ยุทธศาสตร์อีวี คือเป้าหมายอันดับ 1 โคจิ ซาโต้ ซีอีโอใหม่โตโยต้า

โคจิ ซาโต้
โคจิ ซาโต้ และอากิโอะ โตโยดะ ทดสอบ Lexus รุ่นแรกที่ใช้พลังงานไฟฟ้า / Kyodo/via REUTERS

ซีอีโอคนใหม่โตโยต้า โคจิ ซาโต้ วางยุทธศาสตร์อีวี ไว้เป็นเป้าหมายอันดับ 1

วันที่ 30 มกราคม 2566 บลูมเบิร์ก รายงานวิเคราะห์การเปลี่ยนตัวผู้บริหารใหญ่ ซีอีโอของ โตโยต้า ค่ายรถยนต์เบอร์หนึ่งของโลก สัญชาติญี่ปุ่น จาก นายอากิโอะ โตโยดะ วัย 66 ปี ที่ขยับไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท มาเป็น นายโคจิ ซาโต้ วัย 53 ปี ว่าเพื่อปรับเป้าหมายสู่การเป็นรถใช้พลังงานไฟฟ้า หรืออีวี อย่างเต็มรูปแบบ

โตโยต้าถูกมองว่าดิ้นรนอยู่กับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ต้องขยายการเดิมพันระหว่าง ไฮบริด ไฮโดรเจน และแบตเตอรี่ไฟฟ้า แก่นักลงทุน ลูกค้า และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้เทใจให้กับอนาคตของรถไฟฟ้าทั้งหมด

โคจิ ซาโต้ และอากิโอะ โตโยดะ. (AP Photo/Eugene Hoshiko, File)

เห็นได้ว่า ด้านหนึ่งโตโยต้าขายรถอีวีได้น้อยกว่า 25,000 คัน เทียบกับเทสลาที่ส่งมอบรถอีวีแล้ว 3 ล้านคันเมื่อปีก่อน ขณะที่อีกด้านหนึ่ง โตโยต้าผลิตรถไฮบริดมานานเกินสองทศวรรษ นับเฉพาะพรีอุส ซึ่งเป็นแฟลกชิป ก็ขายได้มากกว่า 5 ล้านคันแล้ว

โตโยต้าโต้แย้งว่า ไฮบริดเป็นส่วนหนึ่งที่ลดการปล่อยก๊าซก่อภาวะโลกร้อนที่กินเวลาได้ยาวนาน และจะเป็นธุรกิจที่อาศัยทรัพยากร เทคโนโลยี และการยืนหยัดเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซให้เหลือศูนย์ เพียงแต่ต้องใช้เวลาหลายปี

Toyota bz4x

กระทั่งล่าสุด ผู้ทำหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ถือหุ้น โตโยดะเพิ่งประกาศลงจากตำแหน่งซีอีโอ และขยับไปเป็นประธานบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน โดยส่งมอบตำแหน่งซีอีโอให้กับ โคจิ ซาโต้ วัย 53 ปี อดีตหัวหน้าทีมเลกซัส ซึ่งเป็นที่จับตาว่าเขาจะปรับเป้าหมายและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร

หลังจากโตโยดะ หลานของผู้ก่อตั้งโตโยต้า ผู้นำพาค่ายรถยักษ์ใหญ่มียอดขายรายปี แซงโฟล์กสวาเกน กลับไม่ใช่ผู้ส่งสารที่สมบูรณ์แบบ

เมื่อปี 2564 โตโยดะอธิบายข้อดีของการพัฒนาเครื่องยนต์ที่เผาไหม้ไฮโดรเจนแทนที่จะเป็นน้ำมัน ว่าเพราะศัตรูที่ต้องกำจัดคือคาร์บอน ไม่ใช่เครื่องยนต์สันดาปภายใน คำอธิบายนี้ทำให้ผู้วิจารณ์โตโยต้ามองว่า นายใหญ่โตโยต้าพูดปกป้องเครื่องยนต์สันดาปจนแปลกเกินไป

อีกประเด็นที่ถูกวิจารณ์คือ การปล่อยให้โตโยต้าเป็นธุรกิจของครอบครัว จนดูไม่เป็นมืออาชีพ กลายเป็นเรื่องตัวบุคคล อย่างกรณีที่ ไดสุเกะ ลูกชายของโตโยดะ ทำงานให้กับ Woven Planet บริษัทสาขาของโตโยต้า ที่ทำงานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ และการขับขี่ที่ควบคุมโดยอัตโนมัติ กลายเป็นคำถามถึงบริษัทที่ดำเนินการมา 85 ปี และยังจะเป็นอย่างไรใน 85 ปีข้างหน้า

สำหรับซาโต้ ผู้ที่มารับไม้ต่อจากโตโยดะ เป็นบุคคลที่โตโยดะกล่าวว่า “วัยที่ยังหนุ่มและความสามารถที่มีจะก้าวข้ามข้อจำกัดที่ผมไม่อาจจะฝ่าไปได้”

โคจิ ซาโต้
Koji Sato, who was named as new CEO of Toyota Motor Corp, attends Tokyo Auto Salon 2023 at Makuhari Messe in Chiba, east of Tokyo, Japan January 13, 2023. REUTERS/Kim Kyung-Hoon

ตอนที่เป็นหัวหน้าทีมเลกซัส ซาโต้สร้างยอดขายให้เติบโต และช่วงสองปีมานี้ ซาโต้ยังรับหน้าที่หัวหน้าทีมสร้างแบรนด์ให้บริษัททั้งหมด เขาเป็นวิศวกรที่ผ่านการฝึกฝน และยิ้มอยู่ตลอด จึงไม่ต้องแปลกใจที่หลานผู้ก่อตั้งบริษัทจะไว้วางใจ

เมื่อปีก่อน มีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งถามในการประชุมประจำปีถึงการส่งมอบตำแหน่งผู้นำ โตโยดะกล่าวว่า ใครก็ตามที่เดินตามรอยเขาจะมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าโดยไม่หวั่นไหวว่า ทำไมโตโยต้าถึงยังอยู่มาถึงวันนี้ และเขาจะมองหาการจัดการที่กระปรี้กระเปร่า ด้วยการแต่งตั้งคนที่เหมาะสม

 

เมื่อตอนที่โตโยต้าเปิดแผนยุทธศาสตร์อีวี มูลค่า 31,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาท ปลายปี 2564 มีการแชร์วิดีโอที่ซาโต้และโตโยดะขับรถเลกซัส ต้นแบบที่เป็นอีวี นี่เป็นสัญญาณที่แจ่มชัดว่า ซาโต้ได้รับการวางตัวให้มาสืบทอดตำแหน่ง


คลิปนั้น โตโยดะพูดว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผมเหยียบให้เร็วกว่านี้” ซาโต้ตอบว่า “ไม่ต้องเกรงใจครับท่าน” จากนั้นทั้งสองก็ร้อง วู้ววววว พร้อมกันจังหวะที่รถทะยานออก

มาถึงตอนนี้ บลูมเบิร์กตบท้ายบทวิเคราะห์ว่า ทั้งประธานคนใหม่ และซีอีโอคนใหม่ ต่างต้องการให้ทุกคนขานรับยุทธศาสตร์รถอีวีของโตโยต้าแบบนี้เช่นเดียวกัน