ส่องตลาดรถอีวีปีกระต่าย แบรนด์จีนยังแรงต่อเนื่อง

ตลาดอีวี
รายงาน

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่คนในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์เองยังรู้สึก “เซอร์ไพรส์” สำหรับการตื่นตัวของลูกค้าชาวไทยต่อเทคโนโลยีใหม่ “มอเตอร์ไฟฟ้า” ที่กำลังจะคืบคลานเข้ามาแทนที่ “เครื่องยนต์สันดาปภายใน”

หรือจะบอกว่ากระแสรถอีวีของบ้านเราวันนี้ “จุดติด” ก็คงไม่ผิด นั่นเพราะยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา แค่ 11 เดือนของปี 2565 ทะลุ 1.8 หมื่นคัน และเชื่อว่ายอดจดทะเบียนปี 2566 ทั้งปีน่าสูงถึง 5 หมื่นคัน

ย้อนกลับไปดูความนิยมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่ปี 2555 กรมการขนส่งทางบก รายงานว่าประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแค่ 172 คัน และขยับมาเป็น 325 คัน ในปี 2561

ส่วนในปี 2562 กระแสความนิยมมีมากขึ้น แต่ก็ทำได้แค่ 1,572 คัน

ปี 2563 ตัวเลขเริ่มก้าวกระโดด หลังจาก ค่ายซีพี ผนึกกำลังกับ SAIC MOTOR CORPORATION ยักษ์ใหญ่จากจีน เปิดรถอีวีแบรนด์ “เอ็มจี” ในบ้านเราแบบเต็มตัว ยอดจดทะเบียนพุ่งไปถึง 2,999 คัน และ 5,889 คันในปี 2564 ที่ผ่านมา ส่วนปี 2565 มีแบรนด์รถจีนถาโถมเข้ามาในตลาดบ้านเราหลายแบรนด์ ทั้ง โอร่า, บีวายดี, เนต้า ฯลฯ แม้ตัวเลขยังไม่เป็นทางการ แต่ประเมินกันว่าน่าจะทะลุ 2 หมื่น แค่เฉพาะในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปลายปีที่ผ่านมาก็กดไปมากกว่า 6 พันคัน

รถยนต์ไฟฟ้า MG ZS EV ยอดขายพุ่ง

อย่างแรกที่ปฏิเสธไม่ได้ คือผู้เล่นแต่ละแบรนด์มีโปรดักต์เด่น ๆ และแคมเปญเด็ด ๆ กระตุ้นการขายกันอย่างคึกคัก แต่ตัวเร่งที่แข็งแกร่งสุด ๆ หนีไม่พ้นแรงสนับสนุนจากรัฐบาล ที่กระโดดลงมาช่วยสร้าง “ดีมานด์” อย่างเต็มตัว โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งคลังใช้งบฯ อุดหนุนวงเงินเกือบ 3,000 ล้านบาท

โดยรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้าน ผู้ซื้อได้รับเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท ขณะที่จักรยานยนต์ไฟฟ้า รับเงินอุดหนุน 8 หมื่นบาท ซึ่งมาตรการสนับสนุนนี้ มีผู้ผลิตทั้งแบรนด์จีน ญี่ปุ่น และอื่น ๆ รวมถึง 12 ราย อาทิ เอ็มจี, เกรทวอลล์, โตโยต้า, โวลต์, ไมน์ โมบิลิตี, บีวายดี, เนต้า, เดโก้ กรีน, เอช เซม มอเตอร์, ไทยฮอนด้า และล่าสุดเมอร์เซเดส-เบนซ์

นอกจากในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปที่ค่ายรถยนต์กวาดยอดจองแบบถล่มทลายแล้ว ล่าสุดการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของยักษ์ใหญ่ในวงการผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก สัญชาติอเมริกัน ที่มีมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ เป็นซีอีโอ ประกาศลุยทำตลาดรถอีวีในบ้านเราอย่างจริงจัง นับเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งดีมานด์ในตลาดได้เป็นอย่างดี

Tesla เปิดจอง 2 รุ่น พร้อมระบุว่า Tesla สามารถส่งมอบรถได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2566 นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิดศูนย์บริการแห่งแรกภายในไตรมาสแรกของปี 2566 ด้วยเช่นเดียวกัน รวมทั้งยังมีแผนเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบซูเปอร์ชาร์จ แห่งแรกภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และจะขยายเพิ่มเป็น 10 แห่งในอนาคตอันใกล้

พร้อมประกาศราคา Tesla MODEL 3 และ MODEL Y อย่างละ 3 รุ่นย่อย ระดับราคา 1.759 ล้านบาท ไปจนถึง 2.59 ล้านบาท สร้างสถิติการจองถล่มทลาย ตัวเลขจองทะลุหมื่นคันในเวลารวดเร็ว เนื่องจากทั้ง 2 โมเดลมีราคาขายที่ต่ำลงเกือบล้านบาทเมื่อเทียบกับเกรย์มาร์เก็ตซึ่งทำตลาดไปก่อนหน้านี้

เทสลา โมเดล Y

กระแสและดีมานด์รถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบีโอไอมั่นใจกับการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคแห่งนี้ ตามนโยบาย 30/30 ของรัฐบาลไทยที่ตั้งใจจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 700,000 คัน หรือคิดเป็น 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573

โดยมีรายงานข่าวสนับสนุนว่า ในปี 2566 นี้จะมีค่ายรถจีนแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมตลาดในบ้านเราอีก 3-4 ราย อาทิ ฉางอัน, จิลลี่ และเฌอรี และเกือบทุกแบรนด์มีแผนดึงโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และดำเนินการสถานีอัดประจุไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย

ขณะที่รถอีวีจากฟากรถหรูแบรนด์ยุโรป แม้ราคาแต่ละแบรนด์จะทะลุ 2 ล้านบาท แต่กระแสความนิยมก็ต้องถือว่าไม่เบาทีเดียว โดยเฉพาะส่วนลดที่สรรพสามิตมอบให้ ตั้งแต่ภาษีศุลกากรคิดแค่ 20% และภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% ซึ่งรวม ๆ แล้วก็ไม่ต่ำกว่าคันละ 7-8 แสนบาท ทำให้ทั้ง MINI Cooper SE, Lexus UX 300e, Jaguar i-PACE Audi e-tron GT, Volvo XC40, Volvo C40, BMW iX3, Mercedes-Benz EQS 450+, BMW i4 พลอยได้รับอานิสงส์นี้ไปด้วย

นี่ยังไม่รวมตัวเร่งที่หลายคนคาดไม่ถึง “กระบะอีวี” ซึ่งค่ายโตโยต้าประกาศชัดเจนว่าปี 2566 ลูกค้าชาวไทยได้สัมผัสและสามารถเป็นเจ้าของ “ไฮลักซ์ รีโว่ (BEV)” ได้แน่นอน

ตลาดรถอีวีที่หลาย ๆ คนมองว่ายังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ปีกระต่ายทองนี้น่าจะเป็นหนึ่งบทพิสูจน์ที่น่าสนใจ