สินเชื่อทุบตลาดรถปิกอัพ ลุ้นฟื้นตัวหลังจัดตั้งรัฐบาล

ตลาดรถปิกอัพ

ค่ายรถโอดตลาดปิกอัพทรุดยาวหลังไฟแนนซ์เข้มปล่อยสินเชื่อปรับแผนลดอัตราปฏิเสธลูกค้า พร้อมอัดแคมเปญกระตุ้นยอดเพิ่มความสะดวกผ่อนชำระ ยืดเวลาผ่อนและจ่ายต่องวดต่ำสุด ๆ MG อัด 0%นาน 7 ปี โตโยต้าผ่อนยาว 96 เดือน ด้านอีซูซุผ่อนต่องวดแค่ 4 พันบาท เชื่อสถานการณ์ลากยาวเกินครึ่งปี

เป็นความจริงที่มิอาจปฏิเสธว่าสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ยังมิได้กลับมาโดดเด่น แม้ว่าเพิ่งจะหมดอีเวนต์ใหญ่มอเตอร์โชว์ไปไม่นานก็ตาม แต่ค่ายรถยนต์บางค่ายยังมีปัญหาสะสม ทั้งซัพพลายชิ้นส่วนสำหรับการผลิตรถยนต์บางรุ่น รวมถึงผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในการจับจ่าย และประเด็นที่น่ากังวลความเข้มงวดของไฟแนนซ์ในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มรถปิกอัพ ส่งผลให้ค่ายรถยนต์แทบทุกค่ายต้องงัดกลยุทธ์แก้ปัญหากันอย่างเร็วด่วน และหลายยี่ห้อคาดการณ์ว่าปัญหานี้จะลากยาวไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ หรือเกินครึ่งปีแน่นอน

นิสสันปรับเป้าใหม่

นายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาว่า ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด และอาจจะต้องมีการปรับยอดประมาณการกันใหม่ จากต้นปีคาดว่าทั้งปีจะขายได้ 900,000 คัน น่าจะเหลือ 850,000 คัน

“ปัญหาตอนนี้มีทั้งซัพพลายชิ้นส่วนที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง รวมถึงมาตรการเข้มงวดของสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อยากขึ้นจากปัญหาหนี้เสีย คิดว่าต้องรอผ่านครึ่งปีแรกไปแล้วน่าจะดีขึ้น”

เช่นเดียวกับนายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การอนุมัติสินเชื่อเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น หลังจากในช่วงปลายปี 2565 เร่งทำยอดกันมากเลยส่งผลกระทบมาถึงเวลานี้ บวกกับทิศทางของดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ยิ่งกระทบต่อภาคธุรกิจโดยรวม

“ปีที่แล้วมีการชี้นำตลาด โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ที่นำแคปทีฟไฟแนนซ์ของตัวเองมาเพิ่มวงเงินสินเชื่อ อีกทั้งธนาคาร สถานบันการเงินต่าง ๆ ก็เข้ามาร่วมเล่นตรงนี้มากขึ้นด้วย ทำให้เกิด NPL ส่วน MG เองเรามีแคปทีฟไฟแนนซ์ ทำให้เราต้องทำตลาดตามข้อจำกัด และเน้นคัดกรองลูกค้าที่มีศักยภาพมากขึ้น แทนที่จะเหวี่ยงแห”

ขณะที่นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ลูกค้าบางส่วนยังรอดูสถานการณ์อนาคตของการจัดตั้งรัฐบาลทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง ทำให้ตลาดชะงักไปหลังงานมอเตอร์โชว์ การลังเลและยังไม่ตัดสินใจซื้อทำให้ตลาดปิกอัพหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ

อัดแคมเปญกระทุ้งตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางออกของผู้ประกอบการตอนนี้ คือความพยายามที่จะทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และสามารถแก้ปัญหาหนี้เสียไปได้พร้อมกัน โดยใช้วิธีผนึกไฟแนนซ์ในเครือเสนอแพ็กเกจที่สอดรับกับบุคลิกการทำธุรกิจของลูกค้า เริ่มที่ค่ายค่ายโตโยต้า จัดงาน “วันแต่งแห่งชาติ REVO D Return รวมพล “กระบะแต่งซิ่งที่ชาว Z รอคอย ทั้งดอกเบี้ย 0% หรือผ่อนต่ำเดือนละ 5,270 บาท ขยายระยะเวลารับประกันคุณภาพ 5 ปี พร้อมฟรีค่าแรงเช็กระยะ 100,000 กม.

ดีแมคซ์ ผ่อนเริ่มต้น 4 พันบาท

ค่ายตรีเพชร อีซูซุ จัด “โปรดีมาก โปรดเลือกอีซูซุ” ซื้ออีซูซุ ดีแมคซ์ สปาร์ค ผ่อนเริ่มต้น 4 พันบาท, อีซูซุ เอ็กซ์-ซีรี่ส์, อีซูซุ ดีแมคซ์ แค็บโฟร์ ผ่อนเริ่มต้น 5 พันบาท ผ่อนนานสูงสุด 96 เดือน ส่วนลูกค้าเก่าอีซูซุ และครอบครัวมีว้าววว รับโชค 3 ชั้น (1) ส่วนลดดอกเบี้ย 0.10% เมื่อซื้อรถปิกอัพอีซูซุ ดีแมคซ์ ทุกรุ่น, (2) รับส่วนลดพิเศษมูลค่า 5,000 บาท เมื่อซื้อรถปิกอัพอีซูซุ ดีแมคซ์ ทุกรุ่น (3) ลูกค้าสมาชิก “อีซูซุ ยิ่งเข้า ยิ่งคุ้ม” ในระดับ gold และ platinum รับส่วนลดพิเศษมูลค่า 8,000 บาท เมื่อซื้อรถปิกอัพอีซูซุ ดีแมคซ์ ทุกรุ่น ส่วน มิว-เอ็กซ์ ดอกเบี้ย 1.49% หรือผ่อนเริ่มต้น 9 พันบาท/เดือน

ช่วยผ่อน/ส่วนลดมาเต็ม

ขณะที่นิสสัน, มิตซูบิชิ, ฟอร์ด, มาสด้า หนีไม่ออกด้วยการมอบส่วนลด ดอกเบี้ยต่ำ และการแถมประกันภัย อาทิ นาวารา ผ่อนเริ่มต้น 6,699 บาท ดอกเบี้ย 0% นาน 48 เดือน มิตซูบิชิ ฟรีดาวน์ ออกรถได้เลย ผ่อนยาว 48 เดือน ดอกเบี้ยลดเพิ่มอีก 0.10% สำหรับลูกค้าเก่า โดยทำร่วมกับธนาคารกรุงศรีฯ ไทรทันหัวเดี่ยวผ่อนเดือนละไม่ถึง 2 พันบาท ฟอร์ด ใช้แคมเปญดอกเบี้ย 0.99% แถมประกันภัยฟรี มาสด้า BT-50 เลือกรับส่วนลดพิเศษ สำหรับรุ่น Mazda BT-50 DBL 1.9 S Hi-Racer พิเศษเพียง 729,000 บาท (จากราคา 891,000 บาท) หรือดาวน์เริ่มต้น 19,000 บาท ฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง ขณะที่ปิกอัพ MG EXTENDER ใช้แคมเปญดอกเบี้ย 0% ผ่อนนาน 48 เดือน หรือผ่อนเริ่มต้นเพียง 6,722 บาทต่อเดือน


ก่อนหน้านี้นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ช่วงไตรมาสแรก 2566 มียอดขายรวม 217,073 คัน ลดลง 6.1% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 แบ่งยอดขาย 3 อันดับแรกรายยี่ห้อ ได้แก่ โตโยต้า 75,121 คัน ลดลง 2.6% ส่วนแบ่งตลาด 34.6%, อีซูซุ 47,159 คัน ลดลง 17.9% ส่วนแบ่งตลาด 21.7% และฮอนด้า 25,961 คัน เพิ่มขึ้น 1.3% ส่วนแบ่งตลาด 12.0% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 77,566 คัน เพิ่มขึ้น 2.4%, รถปิกอัพ 1 ตัน 83,245 คัน ลดลง 21.8% และรถในกลุ่มพีพีวี มียอดรวม 18,277 คัน