กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์ ประวัติ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตอนที่ 19-20

กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์

 

หมายเหตุ : อัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ ผ่านการสัมภาษณ์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ติดตามอ่านได้ใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ และทางเว็บไซต์ www.prachachat.net

ตอนที่ 19 เรียนรู้จากความล้มเหลว

การก้าวเข้าตลาดที่ไวเกินไปของสินค้ายาและข้าวหน้าเนื้อ

กุญแจสู่การแก้ปัญหาคือ “หัวใจของความเป็นเจ้าของ”

สหพัฒน์เติบโตจากการร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง ที่กล่าวถึงไปแล้วส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ แต่แน่นอนว่าต้องมีตัวอย่างของความล้มเหลวด้วย ฉันจึงอยากกล่าวถึงเอาไว้ เหตุผลหนึ่งก็เพื่อเอาไว้เตือนตัวเองด้วย

เมื่อฉันเดินทางไปทำธุรกิจที่ญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2503 ประธานยูจิ ไนโตะ ผู้ก่อตั้งบริษัท Eisai มาปรึกษากับฉันว่า “ต้องการขยายธุรกิจสู่ประเทศไทย” ตลาดยาในเวลานั้นอยู่ในมือของชาติตะวันตก ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจผงซักฟอกและเครื่องสำอางเป็นไปด้วยดี และจากการพูดคุยกัน 2 ครั้ง ฉันรู้สึกถึงความเป็นไปได้ที่จะทำธุรกิจยารักษาโรคจึงได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อจัดจำหน่ายยารักษาโรคในปี พ.ศ. 2512

เราเริ่มนำเข้ายาสำหรับระบบทางเดินอาหารและยาแก้ปวด แต่ข้อแตกต่างจากการจำหน่ายสินค้าอุปโภคคือ สินค้าประเภทยาต้องใช้เวลาและความยุ่งยากในการขออนุมัติจากภาครัฐ ฝ่ายผู้ร่วมทุนคาดหวังถึงศักยภาพในการขายของสหพัฒน์ แต่เราไม่มีความรู้ในการขายสินค้าประเภทยา และยิ่งโชคร้ายที่ตรงกับช่วงการคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นพอดี

ดังนั้น หากยังคงทำธุรกิจนี้ต่อไป จะเป็นการสร้างปัญหาให้อีกฝ่าย ฉันจึงได้ไปขอโทษ และหลังจากนั้นอีกไม่นานก็ปิดบริษัทร่วมทุน ต่อมาภายหลังเครือสหพัฒน์ได้ซื้อบริษัทยาของไทยที่ล้มละลายจึงได้กลับเข้าสู่วงการยาอีกครั้ง

การทำธุรกิจกับ Eisai ในครั้งนั้นถือว่าเร็วเกินไป นั่นเป็นครั้งแรกที่ต้องยุติกิจการร่วมทุนกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นความทรงจำอันขมขื่น

ในปี พ.ศ. 2538 ได้ร่วมทุนกับร้านข้าวหน้าเนื้อ Yoshinoya ก่อนหน้านี้ได้เล่าไว้ว่าตอนที่ไปทำงานอยู่ที่โอซากาของโปรดของฉันคือ สุกี้ยากี้ หลังจากนั้น เมื่อฉันไปเยี่ยมญี่ปุ่น ฉันได้ทานข้าวหน้าเนื้อของ Yoshinoya และรู้สึกว่าอร่อย และเมื่อได้รับคำเชิญชวนจากทางญี่ปุ่น ฉันก็คิดว่าในไทยก็น่าจะขายได้

สาขาแรกเปิดในห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพฯ เป็นข้าวหน้าเนื้อที่ไม่ได้ปรุงรสให้หวานเหมือนปัจจุบัน ในขณะนั้นคนไทยยังมีรายได้น้อยอยู่ หากไม่นับการซื้ออาหารจากร้านแผงลอย การรับประทานอาหารนอกบ้านยังไม่แพร่หลายนัก

นอกจากนี้ ชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากยังนับถือเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเชื่อกันว่าวัวเป็นการกลับชาติมาเกิดของบิดาของเจ้าแม่กวนอิม จึงไม่รับประทานเนื้อวัว และบางคนยังมีความเชื่อที่จะไม่กินวัวที่ซึ่งเป็นสัตว์ที่ช่วยทำนาอีกด้วย

หลังจากเปิดร้านไป 5-6 สาขา ฉันก็คิดว่าธุรกิจนี้คงดำเนินไปได้ยาก และอีกปัจจัยหนึ่งคือวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ค่าเงินบาทอ่อนตัว ทำให้ต้นทุนเนื้อวัวนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้น เป็นเรื่องช่วยไม่ได้เมื่อทางฝ่าย Yoshinoya ขอถอนตัว และการร่วมทุนยุติลงในเวลาเพียง 3 ปี

ต่อมาคนชอบทานเนื้อวัวเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2554 Yoshinoya จึงกลับเข้าสู่ตลาดไทยอีกครั้งโดยร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่คือ เซ็นทรัล กรุ๊ป ซึ่งสามารถพูดได้ว่าเรานำธุรกิจร้านข้าวหน้าเนื้อเข้าตลาดเร็วเกินไป

ในทางตรงกันข้าม ร้านคาราโอเกะ “Big Echo” ที่ร่วมทุนกับบริษัท Daiichi Kosho กลายเป็นธุรกิจที่เข้าตลาดช้าไป เปิดร้านแรกในปี พ.ศ. 2545 เปิดสาขารวมทั้งหมด 2 สาขา ในยุคนั้นร้านคาราโอเกะยังมีภาพลักษณ์ของการเป็นร้านกลางคืนอยู่ แต่หากเราสามารถทำเป็น karaoke box แบบญี่ปุ่นที่ครอบครัวและเพื่อนฝูงสามารถเพลิดเพลินกับการร้องเพลงและทานอาหารได้ ก็คาดว่าจะได้รับความนิยมและได้รับการตอบรับที่ดี

ทว่า ทาง Daiichi Kosho ประเทศญี่ปุ่น ได้เปลี่ยนวิธีเปิดเพลงจากเครื่องเลเซอร์ดิสก์เป็นไฟล์เพลง ซึ่งเป็นการยากที่จะใช้วิธีเดียวกันนี้ในประเทศไทย เพราะทำให้เพลงไม่ทันยุคสมัย การไม่มีเพลงใหม่ก็ไม่สามารถดึงดูดลูกค้าวัยรุ่นได้ การร่วมทุนจึงยุติในปี พ.ศ. 2556 แต่ถ้าธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้จนปัจจุบัน ก็อาจกลายเป็นธุรกิจที่ดีธุรกิจหนึ่งก็ได้

แม้จะเสียดายแต่ประสบการณ์ของความล้มเหลวก็เป็นทรัพย์สินที่มีค่าสำหรับเราเช่นกัน บริษัทญี่ปุ่นคาดหวังศักยภาพด้านการขายและข้อมูลจากสหพัฒน์ ดังนั้น เราจึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อตอบสนองความคาดหวังนั้น แต่เมื่อเจอปัญหาเราก็จำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างเต็มกำลังทั้งสองฝ่าย กล่าวโดยรวมแล้วหากผู้บริหารญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาจากบริษัทแม่เพื่อบริหารบริษัทร่วมทุนมี “หัวใจของความเป็นเจ้าของ” โอกาสของความสำเร็จก็จะเพิ่มขึ้น

ตอนที่ 20 งานอดิเรกและผลประโยชน์

ขับเครื่องบินเพื่อคลายเครียด

ศึกษาคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง ใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์

จนถึงตอนนี้เหมือนกับว่าฉันจะพูดถึงแต่เรื่องงาน คราวนี้เลยอยากจะเล่าเกี่ยวกับงานอดิเรกทั้งสองอย่างของฉัน

อย่างแรกคือ การขับเครื่องบินขนาดเล็กในปี พ.ศ. 2520 ช่วงกำลังพัฒนาสวนอุตสาหกรรม ฉันในวัย 40 ปี ได้ใช้เวลา 1 ปีเพื่อขอใบอนุญาตขับเครื่องบิน จุดเริ่มต้นมาจากตอนที่ฉันไปทานอาหารที่ชายทะเลใกล้กรุงเทพฯ เห็นเรือเล็กที่มีคนหลายสิบคนถูกพัดขึ้นฝั่งและถูกตำรวจควบคุมตัวในปี พ.ศ. 2518 หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง รวมถึงกัมพูชาและลาว 3 ประเทศในอินโดจีนที่การปกครองถูกเปลี่ยนเป็นระบบสังคมนิยม ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับระบบใหม่และกลัวการกดขี่ข่มเหงจะหลบหนีมายังประเทศเพื่อนบ้านโดยทางเรือในฐานะผู้ลี้ภัย เรียกกันว่า “boat people”

ประเทศไทยเป็นฐานทัพทหารสหรัฐซึ่งพ่ายแพ้แก่ทหารเวียดนามใต้ มีข่าวลือหนาหูว่า “สักวันหนึ่งกองทัพเวียดนามก็จะบุกเข้ามา” ฉันมีความคิดว่า “ถ้าต้องหนี เครื่องบินน่าจะเร็วกว่า ยิ่งถ้าขับได้เองยิ่งดี” ฉันจึงเริ่มใช้เวลา 2 วัน 1 คืนในช่วงสุดสัปดาห์เข้าเรียนที่โรงเรียนสอนขับเครื่องบินที่หัวหิน หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกบิน 40 ชั่วโมง ฉันก็สอบได้ใบอนุญาตในครั้งเดียว

แม้ว่าฉันจะมีใบอนุญาตแล้ว แต่ในขณะนั้นทั้งในนามบริษัทหรือส่วนบุคคลก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองเครื่องบิน บังเอิญใกล้ ๆ ศรีราชาซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนอุตสาหกรรม มีชมรมคนรักการบินให้ฉันได้เช่าเครื่องบินและเพลิดเพลินกับการบินที่นั่น

เนื่องด้วยจำนวนเครื่องบินมีไม่มาก ต้องรอคิวเป็นเวลานานจนหงุดหงิด ดังนั้น ฉันจึงออกเงินคนละครึ่งกับชาวอเมริกัน คุณวิลเลียม ไฮเน็กกี้ ซื้อเครื่องบินมือสองในนามของสโมสรและผลัดกันขับ เขาอายุน้อยกว่าฉันหนึ่งรอบ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจโรงแรมหลายแห่ง

การได้บินขึ้นไปบนท้องฟ้าเป็นวิธีคลายเครียดชั้นเยี่ยม แม้บางครั้งจะมีเหตุการณ์น่ากลัว เช่น ตกหลุมอากาศหรือเกือบเกิดอุบัติเหตุ แต่ความสนุกนั้นมีมากกว่า เมื่อกฎห้ามครอบครองเครื่องบินถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2534 ฉันซื้อเครื่องบินใบพัดแบบเครื่องยนต์เดียว 4 ที่นั่ง มีปีกติดกับด้านบนลำตัว รุ่น “Cessna 172” ฉันสร้างรันเวย์ในสวนอุตสาหกรรมแต่ละที่ของสหพัฒน์ และขับเครื่องบินไปที่ต่าง ๆ ด้วยตนเอง จนกระทั่งคืนใบอนุญาตขับเครื่องบินตอนอายุ 78 ปี นอกจากนี้ ฉันยังก่อตั้งโรงเรียนสอนขับเครื่องบินเพื่อใช้รันเวย์ให้เป็นประโยชน์

งานอดิเรกอีกอย่างของฉันคือ คอมพิวเตอร์ เป็นช่วงเดียวกับที่ได้รับใบอนุญาตขับเครื่องบินขนาดเล็ก ฉันสั่งซื้อคอมพิวเตอร์ “TRS-80” ที่ผลิตโดย RadioShack ผู้บุกเบิกคอมพิวเตอร์ในช่วงแรกมาจากสิงคโปร์ เป็นเงิน 500,000 บาท ในสมัยนั้นสามารถซื้อรถหรูคันหนึ่งได้เลยทีเดียว

ที่ฉันเริ่มสนใจคอมพิวเตอร์ เพราะฉันสนิทกับประธาน และพนักงานบริษัท ที่ให้บริการซ่อมบำรุงเมนเฟรมของ IBM ที่อยู่ข้าง ๆ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยและได้ฟังเรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ ฉันวางคอมพิวเตอร์ที่สั่งมาไว้ในห้องหนังสือที่บ้าน ฉันไม่ได้มีจุดมุ่งหมายว่าจะใช้มันเพื่ออะไร แต่ซื้อมาเพื่อเรียนรู้วิธีใช้เท่านั้น เวลามีเรื่องที่ไม่เข้าใจฉันจะขอให้คนจากบริษัทข้าง ๆ มาสอน ฉันยังเรียนวิธีการเขียนซอฟต์แวร์ด้วยตัวเอง แม้จะเขียนโปรแกรมที่ซับซ้อนไม่เป็น แต่เวลาอยากได้อะไรก็สามารถสื่อสารกับโปรแกรมเมอร์ได้

ตอนนี้ฉันยังคงจัดเก็บข้อมูลนามบัตรของคนที่เคยพบ ภาพถ่าย บันทึกยาที่ฉันใช้ และอื่น ๆ บนคอมพิวเตอร์ และฉันสร้าง format ด้วยตัวเอง เวลาหมอถามว่ากินยาครบหรือเปล่าก็จะเปิดข้อมูลให้ดู

ฉันชอบสิ่งใหม่ ๆ ที่คนอื่นยังไม่เคยทำ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินหรือคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ การจะขับเครื่องบินจะต้องมีความรอบคอบ การตรวจสอบเชื้อเพลิง เครื่องวัด สภาพอากาศ การสื่อสารกับหอควบคุมอย่างต่อเนื่อง และต้องมั่นใจว่าทุกขั้นตอนจะปลอดภัยจนกว่าจะลงจอด ซึ่งเหมือนกับการทำธุรกิจ และความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาข้อมูลของบริษัทในภายหลัง


ในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะงานอดิเรกใดก็เชื่อมโยงเข้ากับงานได้ หากจะพูดว่างานอดิเรกอันดับหนึ่งของฉันคือ “การทำงาน” ก็คงไม่ผิดนัก ถ้าพูดให้คนหนุ่มสาวสมัยนี้ฟังคงโดนหัวเราะเยาะเอาเป็นแน่…