กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์ ประวัติ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตอนที่ 15-16

กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์

 

หมายเหตุ : อัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ผ่านการสัมภาษณ์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ติดตามอ่านได้ใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ และทางเว็บไซต์ www.prachachat.net

 

ตอนที่ 15 ทางเลือกของคุณน้า

บุรุษผู้เต็มไปด้วยแนวคิด การแยกตัวจากเครือสหพัฒน์
ความเห็นที่แตกต่างเรื่องความสัมพันธ์กับบริษัทคู่ค้า

ถึงตอนนี้ ถ้ามองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเครือสหพัฒน์จนถึงยุคเจริญเติบโต ท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นว่า เมื่อเราจะเข้าสู่ธุรกิจใหม่ หรือก่อตั้งบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรรายใหม่ เราจะตั้งทีละบริษัท เสมือนกับ “การโตแล้วแตก แตกแล้วโต” นั่นเป็นเหตุผลที่เครือสหพัฒน์มีบริษัทในเครือกว่า 300 บริษัทในปัจจุบัน

เหตุผลที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าว คงต้องเล่าไปถึงคุณน้าของฉัน ดำหริ ดารกานนท์ ที่แยกตัวจากสหพัฒน์ไป เขาก่อตั้งกลุ่มสหยูเนี่ยน เป็นกลุ่มธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย ดำเนินธุรกิจการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เสื้อผ้า ชิ้นส่วนเรซิ่น และอื่น ๆ อีกมากมาย

คุณดำหริเป็นน้องชายของแม่ที่อายุห่างกันถึง 18 ปี ถึงจะมีศักดิ์เป็นน้า แต่เขาก็แก่กว่าฉันเพียง 5 ปี เขากลายเป็นผู้บุกเบิกด้านการลงทุนภาคอุตสาหกรรมทั้งที่เรียนจบแค่ ม.ต้น บางคนก็เรียกเขาว่า “โคโนสุเกะ มัตสึชิตะ ของประเทศไทย”
เขาเข้ามาทำงานในปี พ.ศ. 2495 ช่วงที่คุณพ่อเปลี่ยนชื่อร้าน “เฮียบเซ่งเชียง” เป็นบริษัท สหพัฒนพิบูล เขาเป็นรุ่นแรกที่ไปประจำในญี่ปุ่น หลังจากกลับมาก็ได้รับเลือกให้เป็นอันดับ 2 ของบริษัท ขณะที่อายุเพียง 22 ปี ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วตอนต้น

ไม่ใช่เพราะความเป็นญาติที่เขาได้ตำแหน่งนี้ แต่พ่อของฉันคิดว่า ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคต้องการคนหนุ่มสาวที่ตามทันยุคสมัย และมีความคิดที่ยืดหยุ่น คุณดำหริได้รับความไว้วางใจอย่างมาก ตัวฉันเองได้รับคำสั่งจากคุณพ่อให้ไป “ศึกษาทุกอย่างจากเขา” ฉันเป็นลูกน้องที่ขึ้นตรงกับคุณดำหริ ก่อนที่จะได้รับมอบหมายให้ไปโอซากา

คุณดำหริเข้าใจแฟชั่นและภาษาอังกฤษ แนวคิดทางธุรกิจใหม่ ๆ ก็ค่อย ๆ ผุดออกมาทีละอย่าง เขามีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นโลกในหลายปีข้างหน้าและทำงานไปตามภาพนั้น ยิ่งฉันได้เฝ้าดูเขาใกล้ ๆ ยิ่งเห็นว่าตัวตนของเขาช่างโดดเด่นจริง ๆ

ในช่วงแรกการนำเข้าและจำหน่ายซิป ซึ่งเป็นสินค้าหลักของ YKK ได้ถูกดำเนินการโดยเขาคนเดียว ไม่นาน YKK ก็ขอให้สร้างโรงงานในประเทศไทย คุณดำหริอยากเริ่มธุรกิจของตัวเองอย่างแรงกล้า จึงขอแยกตัวจากสหพัฒน์ ซึ่งคุณพ่อก็สนับสนุน

ในปี พ.ศ. 2505 คุณดำหริได้ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนกับ YKK ซึ่งคุณพ่อได้ร่วมลงทุนด้วยเงินส่วนตัวและเป็นกรรมการในบริษัทด้วย ฉันที่เพิ่งกลับจากโอซากา พบว่าธุรกิจกับ YKK หายไป และทำให้ยอดขายของสหพัฒน์ลดลงครึ่งหนึ่ง พูดตามตรง ฉันคิดว่านี่เป็นการเสียโอกาส แต่พ่อก็ไม่ได้ใส่ใจนัก

ช่วงแรก ได้อาศัยเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่น และใช้ YKK เป็นชื่อผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้นก็ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน ใช้ชื่อว่า “วีนัส” ออกมาขายแข่งกันในตลาด การขัดแย้งระหว่างคุณดำหริ และ YKK ดุเดือดยิ่งขึ้น และท้ายที่สุด การร่วมทุนก็ถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2525

ไม่ใช่เพียงธุรกิจซิปเท่านั้น ยังมีธุรกิจปั่นด้ายและสินค้าอื่น ๆ ที่เริ่มจากการร่วมทุนและแยกเปิดบริษัทภายหลังหลายแห่ง การร่วมทุนทำให้ขายได้เฉพาะในประเทศไทย และการส่งออกที่จะสร้างโอกาสแข่งขันกับคู่ค้าจึงถูกจำกัด สำหรับคุณดำหริที่กำลังมองตลาดโลก การยกเลิกการร่วมทุนหลังจากได้รับความรู้ทางวิทยาการ (know how) แล้ว คงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลกระมัง

ความคิดของเขาแตกต่างจากฉันกับพ่อที่ยึดหลัก ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ โดยการร่วมมือกับผู้ร่วมลงทุนระยะยาว ช่วงที่เกิดความบาดหมางกับ YKK เป็นช่วงที่เราร่วมลงทุนบริษัทผลิตยาสีฟันและผงซักฟอกร่วมกับ Lion พอดี บริษัทญี่ปุ่นยังคิดว่า คุณดำหริเป็นคนของสหพัฒน์ ดังนั้น หากความสัมพันธ์ระหว่างเรากับ Lion ไม่ราบรื่น ความน่าเชื่อถือของสหพัฒน์ก็จะลดลง นั่นยิ่งสร้างความกดดันว่าเราจะพลาดไม่ได้

คุณดำหริก่อตั้งสหยูเนี่ยนเป็นบริษัทโฮลดิ้งในปี พ.ศ. 2515 คุณพ่อได้รับเชิญให้เป็นประธาน และทำหน้าที่จนถึงปี พ.ศ. 2527 แต่ไม่ได้แทรกแซงเรื่องการบริหาร ตั้งแต่ฉันเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารของสหพัฒน์ แทบจะไม่มีความเกี่ยวโยงในเรื่องธุรกิจเลย แต่ในความเป็นญาติกัน ฉันมีโอกาสได้เจอเป็นการส่วนตัวปีละหลายครั้ง แต่ก็จะพยายามไม่สนทนาในเรื่องเกี่ยวกับงานกันเลย

ตอนที่ 16 โครงสร้างการบริหาร

ฝากธุรกิจใหม่ไว้กับคนรุ่นใหม่
ความรุ่งเรือง “การโตแล้วแตก แตกแล้วโต” ของในเครือ

เรามาพูดถึงโครงสร้างการบริหารของเครือสหพัฒน์กันบ้าง เมื่อจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เหตุใดเครือสหพัฒน์จึงตั้งบริษัทใหม่ขึ้นเสมือนการแตกตัวออกไป

พ่อของฉันคิดว่า บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหลักของเครือ ค่อย ๆ เติบโตขึ้นโดยผู้บริหารรุ่นเก่า ๆ ความว่องไวก็จะน้อยลง ธุรกิจใหม่จึงควรยกให้คนหนุ่มสาวที่มีความว่องไวกว่า

พ่อเองก็เคยมีประสบการณ์เสนอให้ปู่เปลี่ยนมาขายของใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็ถูกปฏิเสธ พ่อจึงตัดสินใจแยกตัวออกมา ปู่เคยสอนไว้ว่า “อย่าสอนความรู้ทางธุรกิจให้กับลูกน้อง สอนลูกชายได้ แต่อย่าสอนลูกสาว เพราะถ้าลูกสาวบอกลูกเขย ลูกเขยจะกลายเป็นศัตรูทางธุรกิจ” ต่างกับพ่อซึ่งเชื่อว่าเราไม่สามารถขยายธุรกิจได้ด้วยลำพังเพียงคนเดียว ท่านจึงกระตือรือร้นในการสอนลูกน้องเป็นอย่างมาก

คุณดำหริ น้าของฉันเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่นเดียวกับลูก ๆ ทุกคน พ่อของฉันมีลูกชาย 6 คน และลูกสาว 2 คน รวมทั้งฉันซึ่งเป็นลูกชายคนที่ 3 ยกเว้น ศิริยล ลูกสาวคนโตที่ด่วนจากไปก่อนเวลาอันควร ทุกคนได้ทำสิ่งที่อยากทำ และสิ่งที่ควรทำภายในเครือสหพัฒน์

พี่ชายคนโต บุณย์เอก ได้เข้าศึกษาคณะวิศวกรรมในออสเตรเลีย และเคยรับผิดชอบการขายเครื่องเขียน Sakura Color Products Corp. บุญปกรณ์ ลูกชายคนที่ 2 จบคณะเศรษฐศาสตร์จากประเทศอังกฤษ เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจแฟชั่น ก่อตั้ง บริษัท นิวซิตี้ (กรุงเทพฯ) จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแห่งแรกของเครือสหพัฒน์

ณรงค์ ลูกชายคนที่ 4 เรียนเคมีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งบริษัท บางกอก รับเบอร์ จำกัด รับผลิตรองเท้ากีฬา Nike ในประเทศไทย เรียกเขาว่า “ราชาแห่งรองเท้า”

ลูกสาวคนที่ 2 ศิรินา เรียนด้านการโฆษณาจากประเทศอังกฤษ หลังจากกลับมาได้ช่วยงานของบริษัท New City และประสบความสำเร็จในการบริหารสินค้าบูติคในเวลาต่อมา

พี่น้องฝาแฝด บุญชัย ลูกชายคนที่ 5 และบุญเกียรติ ลูกชายคนที่ 6 ทั้งคู่เรียนจบมัธยมปลายจากประเทศอังกฤษ และไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกาจนสำเร็จการศึกษา พ่อสั่งให้ฉันดูแลและสอนงานเขาในฐานะลูกน้อง ปัจจุบันทั้ง 2 คนยังช่วยงานฉัน บุญชัย เป็นประธาน บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และบุญเกียรติ เป็นประธาน บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

ไม่เพียงครอบครัวเท่านั้น ดังเช่น คุณพิพัฒ ก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และหากพนักงานคนใดมีความสามารถหรือมีใจที่ “อยากจะทำ” ทางสหพัฒนพิบูล หรือแม้แต่ตัวคุณพ่อเทียมเอง จะออกเงินส่วนตัวสนับสนุนให้ตั้งตัวได้ และการที่เจ้าตัวร่วมลงทุนด้วยก็ทำให้ตั้งใจบริหารบริษัทนั้นอย่างเต็มที่ การแตกแล้วเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงกลายเป็นสไตล์การทำธุรกิจของเครือสหพัฒน์ไปโดยปริยาย

บางครั้งบริษัทในเครือก็แข่งขันกันเอง ซึ่งคุณพ่อก็ยินดี ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ การแข่งขันย่อมให้บทเรียน ไม่เพียงแข่งขันกับภายนอก หากมีการแข่งขันภายในด้วย บริษัทจะยิ่งเติบโตเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณพ่อจะคอยดูภาพรวมทั้งหมดเพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องล้มลง

ด้วยกำลังของคุณพ่อคนเดียวคงไม่อาจดูแลบริษัทในเครือได้ทั้งหมด ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2515 จึงได้ตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้น คือ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI) ในปัจจุบัน ฉัน ที่เป็นคนออกความคิด จึงได้รับตำแหน่งประธานตามคำสั่งของพ่อไปโดยปริยาย

อีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อตั้ง SPI คือ ความสำเร็จในการร่วมทุนกับ Lion และ Wacoal ทำให้บริษัทญี่ปุ่นอยากมาร่วมเป็นพันธมิตรมากขึ้น แต่โครงสร้างของบริษัทในเครือนั้นซับซ้อน จนไม่รู้ว่าควรจะให้คุยกับบริษัทไหน ฉันจึงสร้าง SPI เพื่อทำหน้าที่เป็นช่องทางติดต่อและเจรจาการลงทุน

SPI ต่างจากบริษัทโฮลดิ้งทั่วไป บริษัทไม่จำเป็นต้องลงทุนหรือเข้าไปควบคุมบริษัทในเครือ แต่ละบริษัทจะมีผู้ถือหุ้น รูปแบบการบริหาร และทีมผู้บริหารที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม SPI มีบทบาทสำคัญ เช่น การค้ำประกันเงินกู้ และการจัดการกลยุทธ์ หรือทิศทางการลงทุนโดยรวม อันเป็นเสมือนหมุดของพัดที่ยึดบริษัทในเครือ 300 แห่งไว้ด้วยกัน