กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์ ประวัติ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตอนที่ 8

กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์

หมายเหตุ : อัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ผ่านการสัมภาษณ์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ติดตามอ่านได้ใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ และทางเว็บไซต์ www.prachachat.net

บทที่ 8 มหาวิทยาลัยชินไซบาชิ

6 ปีแห่งการค้นพบเป้าหมายของชีวิต
สร้างสิ่งที่ติดตัวตลอดไปจากวัฒนธรรม ภาษา อาหาร

หลังผ่านการทำงานเป็นจัดซื้อที่บริษัทเคียวโก ทำให้เริ่มเข้าใจความสนุกในการทำธุรกิจ สำหรับฉันที่เริ่มช่วยธุรกิจครอบครัวตามที่พ่อบอก การอยู่โอซากา 6 ปีทำให้ได้พบเป้าหมายในชีวิต และในขณะเดียวกัน การใช้ชีวิตในโอซากาทำให้ได้เจอกับสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน ฉันจะเล่าย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่อาศัยอยู่ตอนนั้น

สถานที่พำนักในช่วงแรกคือ Hyotan-yama ในโอซากา อยู่ติดกับชายเขตแดนจังหวัดนารา ซึ่งบริษัทเคียวโกได้เช่าบ้านไว้ ฉันอาศัยอยู่กับพนักงานรุ่นพี่คนไทยที่มาก่อนหน้า เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ไม่สะดวกเพราะไม่มีก๊าซเข้าถึง ปีที่สองฉันจึงย้ายไปอยู่ด้านใต้ของโอซากา ซึ่งปัจจุบันคือเขต Sumiyoshi Tezuka-yama บริษัทเคียวโกได้ซื้อที่ดินและสร้างเป็นหอพักขึ้นมา ซึ่งในภายหลังได้ยินว่าขายไปและทำกำไรได้มากทีเดียว

ฉันออกจากบ้านเวลา 06.30 น. และถึงบริษัทเวลา 08.00 น. เลิกงาน 17.00 น. ถ้าไม่มีงานเลี้ยงมื้อเย็นข้างนอกก็จะถึงบ้านราว ๆ 18.30 น. ที่เมืองไทยไม่ได้มีเวลาเข้า-ออกงานที่แน่นอน ทำให้การทำงานที่บริษัทที่มีข้อบังคับชัดเจนแบบนี้เป็นเรื่องแปลกใหม่

ที่หอพักจะมีแม่บ้านที่ฉันเรียกว่า คุณยาย เป็นคนทำอาหารเช้าและเย็นให้ มีทั้งข้าว ซุปมิโซะ ของต้ม ของทอด เรียกได้ว่าครบครันทีเดียว บางครั้งท่านก็ทำสุกี้ยากี้ที่ฉันชอบให้ทาน

เมื่อคิดถึงรสชาติอาหารไทยก็จะราดน้ำปลาลงไป ในสมัยนั้นที่โอซากายังไม่มีร้านอาหารไทย ที่โตเกียวมีอยู่ร้านหนึ่งแถวกินซ่า ซึ่งฉันมักจะแวะไปถ้าต้องเข้าไปทำงานที่โตเกียว

เมื่อมีพ่อค้าขายส่งจากเมืองไทยเดินทางมา ฉันจะรับหน้าที่เป็นคนพาไปที่ต่าง ๆ ซึ่งสถานที่นิยมใช้รับแขกมักเป็นร้านสเต๊กเนื้อ Suehiro ในสมัยนั้นน่าจะราว ๆ 400 เยน นอกจากนี้ ก็ยังมีร้านสุกี้ยากี้ ร้านเทมปุระ ลูกค้าทุกคนจากไทยก็ประทับใจเช่นกัน

ตอนมาโอซากาช่วงแรก ฉันพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย ในบริษัทเคียวโกเราสื่อสารกันด้วยวิธีเขียนตัวอักษรคันจิ ในบรรดาพนักงาน มีพนักงานสูงอายุคนหนึ่งที่เคยไปอยู่เมืองจีน ชื่อคุณวากาบายาชิ ซึ่งเก่งภาษาจีน เลยได้ทำงานด้วยกันบ่อย ๆ และก็ได้ฝึกเรียนพูดภาษาญี่ปุ่นกับเขา ส่วนตัวอักษรฮิรางานะและคาตากานะฉันเรียนด้วยตัวเองจากหนังสือ ในภายหลังภาษาญี่ปุ่นนี้เป็นสิ่งช่วยฉันในการสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทร่วมทุนจากญี่ปุ่น

นอกจากนี้ คุณวากาบายาชิก็ยังสอนเกมหมากล้อมให้ด้วย พวกเรามักเล่นกันตอนกินข้าวเสมอ เกมหมากล้อมเป็นเกมที่ไม่มีทางจะชนะได้ 100% บางพื้นที่ต้องยกให้ฝั่งตรงข้าม ส่วนบางพื้นที่ก็ต้องเอาชนะเพื่อไม่ให้เกิดการชนะในสนามแต่แพ้ในสงคราม กลยุทธ์หรือการตัดสินใจมีส่วนสำคัญในแต่ละสถานการณ์ มันเหมือนกับชีวิตและการทำธุรกิจเลยทำให้ฉันหมกมุ่นอยู่กับมัน

ฉันจบแค่ชั้นมัธยมต้น แต่ถ้าโดนถามก็มักจะตอบว่า “ฉันจบมาจากมหาวิทยาลัยชินไซบาชิ” การทำงานทำให้ได้สัมผัสกับประเพณีและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ประสบการณ์ที่โอซากาเป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้ด้วยเงิน

ในแต่ละวันฉันได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องมีวันจบการศึกษา บริษัทเคียวโกเริ่มใหญ่ขึ้นและเริ่มมีการพูดถึงการเปิดสาขาที่ไทย ถ้าเป็นเช่นนั้นฉันก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องอยู่ประสานงานที่โอซากาอีกต่อไป ผู้ประกอบการญี่ปุ่นเองก็เริ่มหาทางไปต่างประเทศด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านบริษัทเคียวโก และเริ่มอยากติดต่อโดยตรงเองกับสหพัฒน์ ฉันเริ่มรู้สึกไม่ดีกับการที่มีการแข่งขันกันเพื่อความก้าวหน้าภายในบริษัทเคียวโก ในภายหลังพ่อของฉันได้ยกหุ้นที่มีในบริษัทเคียวโกให้กับคุณโอคาดะ และถอนตัวออกมา

ในตอนนั้นฉันอายุ 23 ปี ฉันได้ใช้ชีวิตที่โอซากามาจนอายุของฉันเท่ากับ 1 ใน 4 ของชีวิตแล้ว ฉันเริ่มมีความคิดว่าอยากนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากญี่ปุ่นกลับไปใช้ทำงานที่ไทย พ่อไม่ได้เรียกฉันกลับประเทศ แต่ฉันขออนุญาตและตัดสินใจกลับเมืองไทยด้วยตนเองในปี พ.ศ. 2503 ฉันออกจากโอซากาด้วยความรู้สึกที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และความทรงจำ