กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์ ประวัติ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตอนที่ 22

กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์

 

หมายเหตุ : อัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ผ่านการสัมภาษณ์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ติดตามอ่านได้ใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ และทางเว็บไซต์ www.prachachat.net

บทที่ 22 ประธานเครือสหพัฒน์

การบริหารแบบกระจายอำนาจ ซึ่งสืบทอดมาจากพ่อ
เข้าสู่ตลาดอะไหล่รถยนต์ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู

เมื่อพิธีศพของพ่อสิ้นสุดลง เราจำเป็นต้องประชุมเรื่องแนวทางการบริหารจัดการเครือสหพัฒน์ พ่อคงได้เตรียมไว้เผื่อมีการเกิดอะไรขึ้นกระมัง ทำให้เพื่อนเก่าของพ่อซึ่งเป็นอดีตประธานรัฐสภา คุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้เข้าร่วมการประชุมครอบครัวโชควัฒนา ในฐานะผู้ประสานงาน

บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมทุนกับไลอ้อนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเครือสหพัฒน์ แต่เดิมผู้บริหารคือบุญชัย ลูกชายคนที่ 5 ได้เปลี่ยนเป็นบุณย์เอก ลูกชายคนโต และบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI) ก็เปลี่ยนจาก ฉัน ลูกชายคนที่ 3 เป็นบุญปกรณ์ ลูกชายคนที่ 2 และฉันได้รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลเครือสหพัฒน์ในภาพรวม ในขณะที่ฉันอายุ 54 ปี

ตอนที่พ่อของฉันยังมีชีวิตอยู่ ท่านไม่ได้กำหนดตัวผู้สืบทอดไว้ แต่ดูเหมือนเขาจะเปรยให้คนรอบข้างฟังว่า “อยากค่อย ๆ มอบหมายให้บุณยสิทธิ์” พี่น้องของฉันทุกคนต่างได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ ยกเว้นฉันที่เรียนจบเพียงชั้นมัธยมต้น แต่ฉันเป็นคนที่ช่วยพ่อทำงานมาเกือบ 40 ปี ซึ่งแน่นอนที่ฉันจะรู้จักบริษัทในเครือเป็นอย่างดี

ในที่ประชุมครอบครัวไม่มีใครคัดค้าน และด้วยสมควรที่จะต้องให้เกียรติผู้อาวุโสกว่าด้วย คุณประสิทธิ์จึงได้มอบหมาย 2 ใน 3 บริษัทหลักของเครือสหพัฒน์ให้พวกพี่ ๆ ดูแล ดังนั้น ไม่ว่าจะมองจากภายนอก หรือภายในเครือ หรือจากภายในครอบครัว ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการสืบทอดที่กลมเกลียวไม่มีความขัดแย้งใด ๆ

ฉันมักถูกถามบ่อย ๆ ว่า ไม่เห็นมีบริษัทใดที่ชื่อเครือสหพัฒน์ และตำแหน่ง “ประธาน” ของฉันก็ไม่มีผลทางกฎหมาย ซึ่งก็เป็นเช่นนี้แต่แรกเริ่มแล้ว พ่อของฉันก็เพียงเข้าไปบริหารในฐานะผู้ก่อตั้ง ไม่มีตำแหน่งประธานเครือหรือประธานบริษัทแต่อย่างใด

แน่นอนว่าฉันรู้สึกกดดัน ฉันไม่สามารถขอความเห็นชอบหรือคำแนะนำจากพ่อได้อีกแล้ว ในตอนนั้นปี พ.ศ. 2534 ต้องดูแลบริษัทในเครือร่วม 190 แห่ง พนักงานเป็นหมื่นคน ผู้คนทั้งในและนอกบริษัทต่างจับตามองว่าสหพัฒน์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หากฉันตัดสินใจผิดพลาด ไม่เพียงแค่สูญเสียความน่าเชื่อถือจากสังคม แต่อาจส่งผลให้เกิดความแตกแยกภายในได้

สิ่งที่ฉันคำนึงถึงคือ “จะไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการของพ่อ” ฉันไม่ได้ต้องการอำนาจจากการรับตำแหน่งเป็นประธาน และไม่เคยคิดเปลี่ยนการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจเพื่อการแตกออกไปแล้วเติบโต ตัวฉันเองไม่ชอบการถูกสั่งจ้ำจี้จ้ำไชในขั้นตอนการทำงาน ฉันจึงไม่อยากบังคับใครเช่นนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ทำงานไปตามปกติ

ระบบการทำงานมีอยู่แล้ว พ่อของฉันซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง และฉันซึ่งเคยเป็นประธานของ SPI ได้รับรายงานประจำเดือนจากบริษัทในเครือแต่ละแห่ง ต่อไปในฐานะประธานของเครือ ฉันต้องทำความเข้าใจผลประกอบการและปัญหาของแต่ละบริษัท และให้การสนับสนุนเมื่อจำเป็น

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารกลางวันกับครอบครัวและกรรมการอาวุโส เพื่อเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการทุกวันพฤหัสบดีที่คุณพ่อเคยทำนั้น ฉันก็ยังปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ฉันรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2530 เติบโตในอัตราเกือบ 10% ต่อปี ด้วยการแข็งค่าของเงินเยนหลังจากข้อตกลงพลาซ่า (Plaza Accord) ในปี พ.ศ. 2528 อุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นได้เร่งการขยายตัวไปต่างประเทศรวมถึงประเทศไทย หากเครือสหพัฒน์ตั้งเป้าที่จะขยายกิจการคงจะไปได้ดี

ต่อมาไทยถูกเรียกว่า “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” เพราะประเทศไทยเริ่มที่จะเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น และเป็นช่วงแรกที่เราเข้าสู่ตลาดอะไหล่รถยนต์ ตัวอย่างเช่น จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Seiren ผู้ผลิตสิ่งทอซึ่งต้องการผลิตผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ในประเทศไทย และ ให้บริษัท Molten ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนร่วมผลิตลูกฟุตบอลและลูกบาสเกตบอล เริ่มธุรกิจใหม่ทำการผลิตอะไหล่รถยนต์ที่ทำจากยาง

ทว่า เศรษฐกิจไทยที่กำลังเติบโต และการทำธุรกิจของสหพัฒน์ที่ดำเนินมาอย่างราบรื่น ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงปลายยุค 2530