กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์ ประวัติ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตอนที่ 7

กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์

หมายเหตุ : อัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ผ่านการสัมภาษณ์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ติดตามอ่านได้ใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ และทางเว็บไซต์ www.prachachat.net

บทที่ 7 มาถึงญี่ปุ่น

งานจัดซื้อและผู้ประสานงาน
มองหาสินค้าที่ขายดีในไทยและสั่งซื้อเข้ามา

ในปี พ.ศ. 2497 ฤดูใบไม้ผลิ สายการบิน Pan American บินจากกรุงเทพฯใช้เวลา 6 ชั่วโมงถึงฮ่องกง เนื่องจากมีบริษัทสาขาของสหพัฒนพิบูลอยู่แล้ว ฉันจึงได้ใช้เวลาอยู่ที่ฮ่องกง 1 สัปดาห์ และคุณพ่อได้ซื้อชุดสูท รองเท้า และของที่จำเป็นให้ฉัน

จากฮ่องกงไปโตเกียวใช้เวลา 16 ชั่วโมง ระหว่างทางแวะเติมน้ำมันที่โอกินาวา ในตอนนั้นโอกินาวายังเป็นพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเครื่องลงจอดต้องลดหน้าต่างผู้โดยสารลงและมองไม่เห็นด้านนอก แน่นอนที่เราไม่สามารถลงจากเครื่องได้ เมื่อเติมน้ำมันเสร็จเครื่องก็บินออกทันที ฉันมาถึงโตเกียวประมาณ 2 ทุ่ม ก่อนออกเดินทางได้ส่งโทรเลขมาไว้แล้ว จึงมีพนักงานจากบริษัทเคียวโกสาขาโตเกียวประมาณ 10 คนมารอรับ

ฉันดื่มด่ำทิวทัศน์ของโตเกียวที่มองเห็นจากภายในรถ เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯฮ่องกงก็เป็นเมืองใหญ่ที่น่าประทับใจแล้ว แต่โตเกียวยิ่งน่าประทับใจมากขึ้นไปอีก เมืองในตอนกลางคืนยังมืด สงครามเกาหลีเพิ่งจบลงไม่นาน จึงยังเห็นทหารสหรัฐอเมริกาอยู่บ้าง

จากโตเกียวมุ่งหน้าสู่โอซากา ตอนนั้นยังไม่มีชินคันเซ็น จึงต้องนั่งรถไฟสาย Tokaido ถ้ามองจากหน้าต่างรถไฟสามารถชมดอกซากุระที่เพิ่งจะผลิบาน และภูเขาไฟฟูจิที่เคยเห็นแต่ในรูปได้

ทิวทัศน์ชนบทก็มีความแตกต่างจากที่ไทยมากเช่นกัน บ้านที่กระจายกันอยู่มีความเป็นระเบียบอย่างมาก สิ่งที่ทำให้ประทับใจเมื่อมาอยู่ญี่ปุ่นคือ ทุกคนขยันขันแข็ง ตรงต่อเวลา และมีความกระฉับกระเฉงในการทำงาน ที่เมืองไทยไม่ได้กำหนดเวลาเข้า-ออกงาน และในยุคนั้นสหพัฒน์ไม่มีวันหยุดสุดสัปดาห์ ภายหลังที่ฉันกลับประเทศไทย ฉันจึงได้เสนอกับพ่อให้หยุดวันอาทิตย์

เมื่อถึงโอซากาฉันไปลงที่ชินไซบาชิ ซึ่งเป็นที่ตั้งบริษัทเคียวโกสำนักงานใหญ่ ตึกและไฟนีออนสว่างสดใสมากกว่าที่คิดไว้ เกือบ 10 ปีหลังจากพ่ายแพ้สงคราม ญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้าสู่การเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งฉันคิดว่าจะสามารถเรียนรู้และนำมาพัฒนาที่ไทยได้

หน้าที่งานของฉันที่บริษัทเคียวโกคือ เป็นการจัดซื้อและผู้ประสานงานกับเมืองไทย ปกติพ่อของฉันจะติดต่อด้วยจดหมายภาษาจีน ถ้ารีบก็จะใช้โทรเลข โดยจะสั่งออร์เดอร์ อยากได้สินค้าแบบไหน หรือบอกว่าสินค้าก่อนหน้านี้ไม่ดีตรงไหน เมื่อทำความเข้าใจเนื้อหาแล้วฉันก็จะแจ้งพนักงานเคียวโกว่า อยากซื้อสินค้านี้สัก 300 โหล หรือสินค้านั่นราคาแพงไป เป็นต้น ให้เขาช่วยจัดการ

ตัวอย่างเช่น กระติกน้ำสุญญากาศ โดยปกติไว้ใช้ใส่น้ำร้อน แต่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนและตู้เย็นยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จะใช้กระติกนี้ใส่น้ำแข็งเพื่อทำให้เย็น ปากกระติกแบบแคบสามารถหาซื้อได้ที่ฮ่องกง แต่ถ้าอยากได้ปากกว้างแบบที่ใส่น้ำแข็งได้ สามารถหาได้จากญี่ปุ่น

ฉันได้ขอให้คู่ค้าทำสินค้าเลียนแบบของแบรนด์ตะวันตกขึ้นมา ปากกาหมึกซึม “Parker” หรือ “Sheaffer” ในไทยเป็นที่นิยมมากแต่มีราคาแพง ที่ญี่ปุ่นสามารถผลิตให้ได้ในราคาถูกโดยใช้ชื่อแบรนด์ตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าพวก Cufflinks และหัวเข็มขัดด้วย ถ้าเป็นยุคนี้คงเป็นปัญหาใหญ่ แต่สมัยก่อนนั้นเป็นยุคที่มีสินค้าไม่เพียงพอจึงทำให้ขายดี

นอกจากนี้ เตารีดด้วยถ่าน หรือจักรยานติดมอเตอร์ที่ฮอนด้าผลิตขึ้นหลังสงคราม หรือฮาร์โมนิก้าของยามาฮ่า ก็มีการซื้อส่งเข้าไปในไทย

บริษัทผู้ผลิตของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงเป็นโรงงานตามเมืองเล็ก ๆ ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อให้เยอะ หลาย ๆ แห่งก็ต้องปิดกิจการไป ฉันอยากทำส่งออกสินค้าจึงไปที่โรงงานต่าง ๆ และแสดงเอกสาร L/C แต่ละโรงงานให้การต้อนรับพาไปชมโรงงานเป็นอย่างดี ถ้ามีจุดที่ต้องการให้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ โรงงานก็ตอบรับทันที

ฉันได้เห็นว่าบริษัทญี่ปุ่นสามารถเติบโตได้อย่างไรในช่วงเวลาที่ยากลำบาก จากเงินทุนเล็ก ๆ จนเติบโตไปเป็นธุรกิจใหญ่ได้ ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามายังคงอยู่ในหัวของฉัน