กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์ ประวัติ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตอนที่ 1-2

กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์

หมายเหตุ : อัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ผ่านการสัมภาษณ์และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashino Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในเดือนกรกฏาคม 2564 ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ติดตามอ่านต่อเนื่อง 30 ตอน ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และทางเว็บไซด์ www.prachachat.net

ตอนที่ 1 ร่วมอยู่ร่วมเจริญ

ฉัน…บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เกิดในประเทศไทย กำลังก้าวเข้าวัย 84 ปี เป็นประธานกลุ่มบริษัทเครือสหพัฒน์ในประเทศไทย

ธุรกิจของเครือสหพัฒน์เกี่ยวข้องกับสินค้าในชีวิตประจําวันของผู้คนอย่างมาก ธุรกิจของเราผลิตและจําหน่ายสินค้ามากกว่า 30,000 รายการ ตั้งแต่ผงซักฟอก ยาสีฟัน เครื่องสําอาง ไปจนถึงบะหมี่กึ่งสําเร็จรูป เครื่องดื่ม และเสื้อผ้า ดังนั้น ไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเลยว่า ทุกครัวเรือนในเมืองไทยจะมีสินค้าของเครือสหพัฒน์อย่างน้อย 3 หรือ 4 ชิ้น

บริษัทในเครือกว่า 300 บริษัท ดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการบริหารและพัฒนาสวนอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ การค้าปลีก ธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งยอดขายรวมทั้งหมดของเครือยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลข แต่ยอดขายรวมของปี 2563 เฉพาะ 18 บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2563 มีมูลค่ามากกว่า 1.026 แสนล้านบาท (ประมาณ 360,000 ล้านเยน)

ต้นกําเนิดของเครือสหพัฒน์

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2485 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ คุณพ่อเทียม โชควัฒนา เปิดบริษัทค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคในกรุงเทพฯ ชื่อ “เฮียบเซ่งเชียง” ความหมายคือ “ความร่วมมือจนเกิดเป็นความสำเร็จ และก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง” และต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “สหพัฒนพิบูล” อันมีความหมายเช่นเดียวกับชื่อเดิม ซึ่งเป็นบริษัทหลักในเครือที่จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคมาจนทุกวันนี้

ในจำนวน 300 บริษัทในเครือ ประมาณ 80 บริษัทเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นในหลากหลายธุรกิจ เช่น Lion, Wacoal, Kewpie, Gunze, S.T. Corp., Otsuka Pharmaceutical, Lawson ฯลฯ ซึ่งฉันไม่คิดว่าจะมีบริษัทใดในโลกที่ทำการร่วมทุนกับญี่ปุ่นมากเท่าเรา

ประมาณปี พ.ศ. 2499 เป็นปีที่เริ่มสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับบริษัทญี่ปุ่น ขณะนั้นฉันเริ่มรู้ภาษาญี่ปุ่นพอสมควร หลังจากที่ฉันถูกส่งไปอยู่โอซากาในฐานะคนซื้อสินค้าให้บริษัทเป็นเวลากว่า 2 ปี ฉันจึงได้เป็นล่ามให้คุณพ่อที่บินมาจากไทยเพื่อมาเยี่ยมชมโรงงาน Yoshida Kogyo (ปัจจุบัน คือ YKK) ในจังหวัดโทยามะ ประเทศญี่ปุ่น

ขณะนั้นกางเกงเริ่มเป็นที่นิยมในประเทศไทย คุณพ่อของฉันเห็นว่าหากสั่งซื้อซิปเข้าไปจํานวนมากจะต้องขายได้อย่างแน่นอน จึงได้เจรจาธุรกิจกัน เมื่อจบการเจรจาทางธุรกิจ ผู้ก่อตั้ง YKK ประธาน Tadao Yoshida พาพวกเราไปที่เรียวกัง ซึ่งเป็นโรงแรมแบบญี่ปุ่นในบริเวณใกล้เคียง หลังจากแช่ตัวในบ่อน้ำพุร้อน ขณะที่พวกเขาดื่มสาเกในชุดยูกาตะ และเพลิดเพลินกับอาหารทะเล ประธานโยชิดะพูดให้ฉันฟังว่า

“ในการทำธุรกิจไม่ควรคิดมากว่าฝั่งไหนจะได้กำไรเท่าไหร่ หากคุณผลักน้ำให้ไหลออกไป มันก็จะไหลไปรอบ ๆ และในที่สุดน้ำจะไหลกลับมาหาเรา นั่นล่ะคือกําไร”

“การไหลเวียนของความดี” เป็นปณิธานของบริษัท YKK มาจนทุกวันนี้นั่นคือ ความเจริญรุ่งเรืองจะไม่เกิดกับท่าน หากท่านไม่ให้กำไรกับผู้อื่น ตัวฉันขณะนั้นในวัย 20 ปี ยังคงจำคำพูดนั้นได้ดี หลังจากนั้น YKK ได้ร่วมทุนทำธุรกิจการผลิตในประเทศไทยกับบริษัทที่น้องชายคุณแม่แตกแขนงออกจากเครือสหพัฒน์ และยังคงดําเนินธุรกิจต่อมาจนถึงทุกวันนี้

“ความจริงใจและความไว้วางใจต้องมาก่อน” เป็นสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งได้กลายเป็นนโยบายทางธุรกิจของฉันจนถึงทุกวันนี้ ไม่คิดว่าจะต้องทำกำไรทันที ฉันร่วมลำบากกับพันธมิตรที่ร่วมทุนด้วยกัน ไม่ได้มองว่าสินค้านี้ไม่ทำกำไรแล้วจะไม่ลงทุน หากเห็นว่าสินค้านี้เป็นสินค้าที่ดี มีอนาคต แม้ลำบากก็จะทำ นั่นคือสิ่งที่คุณพ่อของฉันผู้สร้างบริษัทในเครือสหพัฒน์ รวมถึงตัวฉันที่รับช่วงต่อมา ยึดถือเป็นคติประจำใจในการทำงาน

ต่อมาไม่นานฉันก็ได้รับการขนานนามว่า “ราชาสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย” เหมือนที่คุณพ่อเคยได้รับ บ้างก็ขนานนามฉันว่า “สะพานเชื่อมธุรกิจของไทยและญี่ปุ่น” แม้จะรู้สึกเกินตัวไป แต่ไม่นานฉันก็รู้สึกภูมิใจกับฉายานี้

ด้วยประสบการณ์การทำธุรกิจร่วมกับญี่ปุ่นตลอดครึ่งชีวิตของฉัน ผ่านยุคที่ทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่นต่างได้รับความเสียหายจากสงคราม หากฉันสามารถถ่ายทอดเส้นทางของความร่วมมือจนเกิดเป็นความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองได้คงจะเป็นการดีไม่น้อย

ตอนที่ 2 ครอบครัวชาวจีน

ปู่ที่ข้ามทะเลมายังกรุงเทพฯ และพ่อที่แยกตัวออกมาเปิดร้านเอง

ประวัติความเป็นมาของครอบครัว “โชควัฒนา” ในประเทศไทย เริ่มขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2443 เมื่อปู่ของฉัน ลี้ฮกเปี้ยว ลูกชายคนโตของเกษตรกรในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ย้ายถิ่นฐานไปกรุงเทพฯพร้อมกับครอบครัว ท่านเป็นหนึ่งในชาวจีนที่กระจัดกระจายหนีความยากจนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของเอเชีย

ปู่ของฉันเป็นคนที่ร่างกายแข็งแรง ทำงานทุกประเภทเพื่อหาเลี้ยงชีพ แม้แต่การขายไอศกรีมตามร้านแผงลอยก็เคยทำ

ปู่เช่าบ้านบนถนนสำเพ็งซึ่งเป็นย่านค้าส่งในเยาวราช เป็นแหล่งที่อยู่ของคนจีน ปู่ทำงานตลอดเวลา สมัยนั้นคนจีนโพ้นทะเลที่จะส่งเงินไปยังบ้านเกิดของพวกเขา จะใช้การโอนเงินใต้ดินที่มีค่าธรรมเนียมต่ำถูกกว่าธนาคาร ปู่ทำงานเป็นธุรการได้รับเงินเดือน 30 บาทต่อเดือน ราคาก๋วยเตี๋ยวที่แผงลอยตอนนั้นอยู่ที่ 3 สตางค์ ซึ่งราคาก๋วยเตี๋ยวตอนนี้อยู่ที่ 50 บาท ดังนั้น หากเทียบเงินเดือนปู่เป็นเงินตอนนี้น่าจะประมาณ 50,000 บาท (ประมาณ 170,000 เยน)

ความโชคดีมาหาปู่ของฉันที่ทํางานหนักเพื่อครอบครัว ท่านถูกทั้งลอตเตอรี่ที่ซื้อในตอนเช้าและตอนเย็น 2 ครั้งในวันเดียวกัน ปู่ได้รับรางวัลมากกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งปู่ได้เปิดร้านขายข้าว น้ำตาล และแป้งสาลีให้น้องชาย 6 คน ส่วนปู่ของฉันยังคงทํางานธุรการต่อไป

ร้านนี้ปู่ของฉันเป็นเจ้าของ แต่บริหารโดยน้อง ๆ เพราะปู่เป็นคนรักครอบครัว แต่ด้วยร้านประสบภาวะขาดทุนค่อนข้างมาก จึงได้ให้ลูกชายคนที่ 3 ของปู่ คือ พ่อของฉัน เทียม โชควัฒนา (ลี้เฮงเทียม) เข้าไปทำงานตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น

เมื่อพ่อฉันเข้าไปในร้าน อาคนหนึ่งพูดดูถูกกับพ่อว่า

“อั๊วเป็นผู้ก่อตั้งตัวจริง ครอบครัวมีชีวิตที่ดีเพราะอั๊วทำงานหนัก ถ้าไม่มีอั๊วอย่างลื้อก็เป็นได้แค่คนข้างถนน”

“ให้ลื้อทำอะไรก็ไม่รอด ต่อให้แต่งงานก็ไม่สามารถดูแลลูกเมียลื้อได้หรอก !”

ความรู้สึกของความอัปยศอดสูในขณะนั้นเหมือนจุดเพลิงในใจ พ่อของฉันสาบานในใจว่า วันหนึ่งท่านจะต้องประสบความสำเร็จให้ได้ ท่านมองดูลูกพี่ลูกน้องของท่านซึ่งไม่ค่อยได้ทำงาน แต่ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาหรือเรียนต่อเมืองนอก ส่วนท่านต้องทำงานหนักเจียนตาย ในเวลานั้นมีเพียงพ่อที่แบกกระสอบน้ำตาลหนัก 100 กิโลกรัมได้ด้วยตัวคนเดียว

คุณพ่อไม่เพียงแต่เป็นคนร่างกายแข็งแรง แต่ท่านยังเป็นคนช่างสังเกต สะสมความรู้เกี่ยวกับสินค้า ตลาด ผู้ซื้อ ผู้ขาย และเรียนรู้วิธีการทำธุรกิจด้วย

เนื่องด้วยร้านไม่มีระบบบัญชีและการจัดการสินค้าคงคลัง ทุกอย่างไม่เป็นระเบียบ สินค้าถูกญาติหยิบออกไปโดยพลการเพื่อแลกเป็นเงินบ่อย ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างปู่ของฉันและน้อง ๆ ค่อย ๆ ระหองระแหง ปู่ของฉันจึงแยกตัวจากน้อง และเปิดร้านใหม่ด้วยตัวเองในปี พ.ศ. 2479 ซึ่งตอนนั้นพ่อของฉันอายุ 20 ปี

อย่างไรก็ตาม ร้านที่เปิดใหม่นี้ยังจำหน่ายข้าวและน้ำตาลเช่นเดียวกับน้องของปู่ พ่อของฉันค่อย ๆ เริ่มตั้งคําถามกับธุรกิจที่ใช้แรงกายหนักมาก แต่ได้รับผลกําไรเพียงเล็กน้อย พ่อของฉันชักชวนปู่หลายครั้งให้เปลี่ยนแปลง เพราะท่านเชื่อว่าการนำเข้าของใช้ในชีวิตประจําวัน เช่น อาหาร เสื้อ แปรงสีฟัน จะทำกำไรได้แน่นอน ถึงอย่างนั้นปู่ก็ไม่เห็นด้วย และยืนกรานว่าเป็นสินค้าไม่จำเป็นและไม่เร่งด่วนในประเทศไทย

ในที่สุดพ่อของฉันตัดสินใจที่จะแยกออกจากร้านของปู่ และเปิดร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดของตัวเองชื่อ ร้านเฮียบเซ่งเชียง ที่มุมถนนสำเพ็งในปี พ.ศ. 2485 อันเป็นจุดเริ่มต้นของเครือสหพัฒน์