“ดีลเลอร์นิสสัน”รวมกำลังสู้ โวยบริษัทแม่บีบเลิกสัญญา

เกมจัดระเบียบตัวแทนขายป่วน ! “ดีลเลอร์นิสสัน” รวมตัวยื่นร้องสำนักงานแข่งขันการค้า ชี้บริษัทแม่บีบให้เลิกกิจการ-สัญญาไม่เป็นธรรมบอร์ดแข่งขันรับเรื่อง เรียกทั้งสองฝ่ายเข้าให้ข้อมูลพิจารณาว่า เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.แข่งขันหรือไม่ เตรียมตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบ ด้าน “นิสสัน มอเตอร์” แจงยังไม่ได้รับเรื่อง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังนายราเมช นาราสิมัน เข้ารับตำแหน่งประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเดือนเมษายน 2562 บริษัทได้ประกาศยกเลิกการเป็นผู้จำหน่ายของดีลเลอร์บางราย โดยระบุว่าเป็นแผนยกระดับและปรับปรุงผู้จำหน่ายให้มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของตลาด

โดยนโยบายเป็นไปตามแนวคิดของบริษัทแม่ที่ต้องการจัดสรรการแบ่งเขตการขายที่ได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายปรับปรุงและจัดระเบียบดีลเลอร์มาตั้งแต่ปลายปี 2559

เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับเม็กซิโกและสหรัฐซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี ขณะที่ไทยเป็นประเทศแรกของเอเชียที่ทดลองนำรูปแบบนี้มาปรับใช้ ด้วยการแบ่งเขตการขาย ลดจำนวนดีลเลอร์ในแต่ละพื้นที่

หยุดจำหน่าย 8 ราย

ทั้งนี้ผู้แทนจำหน่ายที่ถูกหยุดดำเนินกิจการมีทั้งสิ้น 8 ราย ได้แก่ 1.บริษัท สยามนิสสัน ลำพูน จำกัด สาขาสำนักงานใหญ่ 2.บริษัท นอร์ทเวฟ จำกัด สาขาหนองตอง 3.บริษัท สยามนิสสัน อุดรธานี จำกัด สาขาถนนประจักษ์ 4.บริษัท สยามนิสสันขอนแก่น จำกัด สาขาสำนักงานใหญ่ 5.บริษัท สยามนิสสัน ตราด จำกัด สาขาสำนักงานใหญ่ 6.บริษัท สยามนิสสัน ทวีทรัพย์ จำกัด สาขาชัยนาท 7.บริษัท ยโสธร มอเตอร์ จำกัด สาขาสำนักงานใหญ่ และ 8.บริษัท สยามนิสสัน ที เค ซี ตาก จำกัด สาขาสำนักงานใหญ่ มีผลตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา

ดีลเลอร์รถร้องบอร์ดแข่งขัน

แหล่งข่าวจากวงการดีลเลอร์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากดีลเลอร์นิสสันหลายรายได้รับความเดือดร้อนหนัก จากการที่บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่มีการบริหารดีลเลอร์อย่างไม่เป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ ที่ผ่านมาถูกบีบให้ปิดกิจการไปแล้วส่วนหนึ่ง และที่เหลืออีกประมาณ 30 แห่งก็ได้รับความเดือดร้อน

ดังนั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ทางผู้ประกอบการธุรกิจดีลเลอร์รถนิสสันประมาณ 10 จังหวัดจากทั่วประเทศ เช่น อุดรธานี ขอนแก่น ลำพูน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกยกเลิกเป็นตัวแทนจำหน่าย ได้รวมตัวยื่นหนังสือผ่านทางหอการค้าไทยเพื่อยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2562 หรือไม่ในกรณีถูกบริษัทนิสสันฯบีบให้เลิกกิจการ 

เช่น การอ้างเรื่องยอดขายปีก่อนไม่ได้ตามเป้าหมายที่แจ้งไว้ ทั้งที่ปีนี้ทำยอดขายได้ดีขึ้นและเป็นไปตามเป้า หรือบางครั้งต้องการให้ปรับปรุงโชว์รูมใหม่ ซึ่งลงทุนครั้งละ 10 กว่าล้านบาท และแจ้งว่า หากไม่มีการปรับปรุงโชว์รูม ทางบริษัทแม่จะไม่ส่งรถรุ่นใหม่มาให้ดีลเลอร์ขาย ทั้งที่การปรับปรุงโชว์รูมทางดีลเลอร์ไม่สามารถดำเนินการได้เอง ต้องลงชื่อเข้าคิวกับบริษัทแม่ไว้ เพื่อรอเจ้าหน้าที่เข้ามาดูและต้องทำตามโมเดลที่กำหนด ซึ่งใช้เวลา 2-3 ปี เท่ากับว่าดีลเลอร์นั้น ๆ จะไม่ได้รถรุ่นใหม่ ๆ มาขาย จึงเป็นการเสียโอกาสไป ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต้องไปพิจารณาเก็บข้อมูล

“ที่ผ่านมาดีลเลอร์นิสสันทั่วประเทศมีกว่า 100 แห่ง ตอนนี้เหลืออยู่กว่า 50 แห่ง ดีลเลอร์นิสสันที่ได้รับความเดือดร้อนมีอีกมาก เนื่องจากมีการหยิบยกเงื่อนไขต่าง ๆ เข้ามาทำให้การดำเนินธุรกิจยากขึ้น แต่ที่รวมตัวกันยื่นหนังสือฟ้องมีเพียง 10 จังหวัด เพราะรายที่เหลือยังดำเนินธุรกิจกันอยู่ ก็ไม่อยากมีปัญหาระหว่างกัน” แหล่งข่าวกล่าว

บอร์ดแข่งขันเรียกให้ข้อมูล 

แหล่งข่าวจากกลุ่มสมาชิกหอการค้าเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มดีลเลอร์ขายรถนิสสันได้หารือและยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของบริษัทนิสสัน ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของดีลเลอร์ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า โดยเบื้องต้นสำนักงานได้พิจารณารับเรื่องไว้ และเตรียมเรียกทั้งสองฝ่ายเข้าให้ข้อมูลในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณว่าประเด็นดังกล่าวเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่

รายงานข่าวระบุว่า หากตรวจสอบแล้วเข้าข่ายพฤติกรรมความผิด พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฯ ตามกระบวนการจะตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบรายละเอียด รวมทั้งข้อมูล เอกสารหลักฐานต่าง ๆ เช่น สัญญาที่บริษัททำกับดีลเป็นอย่างไร พฤติกรรมที่ร้องเรียนเป็นอย่างไร หรือเป็นนโยบายจากบริษัทแม่ต่างประเทศที่มีผลกับการประกอบธุรกิจในไทยหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายจำเป็นต้องพิจารณาละเอียดรอบคอบ

จับตา “มาตรา 57” 

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่าย มาตรา 57ซึ่งระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทําการใด ๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้ 1) กีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม 2) ใช้อํานาจตลาดหรืออํานาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม 3) กําหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจํากัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม 4) กระทําการในลักษณะอื่น

ตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนดมาตรา และยังมีมาตรา 58 ที่ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศทํานิติกรรมหรือสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควรอันก่อให้เกิดพฤติกรรมการผูกขาดหรือจํากัดการค้าอย่างไม่เป็นธรรมและส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของผู้บริโภคโดยรวม โดยผู้ฝ่าฝืนทั้ง 2 มาตราข้างต้นมีโทษทางปกครองชําระค่าปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทําความผิด ในกรณีที่เป็นการกระทําความผิดในปีแรกให้ชําระค่าปรับในอัตราไม่เกิน 1 ล้านบาท

ทั้งนี้ปัจจุบันนิสสันมีตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ 60 ราย และมีโชว์รูม ศูนย์บริการประมาณ 180 แห่งทั่วประเทศ ในกรณีดังกล่าว “ประชาชาติธุรกิจ” พยายามสอบถามไปยังบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย)

นายปีเตอร์ แกลลี รองประธาน สายงานสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ชี้แจ้งว่า ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินคดีใด ๆในเรื่องนี้กับนิสสัน อย่างไรก็ดี ลูกค้าและความพึงพอใจถือเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัท นิสสันจึงยังคงลงทุนสร้างการเติบโตให้กับเครือข่ายผู้จำหน่าย ควบคู่ไปกับการประเมินผลการดำเนินงานและการบริการ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายผู้จำหน่าย นโยบายของนิสสันคือการดำเนินธุรกิจบนความโปร่งใส เป็นธรรม และรับผิดชอบ โดยคู่ค้าของนิสสันต่างเห็นพ้องกับนโยบายนี้