บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ราชาสินค้าปัจจัยสี่ ไขความลับธุรกิจชีวิตวาระสุดท้าย

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา
บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ก้าวสู่วัย 85 ปี เครือสหพัฒน์ ขึ้นสู่ปีที่ 80 กุมบังเหียนในตำแหน่ง “ประธานเครือสหพัฒน์” กิจการที่มีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจําวันของผู้คนมากกว่า 30,000 รายการ

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาพิเศษกับ “บุณยสิทธิ์” อีกครั้ง เพื่ออัพเดต เรื่องราวชีวิต-กิจการ ผ่านความเชื่อ ความหวัง ความฝัน และการกำหนดวันแห่งวาระสุดท้ายของอายุขัยตัวเอง ไว้ที่รหัสลับของชีวิต 8888

ราชาสินค้าปัจจัย 4 ขึ้นปีที่ 80

บุณยสิทธิ์ มีตำแหน่งเฉพาะตัวและฉายา ราชาสินค้าอุปโภค บริโภคของเมืองไทย ด้วยหลักคิด “ฉันไม่ได้หวังอะไร หวังเพียงเป็นที่หนึ่ง”

“คำว่าเป็นที่หนึ่งในวัย 85 ปี คิดว่า ไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องชนะที่หนึ่ง และทุกอย่างต้องใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่ง แต่ต้องทำสินค้าหรือทำอะไร ที่คนอื่นยังไม่ได้ทำ คนอื่นไม่ได้มอง แต่เราเห็นก่อน เรารู้ก่อน เราทำก่อน เป็นคนที่หนึ่ง ทำเร็ว เป็นคนแรก และเราทำดีที่สุด ก็เป็นที่หนึ่งแบบที่ฉันได้เป็น”

หลักชัยชีวิต ความเชื่อที่นำทางให้ “บุณยสิทธิ์” เดินมาถึงวันนี้ คือ คำสอนของพ่อ คือ นายห้างเทียม โชควัฒนา

“คำสอนของพ่อ ที่ฉันจำได้ขึ้นใจ ไม่ใช่ปรัชญา แต่มี 4 คำภาษาจีน ที่ลึกซึ้ง เรียนรู้ทั้งชีวิตก็ยังไม่หมด คือ แหม่ หมั่ง คิง ตั่ง แปลเป็นไทยว่า เร็ว ช้า เบา หนัก 4 คำนี้พ่อไม่ได้สั่งหรือสอนทีละคำ หรือเพียงแต่พูดไปเท่านั้น แต่ท่านทำให้ดูมากกว่า”

“เครือสหพัฒน์ของเราสมัยก่อน ทำธุรกิจเหมือนการใช้เงินหมุน ไม่ใช่เอาเงินสดไปใช้ลงทุน ธุรกิจครอบครัว บางครั้งก็กู้เงินมาลงทุน คนอื่นบอกว่าทำแบบนี้สักวันจะล้มละลายหรือไม่ แต่เราก็ผ่านพ้นวิกฤตมาได้หลายครั้ง เพราะเราไม่ลงทุนอะไรที่มันโอเวอร์ ทำให้เราแก้ปัญหาได้ทันการณ์”

ตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

บุณยสิทธิ์ ในเวลานี้เขาบอกว่า มีตำแหน่งที่ไม่ได้ใช้อำนาจในสั่งการอะไรในเครือสหพัฒน์ ส่วนใหญ่จะให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษามากกว่า ถ้าไม่จำเป็นจะไม่สั่งการอะไร

อนาคตหากเครือสหพัฒน์ เป็นบริษัท 100 ปี หวังว่า อนาคตเราจะเป็นกิจการที่ขายของทุกอย่าง ตามความต้องการของผู้ซื้อ ครอบคลุมมากกว่าปัจจัย 4 ของคนไทย อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และขายสินค้าอื่น ๆ เช่น อาจจะทำธุรกิจขายคอนโดมิเนียม สินค้าเทคโนโลยี

อนาคตจากนี้ไป กิจการเครือสหพัฒน์ “การรวมเข้าด้วยกันจะดีกว่า พูดให้เห็นภาพคือ จากปัจจุบันเครือสหพัฒน์มี 300 บริษัท จะไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 500 หรือ 1,000 บริษัท แต่จะถูกรวมเข้าด้วยกันเหลือ 200 หรือ 100 บริษัทเท่านั้น”

น่านน้ำใหม่ปัจจัยที่ 5 ธุรกิจเทค

เจ้าสัวสหพัฒน์ประเมินว่า “สินค้าที่ขายได้ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่คนรุ่นฉันอีกต่อไป คือ กลุ่มสินค้าที่เป็นเศรษฐกิจดิจิทัล digital economy AI IOT กลุ่มสินค้าที่ถูกใจ ถูกซื้อจากในโซเชียลเน็ตเวิร์ก”

“หลังผ่านยุควิกฤตโควิด-19 คนรุ่นที่จะฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ จะเป็นคนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งฉันต้องสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงต่อ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

ทั้งปัญหาสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียกับยูเครน ดอกเบี้ยขาขึ้น และเงินเฟ้อ ปัญหาและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นให้คำปรึกษาลูก หลาน ไปว่า อะไรดี อะไรควร สินค้าตัวไหนควรทำเร็ว ทำช้า ทำเบา ทำหนัก

ธุรกิจอาหารต้องทำเร็ว

วิสัยทัศน์ของประธานเครือสหพัฒน์ คือ สินค้าที่ควรทำเร็ว คือ กลุ่มสินค้าของกิน อาหาร น่าจะขยายตัวได้ดีที่สุดในเวลานี้ รวมทั้งพวกกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่ควรลงทุน

ในภาวะเศรษฐกิจหลังโควิด-19 การสร้างแบรนด์ใหม่ ๆ เป็นเรื่องยาก จะเติบโตได้ต้องรวมพลังกัน ต้องประหยัด และถ้าวิกฤตหนักไปกว่านี้ ก็ต้องปรับโครงสร้างองค์กร ลดขนาดกิจการ ลดจำนวนพนักงาน แต่วิกฤตจะไม่เกิดกับสหพัฒน์ เพราะเรารัดเข็มขัดถึงที่สุด

กับผู้บริหารฝ่ายการเมือง การติดต่อกับรัฐบาล ก็เช่นกัน ฉันคิดว่า เมื่อมีปัญหา เราทำธุรกิจ เราต้องมีความอดทน

ฉันผ่านมาตั้งแต่ยุคของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีนโยบาย น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ ผ่านถึงยุคป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโชติช่วงชัชวาล มาถึงยุคนายอานันท์ ปันยารชุน ก็เป็นยุคที่เศรษฐกิจดี เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน ที่มีนโยบายที่ถือว่าดี คือ การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี

การเมืองดีธุรกิจดี-ดีลราคามาม่า

เจ้าสัวสหพัฒน์กล่าวถึงการปรับราคาสินค้าในเครือ ยุคต้นทุนวิกฤตว่า “สำหรับฉันคิดว่าถ้ารัฐบาลดี เศรษฐกิจก็เดินเร็ว ถ้ารัฐบาลไม่ค่อยดี เราก็เดินช้าหน่อย ไม่จำเป็นต้องเดินเร็ว ถ้าใครเป็นพ่อค้าก็ต้องเข้าใจได้ กับทุกสถานการณ์”

“สหพัฒน์ต้องร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว เพียงแต่กระทรวงพาณิชย์ต้องมีเหตุมีผล ถ้าบังคับไม่ให้ขึ้นอย่างเดียว มีโอกาสที่สินค้าจะขาดแคลน เพราะวัตถุดิบขึ้นราคา คงเหมือนกับวัคซีนที่ต้องไปแย่งซื้อ ในที่สุดก็จะเป็นปัญหา”

“การขึ้นราคา 1 บาทต่อซอง จะคุ้มหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ ขณะนี้ภาวะต้นทุนถือว่ารุนแรงมาก ถ้าขึ้นราคาไม่ได้ ก็ต้องผลิตให้น้อยลง และถ้ารัฐบาลคุมราคาแบบนี้ มีโอกาสที่จะทำให้สินค้าในประเทศขาดตลาด ซึ่งอาจเกิดแตกตื่น และตอนนั้นยิ่งแก้ยากกว่า”

ประธานเครือสหพัฒน์คาดการณ์จากประสบการณ์ว่า “กระทรวงพาณิชย์อาจยังไม่พิจารณาเวลานี้ คงต้องรอให้ผ่านช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปก่อน”

“นอกจากมาม่าแล้ว ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่อยู่ในพอร์ตสหพัฒน์ มีต้นทุนสูงขึ้น ก็ได้ขอกระทรวงพาณิชย์ในการปรับราคาสินค้าเช่นกัน ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ใช่สินค้าควบคุมเริ่มปรับขึ้นแล้ว แต่ไม่มาก และอนาคตสินค้าจะแพง จากนี้ต้องพยายามพัฒนาสินค้าให้ราคาถูกลง เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง”

สหพัฒน์ปรับโครงสร้าง

มุมมองหรือปรัชญาอย่างง่าย ๆ ที่เจ้าสัวบุณยสิทธิ์จะถ่ายทอดให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ นอกจากคำว่า “เร็ว ช้า เบา หนัก” แล้ว การทำธุรกิจ “อยากจะให้เราทำด้วยความซื่อสัตย์ อย่าคิดแต่เอาผลประโยชน์อย่างเดียว ควรจะคิดว่า เราต้องสร้างสินค้าให้ดี สร้างคนให้ดี สร้างสังคมให้ดี”

การค้าขายแต่ละยุคไม่เหมือนกัน ธุรกิจในเครือสหพัฒน์มีมากกว่า 100 แบรนด์ ทุกครั้งที่มีวิกฤต ถ้าเรามองลึกลงไปก็เป็นโอกาส อยู่ที่ว่าเราปรับตัวเป็นหรือไม่เป็น ถ้าปรับตัวดีก็คือโอกาส ถ้าผ่านพ้นได้ ก็คือโอกาส

แม้ว่าครั้งนี้นับเป็นการปรับตัวที่ยากลำบากมากที่สุดยุคหนึ่ง แต่ฉันคิดว่า เมืองไทยเราวันนี้ยังไม่ถึงขั้นสงคราม วิกฤตก็คือโอกาสของธุรกิจเมืองไทย หลังจากยุคโควิด-19 คือ อาหาร การส่งออก การท่องเที่ยว

เมืองไทยอยู่ในประเทศโซนร้อน มีโอกาสปรับตัวทางธุรกิจมากกว่าประเทศอื่น ๆ เราอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิศาสตร์ใหม่ทางการค้า เราไม่มีความเสี่ยงเรื่องสงคราม คนไทยต้อนรับแขกเก่ง มีโอกาสสร้างเศรษฐกิจซอฟต์พาวเวอร์

เทรนด์ของสินค้าเครือสหพัฒน์ จากนี้กลุ่มสินค้าเฮลท์แคร์จะมาแรง เรามีสินค้ากลุ่มนี้หลายรายการ แถมมีวิธีการขายแบบใหม่ ๆ ในช่องทางออนไลน์ ยังมีการขายแบบซับสคริปชั่น (subscription) ขายระบบสมาชิก แทนการขายสินค้าเป็นรายชิ้นเหมือนในอดีต หรือการขายผ่านตู้หยอดเหรียญ

อายุขัย 88 ปี 8 เดือน 8 วัน

ประธานเครือสหพัฒน์กะเกณฑ์ชีวิตของตัวเองไว้ด้วยว่า “อายุฉันในวันที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 86 หลังจากครบรอบวันคล้ายวันเกิดในเดือนกรกฎาคม 2565 ไปแล้ว ฉันจะเหลือเวลาการทำงานอีก 38 เดือน เท่ากับ 88 ปี ฉันต้องตั้งเวลาไว้เผื่อ ความหมายคือเมื่อไหร่จะไปเราก็ไม่รู้ แต่ถ้าเราพยายามและมีเป้าหมาย เราอาจจะได้ไปถึงตรงนั้น”

“ฉันอายุเยอะแล้ว หากล้มก็อาจจะจากไปทันที หรืออะไรที่มันมีโอกาสที่จะทำให้ฉันมีอันเป็นไป ฉันอาจจะเป็นอัลไซเมอร์ มะเร็ง มันจากไปได้ทันที แต่เราทำอย่างไรให้ตายได้ตามที่เราคิด”

“มีคนถามฉันมากเช่นกันว่า ทำไมถึงนับถอยหลังวันสิ้นอายุขัย ฉันมักตอบว่า คนที่อายุยังน้อย คิดว่าการตายไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่คนที่อายุสูง ๆ การตายเป็นเรื่องธรรมดา พร้อมที่จะจากไปได้อยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ต้องพยายามรักษาโรค ดูแลตัวเอง กินระวัง อย่าให้มากไป เพื่อจะให้ชีวิตที่เหลือ เป็นไปตามตัวเลขที่เราวางไว้ แต่ต้องเข้าใจว่า เรื่องตายเราหนีไม่พ้น เราจะไปกลัวทำไม”

“ฉันจึงเคานต์ดาวน์ นับถอยหลังชีวิต มาเรื่อย ๆ ตัวเลข 8888 เป็นความลับของชีวิตฉัน”