รถหรูเดือด “เบนซ์” ลุยเพิ่มพื้นที่งานมอเตอร์โชว์ 2023

เมเซอร์เดส-เบนซ์

เมเซอร์เดส-เบนซ์ กร้าวทวงคืนแชมป์รถหรู นายใหม่ฟิตจัดบี้ทีมงานเจรจาผู้จัดมอเตอร์โชว์ขอพื้นที่เพิ่ม แจงมีรถใหม่เปิดตัวเพียบ พร้อมปรับทัพงานขาย-บริการ เดินหน้าเลิกสงครามราคา ด้านบีเอ็มดับเบิลยู ปลื้มกวาดแชมป์ 3 ปีซ้อน “กรังด์ปรีซ์” เขย่าพื้นที่จัดงานใหม่หลังโควิดซา เผยปิกอัพอีวีเสียบ 2 ยี่ห้อ และน้องใหม่อีวีจากอเมริกา

เป็นที่แน่นอนแล้วว่าตลาดรถหรูปี 2565 ที่ผ่านมา การขับเคี่ยวระหว่างสองแบรนด์ยักษ์ดาวสามแฉกและใบพัดสีฟ้าปรากฏว่าบีเอ็มดับเบิลยูกำชัยชนะติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ส่งผลให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ต้องทำอะไรอีกหลายอย่างเพื่อเอาคืน

เพิ่มพื้นที่มอเตอร์โชว์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายมาร์ติน ชเวงค์ เข้ารับตำแหน่งประธานใหญ่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ความต้องการสูงสุดของประธานคนใหม่ คือต้องการเห็นเมอร์เซเดส-เบนซ์ กลับมาเป็นผู้นำตลาดประเทศไทยอีกครั้ง

ทั้งนี้ การที่จะก้าวกลับมาอยู่เบอร์หนึ่ง ในขณะที่คู่แข่งยังแข็งแกร่งเป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้น องค์กรเมอร์เซเดส-เบนซ์ จะต้องปรับตัวใหญ่ทั้งองคาพยพ เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยงานแรกนายคนใหม่ได้สั่งให้ทีมการตลาดและอีเวนต์เจรจากับผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ ขอเพิ่มพื้นที่จัดงานจากเดิมที่จองไว้แค่ 1,000 ตร.เมตร เพื่อให้บูทโดดเด่นและมีความน่าสนใจมากกว่าที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไทยแลนด์ดำเนินนโยบายตามบริษัทแม่ ให้ความสำคัญกับอีเวนต์ขายรถยนต์น้อยลง แต่ไปเพิ่มน้ำหนักกับงานโชว์เทคโนโลยี อาทิ งาน CES (Consumer Electronics Show) ที่เน้นการแสดงด้านเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในโลก และลดความสำคัญกับการเข้าร่วมงาน ทั้งมอเตอร์โชว์และมอเตอร์เอ็กซ์โปดังนั้นที่ผ่านมา พื้นที่การจัดงานของค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์เล็กลงมาก ประกอบตัวเองมีแพลตฟอร์ม ประเภทดิจิทัลไกด์ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้มากกว่า โดยคาดไม่ถึงว่าผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะได้สัมผัสกับโปรดักต์แบบถึงเนื้อถึงตัวมากกว่า ทำให้ยอดจองรถในงานถูกคู่แข่งแซงหน้ามาตลอด

สำหรับนายมาร์ติน ชเวงค์ เข้ารับตำแหน่งต่อจากนายโรลันด์ โฟล์เกอร์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 โดยนายมาร์ตินเคยนั่งตำแหน่ง CFO ให้กับเมอร์เซเดส-เบนซ์ เซลส์ ในประเทศจีน และก่อนจะมาดูแลประเทศไทย มาร์ตินเป็นประธานบริหารที่อินเดีย มีบทบาทสำคัญในการเตรียมเมอร์เซเดส-เบนซ์ อินเดีย เพื่อก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์

รื้อโครงสร้างงานขาย

ทั้งนี้ นายมาร์ตินเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับ “วัน ไพรซ์ โพลิซี” (one price policy) ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานคนเก่าเคยมาใช้ในประเทศไทย จุดเด่นของนโยบายนี้คือลดปัญหาการตัดราคาระหว่างดีลเลอร์ ได้มอบนโยบายให้กับดีลเลอร์ทุกราย เพื่อดำเนินธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้เป็นลักเซอรี่แบรนด์ ตั้งแต่ตัวสินค้า บริการ และการสื่อสารการตลาด

ล้มยักษ์ 3 ปีซ้อน

สำหรับค่ายบีเอ็มดับเบิลยู นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานและซีอีโอ เตรียมประกาศชัยชนะปี 2565 อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมแถลงข่าวทิศทางและโปรดักต์ใหม่ประจำปี 2566

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ชัยชนะของบีเอ็มดับเบิลยูที่มีเหนือเมอร์เซเดส-เบนซ์ เริ่มมาจากปี 2563 บีเอ็มดับเบิลยู มียอดขาย 12,426 คัน ขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทำได้แค่ 10,613 คัน ส่วนปี 2564 บีเอ็มดับเบิลยู ยังมียอดขาย 9,982 คัน แซงหน้าเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่ทำได้เแค่ 9,820 คัน และล่าสุดปี 2565 แม้ตัวเลขยังไม่เป็นทางการ แต่บีเอ็มดับเบิลยูก็มียอดขายสูง 13,572 คัน ขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทำได้แค่ 13,000 คัน เท่ากับเป็นการล้มยักษ์อย่างต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน

เพิ่มสเกลเพิ่มยอด

แหล่งข่าวจากบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ 2023 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่างานมอเตอร์โชว์ที่จะมีขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม-วันที่ 2 เมษายน 2566 นี้ ได้มีการปรับเพิ่มพื้นที่จัดแสดงของเมอร์เซเดส-เบนซ์ จริง หลังจากได้รับการติดต่อจากทีมงานเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไทยแลนด์ โดยให้เหตุผลว่าจะมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่

ซึ่งผู้จัดได้ปรับผังจัดแสดงใหม่และขยับพื้นที่เล็กน้อย โดยเฉพาะปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิดได้คลี่คลายลงไปมาก และกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ทำให้สามารถปรับพื้นที่ทางเดินระหว่างบูทให้กลับเข้ามาเป็นขนาดปกติ โดยไม่ต้องเว้นระยะห่างตามที่กระทรวงสาธารณสุขเคยกำหนด ได้พื้นกลับมาพอสมควร โดยก่อนหน้านั้นผู้จัดงานถูกให้ปรับเพิ่มพื้นที่ทางเดินกลางจาก 6 เมตร เป็น 10 เมตร และทางเดินระหว่างบูทจาก 3 เมตร เป็น 6 เมตร สามารถกลับมาใช้สเกลเดิมคือ พื้นที่ทางเดินกลางเหลือ 6 เมตร ส่วนพื้นที่ระหว่างบูทเหลือ 3 เมตร สามารถจัดพื้นที่ให้แบรนด์รถยนต์ 2 แบรนด์ใหม่ที่จะเข้าร่วมงานเป็นครั้งแรกได้

ปิกอัพอีวีอวดโฉม 2 รุ่น

ก่อนหน้านี้นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายกิจกรรมพิเศษ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดงานล่าสุดว่า มีผู้ประกอบการรถยนต์และรถจักรยานยนต์กว่า 37 แบรนด์ชั้นนำ ซึ่งเข้าร่วมงานสะท้อนถึงความมั่นใจต่อแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย

โดยปีนี้มีกลุ่มลูกค้ารายใหม่ที่เป็นแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ได้แก่ BYD และ NETA ติดต่อเข้ามาจองพื้นที่เพิ่ม และยังมีผู้ประกอบการนำเข้ารถกระบะไฟฟ้าอีก 2 ราย รวมถึงแบรนด์ EV Car จากสหรัฐอเมริกาที่แสดงความสนใจเข้าจองพื้นที่ภายในงานเช่นกัน ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งรถ (accessories) ได้แสดงความสนใจจองพื้นที่ล่วงหน้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก ตอกย้ำให้เห็นถึงความคึกคักของการจัดงานในปีนี้

ตั้งเป้ายอดเพิ่ม 10%

ทั้งนี้ บริษัทได้บริหารจัดการพื้นที่ภายในฮอลล์เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้เช่าอีก 2,000 ตร.ม. และคาดว่ารายได้จากการจัดงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 44 จะเติบโตกว่า 10%

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการจัดงานมอเตอร์โชว์ในปี 2565 ที่ผ่านมา มียอดจองทั้งสิ้น 31,896 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ 2564 ถึง 14.4% ค่ายรถยนต์ที่มียอดจองสูงสุด ได้แก่ โตโยต้า จำนวน 5,128 คัน รองมาเป็นฮอนด้า จำนวน 3,019 คัน ขณะที่ยอดจองรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 2,040 คัน ค่ายที่ทำยอดจองสูงสุดภายในงาน ได้แก่ ยามาฮ่า จำนวน 939 คัน, ฮาร์ลีย์ เดวิดสัน จำนวน 305 คัน