คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร
การลาออกของบุคลากรทางการแพทย์ หรือ “หมอ” สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน และกำลังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเองที่เก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2565 รายงานว่า
โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีการปฏิบัติงาน “มากกว่า” 40 ชั่วโมง/สัปดาห์นั้น มีจำนวน 65 แห่ง แบ่งเป็นการปฏิบัติงานมากกว่า 64 ชั่วโมง/สัปดาห์ มีจำนวน 9 แห่ง มากกว่า 59 ชั่วโมง/สัปดาห์ 4 แห่ง มากกว่า 52 ชั่วโมง/สัปดาห์ 11 แห่ง มากกว่า 46 ชั่วโมง/สัปดาห์ 18 แห่ง และมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ 23 แห่ง
ขณะที่ข้อมูลการ “ลาออก” ของแพทย์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2556-2565) พบว่า มีการบรรจุแพทย์รวมทั้งหมด 19,355 คน เป็นแพทย์ใช้ทุนปี 1 ลาออก 226 คน คิดเป็น 1.2% หรือเฉลี่ยปีละ 23 คน แพทย์ใช้ทุนปี 2 ลาออก 1,875 คน คิดเป็น 9.69% หรือเฉลี่ยปีละ 188 คน
และแพทย์ใช้ทุนปี 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4% หรือเฉลี่ยปีละ 86 คน และแพทย์ลาออกหลังใช้ทุนครบ 1,578 คน คิดเป็น 8.1% หรือเฉลี่ยปีละ 158 คน
รวมแพทย์ลาออกปีละ 455 คน ขณะที่มีแพทย์ที่เกษียณอายุปีละ 150-200 คน นั่นหมายถึง จะมีแพทย์ออกจากระบบปีละ 655 คน ซึ่งหากดูแพทย์ที่คงอยู่ในระบบ พบว่าแพทย์ของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) จะคงอยู่ในระบบได้มากถึง 80-90%
เนื่องจากเป็นการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์จากคนในพื้นที่ ทำให้เหลือแพทย์จัดสรรในระบบอยู่ระหว่าง 1,000-1,200 คน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 2,000 คน ขณะที่มาตรฐานของ WHO อยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 คน
แพทย์จบใหม่ใช้ทุน หรือที่เรียกกันว่า แพทย์ intern จะเกิดปรากฏการณ์ “ลาออก” มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ (staff) ที่ดูแลผู้ป่วย สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะมีเปอร์เซ็นต์ลาออกตามกันมาค่อนข้างสูง
โดยสาเหตุของการลาออก จะมาจาก 1) หมอทำงานหนักมาก อยู่เวร 100 ชม./สัปดาห์ บางครั้งจัดสรรเวรติดต่อกันถึง 36 ชม.ก็มี ปัญหานี้มาจากแพทย์ไม่เพียงพอต่อจำนวนคนไข้ ทำให้หมอต้องอยู่เวรติดต่อกัน นอกเวลาราชการต่อเนื่องไปจนถึงในเวลาราชการของอีกวันหนึ่ง
2) ค่าตอบแทนแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ “ต่ำกว่า” แพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนถึง 10 เท่า ยกตัวอย่าง ค่าหมอในโรงพยาบาลเอกชนปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 700 บาท ขณะที่ค่าหมอในเวลาของโรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ประมาณ 50 บาท หากเป็นคลินิกนอกเวลาจะอยู่ที่ประมาณ 400 บาท
โดยสาเหตุที่ค่าตอบแทนแพทย์ต่ำนั้นมาจากกรอบอัตรากำลังการบรรจุแพทย์ในระบบข้าราชการก็มีเพดานไว้ไม่เกิน 40% ของงบประมาณด้านบุคลากร ส่งผลให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐตัดสินใจออกไปเปิดคลินิกหรือไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ยิ่งเป็นแพทย์สาขาที่ต้องการแล้ว ในระบบของโรงพยาบาลเอกชนยังมีการ “การันตี” ค่าหมอต่อหัวขั้นต่ำไว้ให้ด้วย
3) สวัสดิการความเป็นอยู่ของแพทย์ย่ำแย่ โดยเฉพาะหมอจบใหม่ที่ถูกเลือกไปใช้ทุนตามโรงพยาบาลต่างจังหวัด หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ บ้านพักแพทย์เก่าแทบจะดูไม่ได้ เมื่อเทียบกับข้าราชการในสังกัดอื่น ๆ
และ 4) แพทย์จบใหม่ถูกใช้งานหนักมากกว่าแพทย์รุ่นพี่ เป็นการ “เอาเปรียบ” ในชั่วโมงทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลเดียวกัน จนกลายเป็น “ค่านิยม” ที่หมอรุ่นพี่จะใช้หมอรุ่นน้อง
วิธีการที่แก้ไขปัญหาแพทย์ลาออกจะมีอยู่ 2 เรื่องหลักที่จะต้องทำทันที คือ การเพิ่มค่าตอบแทนให้กับแพทย์ อย่าให้ “ช่องว่าง” ของรายได้ระหว่าง หมอในโรงพยาบาลของรัฐ “แตกต่าง” จากหมอในโรงพยาบาลเอกชนมากจนเกินไป กับการลดภาระงาน-การรักษาของหมอ ด้วยการมีระบบ “ประตู” คัดกรองผู้ป่วยที่จะเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลตามอาการเจ็บป่วย
แม้จะมีการผลิตแพทย์จบใหม่ในแต่ละปีเพิ่มขึ้น แต่ถ้าแพทย์ในระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมอ intern ยังมีเปอร์เซ็นต์ลาออกสูง การแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มหรือขยายอัตรากำลังใหม่ก็จะไม่ตอบโจทย์ เมื่อพิจารณาจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด