
ถือเป็นจุดเริ่มต้นเพื่ออนาคตที่ยิ่งใหญ่สำหรับความร่วมมือครั้งสำคัญของบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือ เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
คือ “การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน” (carbon neutrality) ให้ได้ภายในปี 2050 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี แต่จะใช้ความหลากหลายในเชิงเทคโนโลยี เทคนิคที่ค่ายรถยนต์แต่ละรายถนัด เพื่อผลักดัน และเดินไปสู่ความสำเร็จ
- ป.ป.ช.เปิดบัญชีทรัพย์สิน หมอชลน่าน ศรีแก้ว พ้น ส.ส. รวย 560 ล้านบาท
- โรงงานชลบุรีปิดหนี เทลูกจ้าง ค้างค่าแรง 7 เดือน ยอดชดเชย 12 ล้านบาท
- กรมอุตุฯอัพเดต เส้นทางพายุไต้ฝุ่น “มาวาร์” เตือนฝนตกหนัก 27-30 พ.ค.
ทั้งยังถือเป็นความร่วมแรงร่วมใจครั้งสำคัญของผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น ที่พร้อม “ใจ” เปลี่ยนบทบาท จาก “คู่แข่งทางการค้า” มาจับมือร่วมกันเป็น “พันธมิตร” ที่แข็งแรงและแข็งแกร่ง
ภายใต้โครงการ CJPT หรือ Commercial Japan Partnership Technologies เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ค่ายรถยนต์ 4 บริษัท ได้แก่ โตโยต้า มอเตอร์, อีซูซุ มอเตอร์, ซูซูกิ มอเตอร์ และไดฮัทสุ มอเตอร์ รวมกับ ฮีโน่ มอเตอร์ส ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท คอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ทเนอร์ชิป เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น (Commercial Japan Partnership Technologies) ภายใต้เงินลงทุน 10 ล้านเยน โดยมีสัดส่วนโครงสร้างแหล่งเงินทุน แบ่งเป็น
- โตโยต้า 70%
- อีซูซุ 10%
- ซูซูกิ 10%
- ไดฮัทสุ 10%
ภายใต้ธุรกิจหลักคือการวางแผนเทคโนโลยีและการให้บริการเทคโนโลยี CASE (connected, autonomous, shared, electric) สำหรับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มาพัฒนาร่วมกันเพื่อใช้งาน โดยมุ่งหวังลดปัญหาที่พบในระบบขนส่ง และไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมี นายฮิโรกิ นากาชิมา นั่งแท่นประธานบริษัท
ทั้งนี้ CJPT ได้เลือกปักหมุดใช้ไทยเป็นประเทศแรก และเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในภูมิภาคนี้ หลังจากได้ประกาศความร่วมมือกับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อย่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมุ่งขยายพันธมิตรภายในภูมิภาคเอเชีย เพื่อความสุขของคนไทย 67 ล้านคน CJPT มุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่
ทางออกด้านพลังงาน (energy solution) ด้วยการผลิตพลังงานไฮโดรเจนโดยใช้ของเสียชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และ food loss, ทางออกผ่านการขับเคลื่อนและการเดินทาง (mobility solution) โดยใช้พลังงานทางเลือกที่หลากหลายตามสถานการณ์ของประเทศนั้น ๆ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ ทางออกผ่านการใช้ข้อมูล (data solution) โดยผสานจุดแข็งของแต่ละบริษัทเข้าไว้ด้วยกัน โดยสามารถทำสิ่งที่ทำได้ในวันนี้ คือการลด CO2 ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้าด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างโทรคมนาคมชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย
สำหรับการขับเคลื่อนทางออกทั้ง 3 ทาง เริ่มเห็นความชัดเจนในส่วนของประเทศไทย หลังจาก CJPT จับมือกับ CP โดยในส่วนของทางออกแรก คือพลังงาน ด้านชีวมวลนั้น มีการใช้ มูลไก่ จากฟาร์มของ CP ไปทดลองทำการศึกษา โดยนำมูลไก่มาหมักจนได้ก๊าซ จากนั้นอัดเข้าถัง ส่งไปญี่ปุ่นเพื่อแยกเป็นไฮโดรเจนกลับมา โดยเบื้องต้นส่งไป 20 กก. ได้ไฮโดรเจน 2 กก. และได้นำมาทดลองใช้เติมกับรถยนต์ FCEV หรือ fuel cell ได้ไม่มีปัญหา เพื่อการใช้งาน และคาดว่าจะมีการขยายขอบเขตความเข้มข้นเพิ่มขึ้น
ทางออกที่สอง ผ่านการใช้ข้อมูล (data solution) มีการนำ big data มาใช้ กับการประมวลผลแบบเรียลไทม์ ผสานกับระบบโครงสร้างโทรคมนาคมที่แข็งแกร่ง ของ “ทรูและดีแทค” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการขนส่ง ทั้งการลดระยะทาง ลดระยะเวลา ลดการใช้รถขนส่ง และที่สำคัญลด CO2
และสาม ส่วนการขับเคลื่อนและการเดินทาง (mobility solution) ทั้ง 4+1 ค่ายรถยนต์ได้ทำเทคโนโลยี จุดเด่นจุดแข็งของแต่ละคนมาร่วมกันพัฒนา เพื่อตอบสนองการใช้งาน ใครเก่งด้านไหนก็นำจุดแข็งมาแชร์ มาพัฒนาร่วมกัน
มีรถยนต์พัฒนาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่เป็นความถนัดของค่ายฮีโน่ หรือรถบรรทุกขนาดกลางจากค่ายอีซูซุ และรถขนส่งขนาดเล็ก (ตู้) จากไดฮัทสุ และซูซูกิ, รถปิกอัพขนาด 1 ตัน จากโตโยต้า เรียกว่าเป็นรถยนต์หลากหลายรูปแบบ รองรับการใช้งานต่าง ๆ โดยใช้พลังงานที่หลากหลาย ทั้ง FCEV, BEV, LPG -HEV ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบไร้ข้อจำกัดด้านพลังงาน เพื่อไปสู่เป้าหมายการลด CO2 และความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้
สำหรับประเทศไทย CJPT ได้ร่วมกับโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จัดกิจกรรม Carbon Neutral Mobility Event ระหว่างวันที่ 17-31 มีนาคมนี้ ที่สนามทดสอบรถของโตโยต้า ที่บางนา โดยขนเอาเทคโนโลยีที่เกิดจากความร่วมมือของค่ายรถมาจัดแสดง และให้สื่อมวลชน ผู้เกี่ยวข้อง คู่ค้า หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมสัมผัสกับพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย และใช้งานได้จริง
ไม่ว่าจะเป็น TOYOTA SORA, HINO FCEV Heavy Duty Truck, ISUZU & TOYOTA FCEV Light Duty Truck, TOYOTA Granace FCEV, TOYOTA HILUX REVO BEV Concept, TOYOTA LPG-HEV Taxi Concept, SUZUKI EVERY Small Van, DAIHATSU HIJET Small Van, TOYOTA e-Palette, YAMAHA H2 ROV
มาจัดแสดงและสัมผัส เพื่อให้เห็นถึงรูปแบบการใช้งานจริง และรถยนต์พลังงานทางเลือกแบบไหนจะเหมาะสมกับรูปแบบการใช้งาน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้คนในประเทศนั้น ๆ ด้วย
สำหรับประเทศไทย รถยนต์ไฟฟ้าที่จะได้เห็น และมีการแนะนำออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน คือ TOYOTA HILUX REVO BEV Concept ที่วันนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในช่วงท้าย ๆ ของการเตรียมโปรดักต์ ก่อนนำออกขายจริงแล้ว
ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นอย่าง TOYOTA SORA, TOYOTA LPG-HEV Taxi Concept หรือ Japan Taxi VAN ได้มีการนำออกมาจำหน่ายแล้วและรถ Van ในญี่ปุ่น
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า การเพิ่ม “ความหลากหลาย” ของพลังงาน ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานแบบใด หากมีเป้าหมายเดียวกันคือ การลดค่า CO2 และความเป็นกลางทางคาร์บอนแล้ว “โลกใบนี้มีหลากหลายทางเลือก หลายพลังงาน แล้วทำไมไม่ลองเปิดให้ความหลากหลายถูกเลือกหยิบจับ พัฒนาเพื่อความหลากหลายเพื่อไปสู่พลังงานสะอาดอย่างเหมาะสม
เพราะลำพังเพียงแค่ค่ายรถยนต์แบรนด์เดียว จะเดินไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย