กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์ ประวัติ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตอนที่ 3-4

กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์

หมายเหตุ : อัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ผ่านการสัมภาษณ์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ติดตามอ่านได้ใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ และทางเว็บไซต์ www.prachachat.net

บทที่ 3 ความทรงจำที่บ้านเกิด

ความหวาดกลัวจากการโจมตีทางอากาศในช่วงสงคราม เรียนภาษาจีนจากแม่ที่รักการศึกษา

ฉันเกิดที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 มีชื่อจีนว่า ลีบุ้นเซี้ยง เป็นลูกชายคนที่ 3 ของคุณพ่อเทียม และคุณแม่สายพิณ ในประเทศจีนเชื่อกันว่า ถ้ามีลูกชาย 3 คนติดกันจะเป็นโชคดี และพ่อแม่ของฉันดูเหมือนจะดีใจกับการเกิดเป็นลูกชายคนที่ 3 ของฉันมาก

ครอบครัวของเราอยู่บ้านเช่าบนถนนทรงวาด เป็นโกดังริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับถนนสำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านค้าส่งแหล่งชาวจีน ชั้นล่างเป็นโกดังเก็บสินค้า ส่วนครอบครัว ญาติ รวมถึงคนงานอาศัยอยู่บนชั้น 2 และชั้น 3

ในสมัยนั้นคนจีนจํานวนมากจะอาศัยอยู่บนถนนทรงวาด หลายตระกูลทำธุรกิจเจริญรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จ เช่น ตระกูลเจียรวนนท์ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ตระกูลโสภณพนิช ของธนาคารกรุงเทพ และตระกูลล่ำซำ ของธนาคารกสิกรไทย

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมในปีนั้น ก่อนที่ฉันจะเกิด ได้เกิดเหตุการณ์ Marco Polo Bridge ญี่ปุ่นและจีนปะทะกันในเขตชานเมืองของกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นชนวนสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย

ญี่ปุ่นซึ่งเปิดสงครามกับสหรัฐอเมริกา ได้ย้ายฐานทัพมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหาทรัพยากร และด้วยอำนาจของญี่ปุ่นในเวลานั้น ประเทศไทยต้องประกาศตัวเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายอักษะ เพื่อรักษาเอกราชไว้

ความทรงจำแรกสุดในวัยเด็กของฉัน คือ ฉันร้องไห้ตัวสั่นด้วยความกลัวเสียงระเบิดที่ทิ้งลงมาใกล้บ้าน ใกล้กับถนนทรงวาดมีอาคารสูง 9 ชั้น และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เครื่องบินของอังกฤษซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรจึงพุ่งเป้าไปที่นั่นบ่อยครั้ง ด้วยไม่รู้ว่าสงครามจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ร้านเฮียบเซ่งเชียงที่เพิ่งเปิดกิจการ จึงเหลือแต่คุณพ่อและลุง 2 คนอยู่ช่วยที่ร้าน ส่วนญาติทั้งหมดรวม 20 กว่าคนถูกคุณแม่ซึ่งกำลังตั้งท้องลูกชายคนที่ 4 พาลงเรือไปฝั่งธนบุรี และลูกชายคนที่ 4 ของครอบครัวจึงมีชื่อว่า ณรงค์ หมายถึง “สงคราม”

คุณพ่อและลุงของฉันมาที่ธนบุรีสัปดาห์ละครั้งเพื่อดูความเป็นอยู่ของครอบครัว และวันรุ่งขึ้นก็กลับกรุงเทพฯ แม้ว่าในชีวิตฉันได้รับอิทธิพลอย่างมากจากคุณพ่อ แต่ในวัยเด็กฉันใช้เวลาอยู่กับแม่ของฉันมากกว่า แม่เป็นผู้ดูแลชีวิตของครอบครัวและญาติ แม่เป็นคนเข้มงวด และพวกเรามักจะถูกตีถ้าพูดแล้วไม่ฟัง

ครอบครัวของแม่ฉันเป็นร้านช่างทำทอง บรรพบุรุษของแม่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลจากประเทศจีนมายังประเทศไทยก่อนครอบครัวของพ่อฉันนานมาก แม่เลยมีความเป็นคนไทยสูง แม่แต่งงานกับพ่อผ่านการดูตัว

แม่ของฉันรักการเรียนตั้งแต่ยังเด็ก แต่ไม่ได้ไปโรงเรียนมากนัก เพราะต้องดูแลน้องชายและน้องสาว นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทําไมแม่ถึงเข้มงวดมากกับการศึกษาของลูก ในเวลานั้นเป็นเรื่องปกติที่จะส่งให้ลูกเรียนระดับประถมศึกษาในโรงเรียนจีน แต่แม่กังวลว่าการเรียนของเด็กจะล่าช้าเนื่องจากเป็นช่วงอพยพ แม่เลยใช้บทกวีของจีนสอนภาษาจีนให้พวกเรา

“มองปัจจุบันและมองย้อนกลับไปในอดีต” (หากไม่มีอดีตก็ไม่มีปัจจุบัน อย่าลืมมองย้อนกลับไปในอดีตทุกครั้งที่คุณจะลงมือทำอะไร)

“ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” (ความสามารถของม้าเป็นที่เข้าใจเมื่อขี่ม้าในระยะทางไกล หากเราทํางานร่วมกันเป็นเวลานาน เราจะเข้าใจจิตใจของกันและกันได้ดีขึ้น)

พี่ชายและฉันถูกบังคับให้ท่องบทกวีจีนมากมาย แต่ในเวลานั้นฉันอายุเพียง 5-6 ขวบจึงไม่เข้าใจความหมายของบทกวีเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ฉันก็ยังคงจำเสียงของแม่ที่ท่องบทกวีราวกับขับขานบทเพลงได้เป็นอย่างดี

บทที่ 4 ชีวิตในโรงเรียน

ไม่ชอบเรียน แต่มีจิตใจที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น
หลงใหลในการล้างรูปและบาสเกตบอล

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนในปฏิญญาพอตซส์ดัม (Potsdam Declaration) เป็นการสิ้นสุดของสงคราม ซึ่งหมายถึงภาวะสงครามของไทยก็สิ้นสุดลงด้วย ครอบครัวของฉันได้กลับไปที่บ้านในกรุงเทพฯเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

หลังจากนั้น ฉันเริ่มเข้าเรียนในโรงเรียนประถมจีนชื่อ “โรงเรียนเผยอิง” บนถนนทรงวาดใกล้บ้าน ในช่วงนั้นฉันมีรูปร่างผอม ไม่ชอบการเรียนที่เน้นเรื่องการท่องจำเป็นส่วนใหญ่ ฉันแตกต่างจากพี่ชาย 2 คนที่เรียนเลื่อนชั้นอย่างสม่ำเสมอ ฉันเคยเรียนซ้ำชั้น แม่ของฉันดูเหมือนจะกังวลกับเรื่องนี้มาก

ส่วนพ่อที่ได้เห็นฉันตอนนั้นกล่าวว่า “อั๊วจะสอนบุณยสิทธิ์เอง” พ่อให้ฉันนั่งข้าง ๆ และเริ่มสอนเกี่ยวกับธุรกิจ เมื่อฉันเข้าเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนวัดสุทัศน์ตอนอายุ 15 ปี ฉันจะไปที่ร้านเฮียบเซ่งเชียงหลังเลิกเรียน และเริ่มช่วยงานอย่างจริงจัง ตอนเป็นเด็กฉันไม่ได้ฝันอยากทำอาชีพอะไรเลย ในหมู่เพื่อน ๆ บางคนฝันอยากเป็นนักธุรกิจ ทหาร และตำรวจ ซึ่งเป็นอาชีพยอดนิยมของพวกเขา ส่วนฉันไม่สนใจว่าอนาคตจะทำงานอะไร ขอเพียงเป็นอันดับ 1 ก็พอ จะต้องยิ่งใหญ่ที่สุด หรือรวดเร็วที่สุด ฉันหลงใหลในตัวตนแบบนั้น ซึ่งแตกต่างจากคนอื่น

ฉันเรียนไม่ดี แต่ฉันมีความอยากรู้อยากเห็น ฉันเคยอยากรู้ว่านาฬิกาเคลื่อนไหวอย่างไร ฉันเลยถอดมันออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และประกอบมันกลับเพื่อให้ทำงานได้ตามเดิม

ฉันชอบการถ่ายภาพด้วย แต่สิ่งที่ฉันหลงใหลมากกว่า คือ การล้างรูป ฉันหมกตัวอยู่ในห้องมืดที่ทำเองในบ้าน ล้างฟิล์มด้วยน้ำยา และอัดลงกระดาษอัดรูปที่ตัดเป็นขนาดอย่างพอเหมาะ กระบวนการเหล่านี้กระตุ้นความสนใจให้ฉันเป็นอย่างมาก ในเวลานั้นกล้องเป็นของหรูหราและมีไม่กี่คนที่มีกล้องไว้ใช้ คนทั่วไปจะซื้อฟิล์มเองแล้วยืมกล้องจากผู้อื่นเพื่อถ่ายรูป และฉันมักจะถูกไหว้วานจากเพื่อน ๆ และคนแถวบ้านให้ล้างฟิล์มให้

ฉันสูง 183 เซนติเมตร บางทีอาจเป็นเพราะพ่อและพี่ชายของฉันเป็นคนตัวใหญ่ ฉันสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่อายุ 15 ปี สมัยนั้นคนไทยส่วนใหญ่จะตัวเล็ก ทุกคนจึงมักประหลาดใจกับส่วนสูงของฉัน ตอนเล่นบาสเกตบอลกับเพื่อนที่โรงเรียน ฉันก็มักได้อยู่ใต้แป้นและทำคะแนนบ่อยครั้ง

มีเรื่องตลกอีกเรื่อง ฉันมีเพื่อนร่วมชั้นชื่อ สม จาตุศรีพิทักษ์ เขาไปเรียนต่อที่อังกฤษ กลับมาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารนครหลวงไทย (Siam City Bank) ระยะหนึ่ง และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในช่วงปลายปี 1990 ช่วงที่เขาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารพ่อของฉันเชิญเขาไปทานอาหารเย็น และฉันก็ร่วมรับประทานอาหารด้วย ระหว่างพูดคุยกันทำให้รู้และจำกันได้ว่าเป็นเพื่อนกันสมัยเรียน เป็นเรื่องบังเอิญและดีใจที่ได้เจอกันอีกครั้ง

น้องชายของสมชื่อ สมคิด เป็นคนเก่งด้านทฤษฎีการตลาด เขาได้เรียนกับศาสตราจารย์ฟิลิป คอตเลอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามปรมาจารย์ด้านการตลาด ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นในต่างประเทศ และยังได้เป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือกับอาจารย์ของเขา ศาสตราจารย์คอตเลอร์ได้กล่าวถึงชื่อเขาในบทความ “ประวัติของฉัน” ว่าเป็นหนึ่งในนักเรียนดีเด่นของเขาในปี พ.ศ. 2556 หลังจากกลับจากสหรัฐอเมริกาเขาเป็นผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับธุรกิจโดยรวมในฐานะกรรมการอิสระของเครือสหพัฒน์

คุณสมคิดดํารงตําแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2544-2549 และปี พ.ศ. 2558-2563 รวมระยะเวลา 10 ปี เขายังเป็นผู้ชูธงนโยบายเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น เขาจึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บริษัทญี่ปุ่นที่ขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทย หลังจากลาออกจากรองนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว จึงได้เข้ามาเป็นประธานกรรมการของบริษัท Holding ในเครือสหพัฒน์

ฉันอยากจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความเชื่อมโยงกับสมซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน แต่ในความเป็นจริงแม้ว่าการกลับมาพบกันกับสม และการเชิญคุณสมคิดมาร่วมงานกันนั้น ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย ฉันก็ยังประหลาดใจกับโชคชะตาในครั้งนี้อยู่ดี