ปัญหาต้นทุนพุ่ง MG ทำกำไร “รถอีวี” ได้บางมาก

คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ปี 2565 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยตื่นตัวและคึกคักกับเซ็กเมนต์รถยนต์ไฟฟ้าแบบน่าตกใจ ตัวเลขจดทะเบียนทะลุ 2 หมื่นคัน โดยได้แรงหนุนจากมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บุกเบิกทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา สะท้อนมุมมองและแนวคิดในฐานะผู้นำตลาดรายแรก ๆ รวมถึงปัจจัยที่สะท้อนด้านโครงสร้างราคา โดยเฉพาะต้นทุนในการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น แต่ด้วยเงื่อนไขที่เข้าร่วมกับกรมสรรพสามิต ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ต้องพยายามรักษาโมเมนตัมด้าน “ราคา” ไม่ผลักภาระไปยังผู้บริโภค

Q : แก้ปัญหาเรื่องต้นทุนรถอีวีปรับตัวสูงขึ้นอย่างไร

ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เอ็มจี มีความจำเป็นเข้าไปคุยกับสรรพสามิตโดยตรง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เอ็มจี หรือแม้แต่ค่ายรถรายอื่น ๆ เองต่างก็ไม่ต้องการผลักภาระไปยัง “ผู้บริโภค” หรือเปลี่ยนแปลงราคาจำหน่ายบ่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง

แต่ด้วยปัจจัยของ “ค่าเงิน” โดยเฉพาะเงินหยวนที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท รวมทั้งดอลลาร์ที่แข็งค่ามากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา, แร่ที่เกี่ยวกับการผลิตรถอีวีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าทำกำไรได้บางมาก

นอกจากนี้ “MG” เปิดตัวรถอีวี 2 รุ่น ตั้งแต่ปลายปี 2564 นั่นหมายความว่า ต้นทุนการผลิตตอนนั้นยังไม่สูงเท่าวันนี้ มีเพียง MG 4 โมเดลเดียวที่คำนวณต้นทุนไว้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน แต่ MG ก็เข้าใจดุลพินิจของสรรพสามิตว่าไม่ต้องการให้กระทบกระเทือน เพราะเรื่องนี้เป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ เราไม่ได้กดดัน แต่อยากให้เข้าใจ

เราทำธุรกิจทุกคนก็หวังให้ได้กำไรที่เหมาะสม วันนี้ต้องประคับประคองมาก เพื่อส่งมอบรถให้ลูกค้า อย่าลืมว่าการขึ้นราคาไม่ได้มองลูกค้ากลุ่มเดิมที่จองไปแล้ว แต่คือลูกค้ากลุ่มใหม่ ลูกค้าที่จองวันไหนก็เป็นราคา ณ วันนั้น วันนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง ลูกค้ามีสิทธิจองตามราคาเดิมที่ประกาศไว้

MG

Q : ต้นทุนขึ้นมากน้อยแค่ไหน

เนื่องจากไม่ใช่ต้นทุนของตัวผลิตภัณฑ์ 100% เป็นแค่บางส่วน บางแฟ็กเตอร์ จะมีผล 5-10% ตอนนี้ EP หยุดรับจอง แต่ ZS EV และ MG 4 เปิดจองสำหรับลูกค้าทั่วไปอยู่ แต่ถ้าต้นทุนมันสูงเกินกว่าจะรับได้ก็อาจจะต้องปิดรับจองอีกครั้งหนึ่ง

Q : เตรียมรับมือค่ายรถญี่ปุ่นบุกรถอีวีอย่างไร

ถ้ามองอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก แบรนด์ที่มาจากค่ายญี่ปุ่นมีน้อยมาก ๆ ยังตามหลังอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ที่มีชัดเจนคือจีน และตามมาคืออเมริกา ที่พยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมเข้าสู่ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ยุโรปไปรถไฟฟ้าส่วนใหญ่แล้ว เหลือแค่เอเชียมีญี่ปุ่นที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา หรืออาจจะมีบางโมเดล

แต่ก็ยังห่างไกลจาก 3 เจ้าที่พูดถึง โดยเฉพาะจีนถ้าเทียบ MG ปัจจุบันมีรถ 3 รุ่น ถ้าค่ายญี่ปุ่นจะแนะนำต้องแนะนำแบรนด์ละ 1 รุ่น ยังตามหลังรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเยอะมาก รถยนต์แบรนด์จีนยี่ห้ออื่น ๆ เตรียมรถโปรดักชั่นไว้เยอะมาก แค่ไม่ใช่พวงมาลัยขวา และนี่คือทรัพยากรของแบรนด์จีนที่มีอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าต้องใช้เวลา 5-10 ปีกว่าจะไล่ทันแบรนด์รถยนต์จากจีนที่มีคุณภาพ แบรนด์จีน บรู๊ฟแล้วว่ามีคุณภาพไม่แพ้รถญี่ปุ่น หรือรถประเภทสันดาปเลย อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจะโตเป็นเท่าตัวในช่วงแต่ละปีจากนี้

การสนับสนุนของรัฐบาลยังมีอยู่ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเติบโตได้เร็ว ถ้าการสนับสนุนหมดลง ราคาอาจจะแพงขึ้น คนซื้อก็อาจจะลดลง การทำให้เกิดการซื้อเพื่อทดแทนนั้น ต้องใช้เวลานานมากขึ้น MG หวังว่าในปี 2030 จะมีสัดส่วนการขายรถอีวีถึง 50% ของยอดขายทั้งหมด ตามแผนในปี 2024 MG จะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก จะเป็นรุ่นไหนต้องติดตาม เราจะเลือกรุ่นที่เหมาะสมกับลูกค้าบ้านเรา

Q : ตั้งเป้าหมายการขายปีนี้ไว้เท่าไหร่

ผลประกอบการในปีที่ผ่านมา MG มีผลการดำเนินงานไม่เติบโตมากนัก มียอดขายปี 2565 อยู่ที่ 27,000 คัน เป็นผลเนื่องจากปัญหาซัพพลาย เฉพาะรถเครื่องยนต์สันดาป เรายังมีปัญหาอยู่พอสมควร ซึ่งควรจะเติบโตขึ้น แต่เราไม่สามารถขายรถยนต์สันดาปได้ แม้ว่าเราจะมีรถยนต์ไฟฟ้า โดยรวม MG ควรจะทำได้ดีกว่านี้ และในปีที่แล้วมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเกือบ ๆ 4,000 คัน

สำหรับเป้าหมายปีนี้ พยายามไปให้ได้ถึง 50,000 คัน มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา และจะอยู่ 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 5% และอาจจะมองไปที่ 6-7%