อุตฯชิ้นส่วนไทย ต้องรับมืออเมริกาอย่างไร

ชิ้นส่วนยานยนต์

สถานการณ์การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา นับจากนี้น่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป

ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับสถานะการแข่งขันของชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในตลาดสหรัฐกำลังเป็นเรื่องท้าทาย

เมื่อชิ้นส่วนรถยนต์จากไทยที่มีมูลค่ารวมกว่าครึ่งหนึ่งของที่ส่งออกไปสหรัฐนั้นอาจต้องปรับราคาขึ้น หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศตัด GSP ชิ้นส่วนเหล่านี้ลง โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2564

ทำให้ต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 2.5% จากเดิมที่เป็น 0%

การปรับเพิ่มราคาขึ้นนั้นอาจส่งผลให้ชิ้นส่วนในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น จากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ

สินค้าที่โดนตัดสิทธิ์ GSP นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนอะไหล่ (REM) ที่ผู้ซื้อมักมีความอ่อนไหวต่อราคาสูง และยิ่งในช่วงเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมากดังเช่นปัจจุบันนี้ ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อคำสั่งซื้อรถยนต์ใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการใช้ชิ้นส่วน OEM ที่จะชะลอลงเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงการตัดสินใจชะลอการซ่อมบำรุงรถยนต์ ซึ่งต้องใช้ชิ้นส่วน REM ออกไปด้วยเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันไทยยังมีคู่แข่งที่สามารถทำราคาต่ำมาขายในสหรัฐได้จากอีกหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ประเทศในอาเซียนด้วยกัน และประเทศในยุโรปตะวันออก เป็นต้นด้วย

ปี 2564 ซึ่งการตัด GSP จะเริ่มมีผลบังคับใช้นั้น หากไทยไม่สามารถหาตลาดส่งออกใหม่เพื่อผลักชิ้นส่วนดังกล่าวออกไปได้ ไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้นจากชิ้นส่วนประเทศคู่แข่งอย่างแน่นอน ส่งผลทำให้การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยโดยรวมมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง

ซึ่งในปี 2564 นั้นคาดว่าการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยทั้งหมด (รวมที่โดนตัดสิทธิ์ GSP) ไปสหรัฐ น่าลดลงมาเหลือ 11,280 ถึง 11,700 ล้านบาท หดตัวลงกว่า 8-11% จาก 12,700 ล้านบาทในปี 2563

โดยชิ้นส่วนในกลุ่มที่โดนตัดสิทธิ์ GSP นี้ ได้แก่ กระปุกเกียร์และชิ้นส่วนประกอบ พวงมาลัยและชิ้นส่วนประกอบ เพลาขับพร้อมเฟืองท้ายและชิ้นส่วนประกอบ ล้อรถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ และชิ้นส่วนรวมอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ

ดังนั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนกลุ่มที่โดนตัดสิทธิ์ GSP จึงจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว

ทั้งการปรับลดต้นทุนลงและการหาตลาดใหม่ทดแทน เช่น แอฟริกาใต้ เม็กซิโก แคนาดา ญี่ปุ่น ประเทศในกลุ่มอาเซียน อินเดีย ปากีสถาน และออสเตรเลีย

และที่สำคัญ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่จากตลาดรถยนต์ขับเคลื่ยนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปสู่ชิ้นส่วนรถยนต์ BEV

โอกาสอุตฯชิ้นส่วนไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา ก็คงริบหรี่ลงเรื่อย ๆ

ขอบคุณศูนย์วิจัยกสิกรไทย