
เปิดวิธีแจ้งเหตุรำคาญ “กัญชา กัญชง” เจ้าหน้าที่รับร้องเรียนแล้วต้องดำเนินการอย่างไร หากพบเป็นเหตุรำคาญ ผู้กระทำความผิดมีบทลงโทษอย่างไรบ้าง
วันที่ 15 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้กลิ่นหรือควันจากกัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ (15 มิ.ย.) เป็นต้นไป หลังมีการปลดล็อกกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดTHC เกิน 0.2% ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
- หุ้นกู้ออกใหม่เดือน ธ.ค. บริษัทแห่ระดมทุน จูงใจจ่ายดอกเบี้ยสูง 7%
“ประชาชาติธุรกิจ” แนะนำวิธีการแจ้งเหตุรำคาญ รวมถึงบทลงโทษสำหรับผู้ก่อเหตุรำคาญ ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535
ขั้นตอนแจ้งเหตุรำคาญ
1. เขียนคำร้องในแบบคำร้องทั่วไปที่กำหนดไว้ โดยขอรับได้ที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตท้องที่ โดยให้ข้อความที่เขียนในคำร้องมีสาระสำคัญดังนี้
- ระบุวันเวลาและสถานที่ที่เขียนคำร้อง
- ชื่อ-สุกล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของท่าน ในฐานะผู้ร้องหรือผู้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ
- ระบุถึงสถานที่หรือชื่อ-สกุล ของเจ้าของสถานที่ (ถ้ารู้) ที่ตั้งของสถานที่ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ แนบแผนที่ตั้งประกอบด้วยได้จะเป็นการดี
- ระบุความต้องการ โดยเสนอและว่าต้องการให้ทางราชการดำเนินการอย่างไร
- ลงชื่อด้วยลายเซ็น พร้อมวงเล็บชื่อ-สกุลตัวบรรจง
2. ยื่นคำร้องดังกล่าวที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและ สุขาภิบาลของสำนักงานเขตท้องที่สุขาภิบาลประทับรับเรื่องและขอจดเลขที่รับวัน ที่รับไว้เพื่อติดตามต่อไป
3. หากได้มีโอกาสพบเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหรือได้รับ มอบหมาย ก็ขอให้เล่าเรื่องราวให้แก่เจ้าหน้าที่ดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนถูกต้องสำหรับการออกไปตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว
4. เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์เหตุ เดือดร้อนรำคาญนั้นๆ หากวินิจฉัยได้ว่าเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญจริง จะได้ดำเนินการจัดการให้มีการแก้ไขเพื่อระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญนั้นภายใต้ กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว และจะได้แจ้งผลการดำเนินการในขั้นต้นให้ทราบภายใน 2 วันทำการนับจากวันที่แจ้งตามข้อ 2
ขั้นตอนดำเนินการของเจ้าหน้าที่
1. เมื่อประชาชนที่ได้ไปพบเห็นเหตุรำคาญ สามารถร้องเรียนต่อเจ้าหน้าพนักงานท้องถิ่น หรือราชการส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้องได้
2. เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับการร้องเรียน จะทำการตรวจสอบว่า เรื่องร้องเรียนดังกล่าวเป็นเหตุรำคาญหรือไม่ โดยมีการดำเนินการ 2 กรณี ดังนี้
เมื่อตรวจสอบพบว่า ไม่ใช่เหตุรำคาญ ให้แจ้งผู้ร้องเรียนหรือประสานผู้ที่เกี่ยวข้อง และยุติการเรื่องร้องเรียนทันที
หากพบเป็นเหตุรำคาญ ให้ออกคำสั่งระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญทันที ตามมาตรา 27 และ 28 จากนั้นแจ้งทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง หากไม่มีการโต้แย้ง หรือดำเนินการตามคำสั่ง ให้รายงานผลการตรวจสอบต่อผู้บริหาร
แต่หากไม่ดำเนินการตามคำสั่ง ให้เปรียบเทียบปรับดำเนินคดีทางศาล
ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน
ผู้ก่อเหตุรำคาญมีโทษอย่างไร
ผู้ที่ถูกร้องเรียนเป็นผู้ก่อเหตุรำคาญ จะมีบทลงโทษตามกำหมาย มาตรา 74 ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 28 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศที่ออกตามมาตรา 28/1 วรรคสอง
โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 23 มาตรา 27 วรรคสอง หรือมาตรา 28 วรรคสอง
ผู้กระทำผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เหตุรำคาญจากกัญชา กัญชง คืออะไร
สำหรับความหมายของเหตุรำคาญตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 นั้น กัญชา กัญชง ถือเป็นการกระทำที่เข้าข้ายการก่อให้เป็นเหตุเสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่ กลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด