัวเลขนี้จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกสักระยะหนึ่ง

ความต้องการปลูกกัญชาที่มีมากมายราวกับ “เขื่อนแตก” ดังกล่าว จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ใครหลาย ๆ คนกระโดดเข้ามาเก็บเกี่ยว

เริ่มจากความเคลื่อนไหวของ บริษัท ณุศา ซีเอสอาร์ จำกัด ผู้ให้บริการกัญชาทางการแพทย์ ที่เปิดรับจองต้นกล้ากัญชา กัญชง ผ่านเว็บไซต์ โดยมีการจัดเซตเป็นชุดพร้อมดิน ปุ๋ย และต้นกล้ากัญชา ชุดละ 890 บาท และต้นกล้ากัญชงพร้อมชุดปลูก 990 บาท หรือหากต้องการซื้อเฉพาะต้นกล้ากัญชา ก็สามารถซื้อได้ในราคาเพียงต้นละ 90 บาท และต้นกล้ากัญชงราคาต้นละ 190 บาทเท่านั้น

ทั้งนี้ ณุศา ได้เตรียมต้นกล้าไว้ทั้งสิ้น 1 ล้านต้น เป็นกัญชา 5 แสนต้นและกัญชง 5 แสนต้น

เช่นเดียวกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้พัฒนาสายพันธุ์และปลูกกัญชาเบอร์ต้น ๆ ของประเทศในขณะนี้ ซึ่งได้มีการเตรียมต้นกล้ากัญชาสต๊อกไว้มากกว่า 1 ล้านต้น และเปิดให้ประชาชนผู้สนใจจอง

ซึ่งมีภาคธุรกิจ กลุ่มวิสาหกิจ เกษตรกร และประชาชน ติดต่อจองซื้อต้นกล้ากัญชาของแม่โจ้เป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวของวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่เป็นผู้ปลูกกัญชาหลาย ๆ แห่ง ผู้ที่อยู่ในแวดวงการปลูกกัญชา ได้ใช้ช่องทางเฟซบุ๊กในการโฆษณาขายเมล็ดกัญชา ผลิตภัณฑ์กัญชากันอย่างคึกคัก

นอกจากการขายเมล็ดพันธุ์แล้ว ยังมีการโฆษณาขายอุปกรณ์ปลูก อาทิ ดิน เต็นท์ปลูกพืช กระถาง ฯลฯ พร้อมการแนะนำวิธีเพาะเมล็ด และขั้นตอนและวิธีการปลูก

ยิ่งไปกว่านั้น บางรายยังถือโอกาสนี้ใช้ เฟซบุ๊ก ชักจูงให้เข้าร่วมลงทุนในโปรเจ็กต์กัญชา พร้อมระบุผลตอบแทนหรือรายได้ว่าเป็นหลักแสนต่อเดือน…ส่วนจะจริงหรือหลอกอย่างไร ต้องใช้วิจารณญาณให้ดีก่อนตัดสินใจควักกระเป๋าลงทุน

…นี่คือโอกาสใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น

และนี่ยังไม่นับรวม ใบอนุญาตผลิต (ปลูก) กัญชา ที่วิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกับโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ที่มีอยู่เดิม

ข้อมูลจากรายงานจากกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (10 มิ.ย.) ระบุว่า มีใบอนุญาตผลิต (ปลูก) รวมประมาณ 879 รายการ โดยจังหวัดที่มีการปลูกกัญชามากที่สุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.กาญจนบุรี รวมพื้นที่ขอปลูก 549,529 ตารางเมตร จำนวน 563,390 ต้น 2.เชียงใหม่ รวมพื้นที่ขอปลูก 9,061 ตารางเมตร 57,780 ต้น 3.บุรีรัมย์ รวมพื้นที่ขอปลูก 12,761 ตารางเมตร 39,474 ต้น 4.นครราชสีมา รวมพื้นที่ขอปลูก 60,865 ตารางเมตร 43,560 ต้น 5.สกลนคร รวมพื้นที่ขอปลูก 43,997 ตารางเมตร 25,032 ต้น

6.ปราจีนบุรี รวมพื้นที่ขอปลูก 12,760 ตารางเมตร 24,546 ต้น 7.ศรีสะเกษ รวมพื้นที่ขอปลูก 29,146 ตารางเมตร 15,804 ต้น 8.อุบลราชธานี รวมพื้นที่ขอปลูก 15,805 ตารางเมตร 11,047 ต้น 9.นครพนม รวมพื้นที่ขอปลูก 9,275 ตารางเมตร 6,815 ต้น 10.ร้อยเอ็ด รวมพื้นที่ขอปลูก 9,107 ตารางเมตร 9,526 ต้น

แต่อีกด้านหนึ่งก็เริ่มมีเสียงสะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่งของกัญชาที่หลาย ๆ คนอาจจะวาดหวังให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะช่วยปลุกหรือพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศในวันข้างหน้า

ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับใบอนุญาตผลิต (ปลูก) กัญชา ในจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า ตอนนี้อยากจะให้หน่วยงานราชการเข้ามารับช่วงหาตลาดให้ เพราะไม่มีตลาดรับซื้อที่ชัดเจน ที่สำคัญคือ ไม่สามารถจะแข่งขันกับวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมกับสถาบันการศึกษาได้

และที่สำคัญคือ ตอนนี้ราคากัญชาเริ่มตก จากช่วงที่ปลูกแรก ๆ ใบจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 15,000-30,000 บาท เนื่องจากมีคนปลูกเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการปลูกกัญชามีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการเครื่องดื่มรายหนึ่งแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ในแง่ธุรกิจที่นำกัญชามาเป็นส่วนผสมหรือส่วนประกอบดูไม่ค่อยจะมีความตื่นเต้นแล้ว เมื่อเทียบกับช่วงแรกที่เป็นกระแสที่ฟีเวอร์มาก และมีการแย่งซื้อใบหรือส่วนอื่น ๆ ของกัญชา อาจจะกล่าวได้ว่า ตอนนี้ตลาดเริ่มวายแล้ว ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้มีความรู้สึกว่า กินหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมกัญชาแล้วได้อะไร และมีราคาแพงกว่าอาหารหรือเครื่องดื่มปกติ

“เมื่อก่อนต้องวิ่งไปขอซื้อตามวิสาหกิจชุมชนรายใหญ่ ๆ หาซื้อยาก แถมราคาแพง ตอนนั้นใบราคาตั้งกิโลฯละ 15,000-17,000 บาท แต่ตอนนี้ราคาลดลงมาเหลือ 4,000-5,000 บาท และไม่ต้องไปวิ่งแย่งกันซื้อ เขาโทร.มาเสนอขายให้เลย และมีของพร้อมส่งทันที อีกส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการปลูกที่มีจำนวนมากขึ้น”

สอดคล้องกับความเห็นของ ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า “….เมื่อทุกคนปลูกกัญชาได้ ในอนาคตจะกลายเป็นสินค้าที่ไม่แตกต่างจากพืชชนิดอื่น ๆ หาซื้อกันได้ทั่วไป ส่วนในเรื่องของราคาจะปรับตัวลดลงหรือคงที่ ถ้าปลูกกันมาก ๆ สุดท้ายจะไม่มีใครได้เงิน”

นอกจากนี้ ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชารายใหญ่ในภาคอีสานรายหนึ่งยังแสดงความกังวลว่า นอกจากการปลูกกัญชาในประเทศที่จะมีจำนวนและปริมาณที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากแล้ว สิ่งที่น่ากังวลมากก็คือ การลักลอบนำเข้ากัญชาจากประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว โดยเฉพาะจังหวัดนครพนม บึงกาฬ

“เนื่องจากตอนนี้ กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษแล้ว โทษการลักลอบการนำเข้าก็จะลดลง จากยาเสพติดอาจจะลดลงเหลือเพียงความผิดฐานการลักลอบนำเข้าพืช และหากมีการลักลอบเข้ามาเป็นจำนวนมากก็จะทำให้ราคากัญชาที่ปลูกในประเทศได้รับผลกระทบ”

ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจกัญชารายหนึ่งกล่าวเสริมว่า นอกจากการลักลอบนำเข้ากัญชาจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ราคากัญชาที่ปลูกในประเทศมีปัญหาแล้ว ในอนาคตอันใกล้หลังจากที่ครบ 5 ปี ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ (5 ปีแรกอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออกได้เฉพาะหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานรัฐร่วมกับอื่น ๆ) มีความเป็นไปได้ที่กัญชาและกัญชงจากต่างประเทศ รวมทั้งประเทศจีน อาจจะถล่มเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ตอนนี้ยังมีสารซีบีดีสกัดที่หาซื้อกันได้ง่าย มีเปิดขายตามเว็บไซต์ ซึ่งตอนหลัง ๆ มานี้ราคาถูก ตกลิตรละประมาณ 40,000 บาทเอง จากเมื่อก่อนที่ขายลิตรละประมาณ 200,000 บาท

เมื่อตลาดเปิดกว้างและเสรีมากขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นราคากัญชาไทยจะเป็นอย่างไร

นี่อาจจะเป็นอีกมุมหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ได้คิดถึง

ต้องติดตามกันต่อไป