“พรประภา” เคลียร์สัดส่วนหุ้น หลัง2ล้อ “ฮอนด้า” ปรับใหญ่ยุบเหลือบริษัทเดียว

ฮอนด้า

จักรยานยนต์ฮอนด้าประกาศยุบรวม 2 บริษัทผลิตและขายเป็นหนึ่งเดียว ดีเดย์ 1 เมษายนนี้ พร้อมจัดทัพองค์กรใหม่ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพการการทำงาน จ้องหาโปรดักต์ใหม่เสริม ด้านตระกูล “พรประภา” เร่งมือจัดสรรสัดส่วนหุ้นในบริษัทใหม่

แหล่งข่าวระดับสูง จากบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด เปิดเผย ว่า หลังสิ้นปีงบประมาณ 2563 หรือวันที่ 31 มี.ค. 2564 เป็นต้นมา บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า และบริษัท ไทยฮอนด้าแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์และโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์และเครื่องยนต์อเนกประสงค์ เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศจะดำเนินการยุบรวม 2 บริษัทเข้าด้วยกันให้เหลือเพียงบริษัทเดียว ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ซึ่งขณะนี้บริษัทได้ดำเนินการด้านเอกสารและโอนย้ายพนักงานจากบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า ไปสังกัดบริษัท ไทยฮอนด้าแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยจะใช้พื้นที่ของโรงงานลาดกระบังเป็นสำนักงานใหญ่ เพื่อดูแลงานด้านการผลิตและส่งออก ส่วนที่ตั้งเดิมของ เอ.พี. ฮอนด้า สมุทรปราการ จะเป็นสำนักงานแห่งที่ 2 โดยเป็นฐานที่ตั้งของฝ่ายขาย การตลาด และบริการหลังการขาย

ฮอนด้า“บริษัทใหม่อาจจะต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี ช่วงแรกคงต้องใช้ไทยฮอนด้าแมนูแฟคเจอริ่งไปพรางก่อน เพราะยังมีเงื่อนไขเรื่องการขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอ และการยุบรวมเป็นหนึ่งเดียวก็เพื่อให้เหมือนกับฮอนด้าทั่วโลก วันนี้ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีการดำเนินธุรกิจรถจักรยานยนต์ฮอนด้าภายใต้ 2 นิติบุคคล”

แหล่งข่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานยังคงเหมือนเดิม ฝ่ายขาย การตลาด ก็ทำหน้าที่ไป ฝ่ายโรงงานก็ผลิตไป แต่จากนี้ไปการทำงานจะใกล้ชิดกันมากขึ้น ลดปัญหาโดยเฉพาะด้านการส่งออก ส่วนชื่อบริษัทใหม่อยู่ระหว่างการพิจารณาและการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารและหุ้นส่วน ซึ่งอาจจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

“ในทางบัญชีเรายังต้องมีเรื่องสะสางอีกค่อนข้างเยอะ ทั้งมูลค่าทรัพย์สิน เพื่อจัดทำสัดส่วนการถือหุ้นต่าง ๆ คาดว่าราวต้นเดือนมีนาคมนี้น่าจะได้เห็นรายละเอียดออกมาว่าเป็นเท่าไร และใครจะบริหารตรงไหนอย่างไร และยังคงต้องสะสางเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับนิติบุคคล ทั้งภาษี การส่งออก การขอรับสิทธิประโยชน์ การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เพื่อป้องกันการสับสนจากการเปลี่ยนชื่อนิติบุคคลใหม่ครั้งนี้ด้วย”

ฮอนด้าผู้สื่อข่าวรายงานว่า การบุกตลาดของฮอนด้าภายใต้นิติบุคคลใหม่ หรือการรุกตลาดในปี 2564 นอกจากให้ความสำคัญกับตลาดมอเตอร์ไซค์ เครื่องยนต์อเนกประสงค์แล้ว ฮอนด้ากำลังมองโปรดักต์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมตลาดเพิ่มเติมด้วย

สำหรับฮอนด้า มอเตอร์ ได้ร่วมทุนกับกลุ่ม “พรประภา” ก่อตั้งบริษัท ไทยฮอนด้าแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2508

ด้วยมูลค่าการจดทะเบียน 150 ล้านบาท เพื่อเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์และประกอบรถจักรยานยนต์และเครื่องยนต์อเนกประสงค์ มีกำลังผลิตรถจักรยานยนต์ 1,438,000 คัน เครื่องยนต์อเนกประสงค์ 490,000 เครื่อง (ณ ปี 2560) จากนั้นในปี พ.ศ. 2529 ฮอนด้า มอเตอร์ ได้ร่วมทุนกับตระกูลพรประภา ก่อตั้งบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท เป็นผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ดูแลงานขายและการตลาดในประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2564 เอ.พี. ฮอนด้าคาดการณ์ว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ไทยน่าจะเติบโตขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ระดับ 1.54 ล้านคัน เติบโตขึ้น 1% ในขณะที่ฮอนด้าตั้งเป้าไว้ที่ 1.22 ล้านคัน หรือเติบโตขึ้นประมาณ 3% โดยมีแผนเปิดตัวรถใหม่อย่างน้อย 5 รุ่น ฮอนด้ายังได้วางกลยุทธ์เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ควบคู่ไปกับการรักษาฐานลูกค้าเดิมอย่างเหนียวแน่น