ปรับผลทดสอบ Yaris Ativ กระทบทั้ง “แบรนด์” และ “ความเชื่อมั่น”

YARIS Ativ
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 เม.ย.) ถือเป็นประเด็นใหญ่สำหรับวงอุตสาหกรรมยานยนต์โลก รวมทั้งประเทศไทย หลังจาก นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานคณะกรรมการ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ออกมาใช้พื้นที่ผ่านสื่อออนไลน์ ของ Toyota Times Global เพื่อแถลงแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับข้อบ่งชี้ถึงความไม่สมบูรณ์ของการเตรียมการทดสอบการชนด้านข้าง (UN R95)

หรือเข้าใจง่าย ๆ คือ ผลทดสอบด้านความปลอดภัย ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทลูกไดฮัทสุ “คลาดเคลื่อน”

โดยประธาน ไดฮัทสุ มอเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่ทดสอบความปลอดภัยของโตโยต้ารุ่นยาริส เอทีฟ ซึ่งเป็นการชนจากด้านข้างด้วยผู้โดยสารความเร็วหลายระดับหลายองศาการชน ยอมรับว่ามีการปรับแต่ง

สั่งรีเช็กอีกรอบ

หลังจากพบข้อบ่งชี้ถึงความไม่สมบูรณ์ของการทดสอบ โตโยต้าปรึกษากับไดฮัทสุ และหยุดการส่งมอบรถชั่วคราวไปยังกลุ่มตลาดที่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทดสอบการชนด้านข้าง UN-R95 ทันที

นอกจากนี้ ทางไดฮัทสุได้ทำการปรึกษาหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบและออกใบรับรอง เพื่อดำเนินการทดสอบการชนด้านข้าง UN-R95 ด้วยชิ้นส่วนที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในรถรุ่น Yaris Ativ เป็นการภายใน และขอยืนยันว่าเป็นไปตามข้อกำหนด UN-R95 ทั้งหมด

ผลทดสอบ

ลูกค้าใช้งานได้ปกติ

ภายหลังจากการรายงานผลการทดสอบ มีการลงความเห็นว่า สำหรับรถรุ่นปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขใด ๆ ซึ่งโตโยต้ายืนยันว่าลูกค้าสามารถใช้งานรถของท่านต่อไปได้ตามปกติ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ทางบริษัทมีการจัดทดสอบการชนด้านข้างต่อหน้าหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการทดสอบอีกครั้ง ซึ่งได้รับการอนุมัติว่าเป็นไปตามข้อกำหนด UN-R95

ซึ่งคน “ไดฮัทสุ” ยอมรับว่ามีการตัดหรือปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนบุด้านในของประตูที่นั่งด้านหน้าอย่างไม่ถูกต้อง และมีการละเมิดขั้นตอนและวิธีการทดสอบการชนด้านข้างตามข้อบังคับ

4 โมเดล 88,123 คัน

สำหรับรถยนต์ที่เข้าข่ายความคลาดเคลื่อนครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 88,123 คัน โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นรถยนต์ Toyota Yaris ATIV จำนวน 76,289 คัน ผลิตจากโรงงานประเทศไทย เพื่อจำหน่าย ไทย, มาเลเซีย, ประเทศในอ่าวอาหรับ, เม็กซิโก และอื่น ๆ

ส่วนรุ่น Perodua Axia เป็นรุ่นที่ผลิตและขายในมาเลเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา จำนวน 11,834 คัน ขณะที่รุ่น Toyota Agya ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมผลิตในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ที่โรงงานในประเทศอินโดนีเซีย และเตรียมขายในเอกวาดอร์ และโตโยต้า-ไดฮัทสุ ยังมีแผนที่จะพัฒนาและผลิตรถรุ่นอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งด้วย

ยอดผลิต โตโยต้า

หวั่นกระทบแบรนด์

ทันทีที่ตรวจพบความผิดพลาด อดีตนายใหญ่ อย่าง อากิโอะ โตโยดะ ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการผลิตรถยนต์ เราขออภัยจากใจจริงต่อลูกค้าทั่วโลกและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดสำหรับความไม่สะดวกและความไม่สบายใจ

ปัญหาที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเพียงปัญหาของไดฮัทสุอย่างเดียว ซึ่งเราจะเริ่มตรวจสอบอย่างละเอียด และรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ และทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา รวมถึงทำงานอย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นอีก นอกจากนี้ เราจะชี้แจงข้อเท็จจริงที่พบระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบให้สาธารณชนทราบอย่างทันท่วงที”

หยุดขาย-ส่งมอบ

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องตรวจสอบซ้ำในประเทศญี่ปุ่นตามข้อกำหนดการทดสอบพยาน (witness testing) จึงมีความจำเป็นต้องหยุดจัดส่งและจำหน่ายชั่วคราว หลังจากนี้ บริษัทจะทำการเร่งจัดส่งรถให้เร็วที่สุด ภายใต้คำแนะนำและการตรวจสอบอนุมัติโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางด้านสาเหตุของความไม่สมบูรณ์ในขั้นตอนการเตรียมการทดสอบ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

แต่ประเด็นข้อผิดพลาดเที่ยวนี้ของโตโยต้า ถือว่าหนักหนาเอาการ

เพราะไม่ใช่แค่ผิดพลาดจากกระบวนการผลิต ซึ่งบ่อยครั้งผู้ผลิตจะรับผิดชอบด้วยการ “รีคอล” เพื่อแก้ไขเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ แต่เที่ยวนี้เป็นการปรับปรุงผลการทดสอบ แถมเป็นการทดสอบเกี่ยวกับความปลอดภัย หลังเกิดวิกฤตครั้งนี้มีเสียงสะท้อนออกมาหลากหลาย กลายเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่โตโยต้าจะต้องพิสูจน์

เพื่อความเชื่อมั่นและความภักดีต่อแบรนด์ให้กลับคืนมาภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว