
อีวี ไพรมัส เทอีกกว่า 100 ล้านบาท ผนึกกลุ่มสกุลฎ์ซี ใช้โรงงานจังหวัดสุพรรณบุรี ขึ้นไลน์ประกอบรถอีวี WULING-VOLT ตามเงื่อนไขสรรพสามิต พร้อมเร่งเจรจา คอนโดฯ-อพาร์ตเมนต์ ผุดเสาชาร์จอีวี แก้ปัญหาจุดชาร์จให้ลูกค้า มั่นใจกินรวบตลาดซิตี้ EV ทะลุหมื่นคันต่อปี
นายพิทยา ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะส่วนโรงงานความคืบหน้าของโรงงานประกอบรถอีวี ภายใต้การดูแลของบริษัทนั้น มีการลงทุนไปกว่า 100 ล้านบาท สำหรับขึ้นไลน์ประกอบ VOLT และ WULING
โดยล่าสุดเพิ่งมีการเซ็น MOU เพื่อเช่าโรงงานสำหรับประกอบรถกับทางบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ที่ใช้โรงงานในจังหวัดสุพรรณบุรี บนพื้นที่ขนาด 80 กว่าไร่ โดยคาดว่าจะสามารถขึ้นไลน์ประกอบรถอีวี ไพรมัส ทั้ง 2 แบรนด์คือ VOLT และ WULING บนพื้นที่ขนาด 10,000-20,000 ตร.ม. โดยมีกำลังผลิตอยู่ราว ๆ 10,000 คันต่อปี
“ข้อดีของการเช่าพื้นที่โรงงาน ทำให้บริษัทไม่ต้องลงทุนเพื่อสร้างโรงงานใหม่ ซึ่งบริษัทจะใช้พื้นที่ไม่มาก เนื่องจากเป็นรถขนาดเล็ก ไลน์ผลิตของเรา ถูกออกแบบโดยบริษัทแม่ หรือ OEM ทั้งหมดซึ่งค่อนข้างเร็วและง่าย เพราะมีที่ดินพร้อม สิ่งปลูกสร้างพร้อม และมีคนซึ่งทำรถยนต์อยู่แล้ว เราเอาไลน์ประกอบมาลงเลยโดยทางจีนเป็นคนดูรายละเอียด และบริษัทแม่มีความเชี่ยวชาญตรงนี้อยู่แล้ว ทำให้สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว”
ทั้งนี้ รถอีวี VOLT และ WULING ที่จะจำหน่ายในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปในช่วงปลายปีนี้จะเป็นรถที่ประกอบจากโรงงานในประเทศไทยแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของกรมสรรพสามิต ที่บริษัทได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าไปเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา และการนำเข้าจะหยุดลง ดังนั้น ค่ายที่สามารถประกอบได้ในประเทศไทยจะมีความได้เปรียบ
ส่วนราคาจำหน่ายของรถอีวีที่ประกอบในประเทศของอีวี ไพรมัสนั้น จะมีการปรับขึ้นราคาหรือไม่นั้น นายพิทยากล่าวว่ายังต้องรอดูรายละเอียด แต่ที่แน่ ๆ ต้นทุนการขนส่งลดลง และชิ้นส่วนบางอย่างถูกลง สามารถผลิตได้ในประเทศไทย รวมทั้งแบตเตอรี่ด้วย
หลังจากบริษัทได้เปิดตัวรถยนต์ซิตี้ อีวี WULING ในประเทศไทยอีกแบรนด์ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี และเพื่อให้ซิตี้คาร์ อีวี ของอีวีไพรมัสได้รับความนิยมมากขึ้น บริษัทมีแผนที่จะพัฒนาและลงทุนตั้งเสาชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ AC ขนาด 2-3 กิโลวัตต์ ที่เน้นให้ลูกค้าใช้ชาร์จไฟฟ้าในตอนกลางคืนเข้ามาติดตั้ง เพื่อให้บริการกับผู้ใช้รถตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ ซึ่งคาดว่าในไตรมาสที่ 4 น่าจะได้เห็นความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม และในช่วงแรกบริษัทจะเปิดให้ลูกค้าได้ใช้งานฟรีก่อน
“เรากำลังคุยกับอพาร์ตเมนต์และคอนโดฯหลาย ๆ ที่ เพื่อขอเข้าไปติดตั้ง และจะไม่กระทบกับพื้นที่จอดรถและระบบไฟปกติเลย แต่เราจะได้จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตอนกลางคืนเพิ่มขึ้น โดยหนึ่งเสาจะมีหัวชาร์จได้ 4 หัว เพื่อรองรับรถซิตี้อีวีของเราได้”
บริษัทตั้งเป้าว่าปีนี้จะมียอดขายซิตี้อีวีทั้ง 2 แบรนด์ที่ 3,000-3,500 คัน แบ่งเป็น WULING ที่ 2,000 คัน ขณะนี้มียอดขายไปแล้วกว่า 600 คัน หลังจากเปิดตัวเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และมียอดจองค้างส่งมอบอีก 500-600 คัน ส่วน VOLT หลังจากเปิดตัวไป วันนี้มียอดขายมากกว่า 800 คันแล้ว และจะไปแตะที่ 1,500 คันในปีนี้ หลังจากปีที่แล้วส่งมอบไปแค่ 200 คัน เนื่องจากติดขัดปัญหาบางอย่าง ขณะที่ซิตี้อีวีนั้นมีความต้องการอยู่ราว ๆ 10,000 คัน หรือ 10-15% ของตลาดอีโคคาร์ ที่มีอยู่ 90,000 คัน
“ผู้ใช้รถซิตี้อีวีส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรถยนต์ใช้งานคันที่ 2-3 ของบ้าน เพื่อเข้ามาเสริมการใช้งานของรถยนต์หลัก และเป็นตลาดที่มีการเติบโตค่อนข้างเร็ว และจากผลสำรวจของบริษัทพบว่ามีหลายคนที่กำลังมองหารถคันใหม่ ให้ความสนใจไปที่รถอีวีมากขึ้น และเป้าหมายข้างต้นนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ไม่มีปัจจัยลบมากระทบ”
ด้านแผนขยายเครือข่ายการจัดจำหน่าย หรือโชว์รูมมัลติแบรนด์นั้น ภายในสิ้นปีนี้จะมีครบ 40 แห่ง ครอบคลุม 30 จังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ รวมถึง กทม.ด้วย และบริษัทมีแผนจะลงทุนเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ เพื่อเป็นโชว์รูมซิตี้อีวีต้นแบบ เพื่อเป็นคอมมิวนิตี้ผู้ใช้รถซิตี้อีวี WULING และ VOLT ในพื้นที่ใจกลางเมืองด้วย ในอนาคตอันใกล้นี้