“เวียดนาม” ขวางนำเข้ารถยนต์ ส่งออก4หมื่นล้านกระทบหนัก

ค่ายรถยนต์ระส่ำ หลังเวียดนามใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี คุมเข้มมาตรฐานรถนำเข้า “พาณิชย์” เร่งแก้หวั่นกระทบตลาดส่งออก4 หมื่นล้านบาท “ฟอร์ด-ฮอนด้า” ลุ้นรัฐเจรจาได้ข้อยุติ ด้านกระทรวงเมติ-สมาคมอุตฯยานยนต์ญี่ปุ่นช่วยล็อบบี้อีกแรง

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการส่งเสริมการส่งออกและลงทุนในต่างประเทศ (D4) ได้ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ขอให้แก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดเวียดนาม หลังรัฐบาลเวียดนามประกาศใช้กฎระเบียบใหม่โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น

กฎใหม่เวียดนามป่วนส่งออก

เพราะการดำเนินการดังกล่าว นอกจากส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ทำให้มีต้นทุนในการตรวจสอบรถยนต์ที่ส่งไปจำหน่ายในตลาดเวียดนามเพิ่มขึ้นคันละ 1,000 เหรียญสหรัฐแล้ว อาจไม่ได้รับความสะดวกในการส่งออกด้วย เพราะสินค้าจะติดค้างอยู่บริเวณท่าเรือเพื่อรอการตรวจสอบก่อนนำไปจัดจำหน่าย ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นนี้ถือเป็นการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTM) กับรถยนต์นำเข้า เพราะเดิมเวียดนามไม่มีโรงงานรถยนต์ แต่กลับกำหนดมาตรฐานในการตรวจสอบรถยนต์

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า ในปี 2559 ไทยส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม เป็นตลาดอันดับ 10 มีสัดส่วนประมาณ 3% ของการส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบ มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,211 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 42,403 ล้านบาท ขณะที่ 11 เดือนแรกตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย. 2560 ส่งออกรวม 969.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.22%

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ (priority) ในการติดตามแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการผลิต การค้า และการนำเข้ารถยนต์ (Decree 116) โดยได้หารือในระดับนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ณ นครดานัง เวียดนาม เมื่อเดือน พ.ย. 2560

พาณิชย์ใช้ทั้งไม้อ่อน-ไม้แข็ง

ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งข้อกังวลเรื่องนี้ไป ขณะที่นายกฯเวียดนามรับจะอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนการนำเข้ารถยนต์จากไทย และต่อมาได้หยิบยกหารืออีกครั้งในโอกาสที่เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย H.E. Mr.Nguyen Hai Bang เข้าพบนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ซึ่งเวียดนามได้รับที่จะติดตามเรื่องนี้ให้

รายงานข่าวระบุว่า การที่เวียดนามประกาศใช้มาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อสินค้านำเข้า อาจเป็นผลมาจากรัฐบาลเวียดนามต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ลดการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ หลังยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเกินกว่า 3 ปี โดยปี 2559 ที่ผ่านมา นำเข้า 112,497 คัน (สัดส่วนประมาณการตลาดรถยนต์ในประเทศ 197,000 คัน) มูลค่าเข้า 2,381 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปี 2558 ซึ่งนำเข้า 125,534 คัน 2,982 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 รองลงมาคือ อินเดีย เกาหลี จีน และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องหารือก่อน ถ้าไม่ได้ข้อสรุปแนวทางการฟ้องร้องเป็นทางเลือกที่สุดท้าย

เอกชนลุ้น “บิ๊กตู่” ช่วยแก้

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวเวียดนามออกประกาศตั้งแต่ 17 ต.ค. 2560 และให้มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2561 สำหรับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (CLMV) ซึ่งมีผลทำให้ภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็นศูนย์

“เวียดนามต้องการสร้างมูลค่าให้กับภาคการผลิตภายในประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยซึ่งมีการส่งออกไปเวียดนามอยู่ปีละ 40,000-50,000 คัน ได้รับผลกระทบ ผู้ผลิตค่ายรถยนต์ยังไม่สามารถส่งรถยนต์รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อไปขายและประกอบยังฐานการผลิตเวียดนาม ซึ่งตลาดโดยรวมมีความต้องการที่ 205,000-300,000 คัน/ปี แต่เรื่องนี้ท่านนายกฯเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด”

เมติ-เอกชนญี่ปุ่นเร่งสางปม

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าวประจำปีของโตโยต้าเมื่อ 16 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ความต้องการรถยนต์ในเวียดนามโดยรวมสูงถึง 220,000-230,000 คัน

“เรื่องนี้เมติ (กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม) ของญี่ปุ่น ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น ได้พยายามเจรจากับรัฐบาลเวียดนาม แต่ยังไม่มีรายละเอียดความคืบหน้า”

ส่งออกฟอร์ด-ฮอนด้า สะเทือน

ในส่วนของค่ายรถยนต์ แหล่งข่าวจากบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ระบุว่า โตโยต้าส่งออกรถยนต์ไปขายเวียดนามปีละ 12,000-13,000 คันต่อปี

ขณะที่แหล่งข่าวระดับบริหารจาก บจ.มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ชี้แจงว่า การส่งออกรถมิตซูบิชิกระทบไม่มาก เพราะบริษัทแม่วางแผนและคาดการณ์ปัญหาที่จะเกิดขึ้น และปรับแผนการผลิตรวมทั้งควบคุมสต๊อก

ส่วนฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปีนี้ได้ระงับการผลิตรถฟอร์ด เรนเจอร์ และฟอร์ด เอเวอเรสต์ ที่ผลิตในไทย และฟอร์ด เอ็กซ์พลอเรอร์ ที่ผลิตในสหรัฐสำหรับส่งออกไปยังเวียดนามแล้ว ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์แห่งประเทศเวียดนาม (VAMA) แก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด

ด้านนายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บจ.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปีที่แล้วฮอนด้าส่งออกรถยนต์นั่งสำเร็จรูปไปเวียดนาม 1,900 คัน เป็นรุ่นเเอคคอร์ด ซีวิค และซีอาร์-วี ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ฮอนด้าไม่สามารถส่งรถยนต์นั่งสำเร็จรูปออกไปเวียดนามได้ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

อนึ่ง จากข้อมูลของ Global Trade Atlas (GTA) รายงานว่า มูลค่าส่งออกรถยนต์นั่งไปเวียดนามย้อนหลัง มีดังนี้ คือ พ.ศ. 2557 มูลค่า 1,275 ล้านบาท พ.ศ. 2558 มูลค่า 2,983 ล้านบาท และ พ.ศ. 2559 มูลค่า 5,189 ล้านบาทขณะที่การส่งออกกระบะมีมูลค่า 5,920 ล้านบาท 10,607 ล้านบาท และ 14,035 ล้านบาท