
แพทย์ขาดแคลน-ลาออก เปิดสัญญาเรียนแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐ 22 แห่ง เรียนจบต้องใช้ทุนคืน 3 ปี หากไม่ทำงานใช้ทุนคืน หรือลาออกกลางคันต้องจ่ายค่าปรับ 400,000 บาท
วันที่ 12 มิถุนายน 2566 จากกระแสเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ลาออก เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะภาระงานที่มากเกินไป จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ขณะนี้ รวมถึงประเด็นการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นที่พูดถึงมาอย่างยาวนาน จนกระทรวงสาธารณสุขต้องเดินสายเจรจากับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกวงการแพทย์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
- หวั่น EV ไทย…ซ้ำรอยจีน
- “ทรู-ดีแทค” ถล่มโปร “คืนค่าเครื่อง” ย้ำรวมกันได้มากกว่า
- เปิด “ผังน้ำ” ประกบผังเมือง เขย่าราคาที่ดินทั่วประเทศ
สถานการณ์ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีแพทย์ประมาณ 5-6 หมื่นคน แต่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพียง 24,649 คน หรือ 48% แต่ต้องรองรับประชากรในระบบประกันสุขภาพกว่า 45 ล้านคน เทียบเท่าแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 2,000 คน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่แพทย์ 3 คนต่อประชากร 1,000 คนอยู่มาก
“สธ.ได้รับจัดสรรแพทย์ปีละประมาณ 1,800 คน มีการลาออกของแพทย์ใช้ทุนปี 1, ปี 2, ปี 3 และหลังใช้ทุนครบ 3 ปี รวมเฉลี่ยปีละ 455 คน สาเหตุที่ลาออกมีทั้งไปศึกษาต่อ ไปทำงานในภาคเอกชน หมดสัญญาชดใช้ทุน รวมถึงภาระงานด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกับแพทย์ที่เกษียณปีละ 150-200 คน จะมีแพทย์ออกจากระบบปีละ 655 คน”
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า จากการประเมินของ สธ. ระบบสาธารณสุขต้องการแพทย์ 2,055 คน/ปี แต่การผลิตแพทย์ใหม่ซึ่งวางเป้าไว้ประมาณ 3,300 คน/ปี ต่อเนื่อง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2570 นั้น ที่ผ่านมามีแพทย์จบการศึกษาประมาณปีละ 2 พันกว่าคนเท่านั้น เนื่องจากการควบคุมคุณภาพทำให้มีนักศึกษาบางส่วนถูกคัดออก หรือใช้เวลาเรียนนานกว่าที่คาด
นอกจากนี้ ในจำนวนแพทย์ใหม่ 2 พันกว่าคน ยังต้องแบ่งไปประจำยังหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กทม. กลาโหม มหาวิทยาลัย ฯลฯ ทำให้มีแพทย์เข้าสู่ รพ. 117 แห่งของ สธ. ในช่วงใช้ทุนหรืออินเทิร์นเฉลี่ย 1,800-2,000 คน/ปี
ขณะเดียวกัน ด้วยนโยบายเน้นแพทย์เฉพาะทาง ส่งผลให้เมื่อใช้ทุนครบ 1 ปี จะมีแพทย์ใช้ทุนจำนวนกว่า 4,000 คน ลางานเพื่อเรียนต่อเฉพาะทาง ทำให้แพทย์ในระบบลดจาก 2.4 หมื่นคน เหลือ 2 หมื่นคน
อีกทั้งยังมีการลาออกและเกษียณ ซึ่งการลาออกของแพทย์ 10 ปีย้อนหลัง (2556-2565) นั้นจากแพทย์บรรจุรวม 19,355 คน แพทย์ใช้ทุนปีแรก ลาออก 226 คน คิดเป็น 1.2% เฉลี่ยปีละ 23 คน, แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออก 1,875 คน คิดเป็น 9.69% เฉลี่ยปีละ 188 คน, แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4% เฉลี่ยปีละ 86 คน, ส่วนแพทย์ที่ลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุนมีจำนวน 1,578 คน คิดเป็น 8.1% เฉลี่ยปีละ 158 คน
“เท่ากับเฉลี่ยแต่ละปีมีแพทย์ลาออก 455 คน นอกจากนี้ ยังมีเกษียณปีละ 150-200 คน ทำให้มีแพทย์ลดลงจากทั้ง 2 สาเหตุประมาณปีละ 655 คน”
เส้นทางการเป็นหมอ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์ในประเทศไทย มีทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเรียนแตกต่างกัน โดยที่มหาวิทยาลัยรัฐจะถูกกว่า เนื่องจากมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชน ผู้เรียนต้องจ่ายเองทั้งหมด โดยมีระยะเวลาเรียน 6 ปี
เพจเฟซบุ๊กdek-d’s tcas สอบติดไปด้วยกัน ให้ข้อมูลว่า แพทยศาสตร์เป็นหลักสูตรที่ใช้เวลาเรียน 6 ปี โดยไม่มีแยกสาขาในระดับปริญญาตรี ทุกคนจะได้เรียนเหมือนกันหมด เมื่อจบออกมาจะเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป สามารถรักษาผู้ป่วยทั่วไปได้ ซึ่งในระยะเวลานี้จะได้ไปเป็นหมอตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อเป็นการใช้ทุน และหลังจากใช้ทุน หากใครต้องการเรียนต่อเฉพาะทางก็สามารถเรียนต่อเพิ่มเติมเพื่อเป็นหมอเฉพาะทางได้ หรือถ้าต้องการเรียนต่อเฉพาะทางระหว่างใช้ทุนก็สามารถลาเรียนและกลับมาใช้ทุนต่อก็ได้เช่นกัน
เรียนจบทำไมต้องใช้ทุน?
การเรียนแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐเมื่อจบออกไปต้องใช้ทุน เนื่องจากการลงทุนผลิตบุคลากรด้านการแพทย์นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งรัฐก็ได้ช่วยสนับสนุน ทำให้นักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยรัฐได้เรียนแพทย์ในราคาที่ไม่แพงเกินไป แต่มีเงื่อนไขว่าเรียนจบแล้วก็ต้องทำงานให้รัฐ โดยการไปเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชนของจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อชดใช้ทุนเป็นระยะเวลา 3 ปี
แต่ถ้าหากไม่ใช้ทุนคืน หรือลาออก จะโดนปรับสูงสุด 400,000 บาท ซึ่งผู้ที่เรียนแพทยศาสตร์จะต้องรู้ล่วงหน้า หรือถ้าหากเรียนจบแล้ววางแผนหางานทำเองตามโรงพยาบาล หรือคลินิกต่าง ๆ ก็ทำได้ แต่มีเงื่อนไขเรื่องค่าปรับที่ต้องจ่ายให้มหาวิทยาลัยเช่นกัน ซึ่งจะมีการเซ็นสัญญาตั้งแต่เข้าเรียนชั้นปี 1
ซึ่งการใช้ทุนคืนไม่ใช่การทำงานให้ฟรี จะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ แต่ไม่ได้เลือกสถานที่โรงพยาบาลเอง เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดให้ แต่สามารถเลือกจังหวัดเองได้ หากจังหวัดนั้นจำนวนผู้สมัครน้อยก็ลงไปปฏิบัติงานได้เลย แต่ถ้าหากมีผู้สมัครมากก็ต้องใช้วิธีการจับสลาก
เปิดสัญญาเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยรัฐ
โรงเรียนแพทย์ในประเทศที่แพทยสภารับรองมีทั้งหมด 26 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนผลิตแพทย์ที่เป็นของรัฐบาล 22 แห่ง และโรงเรียนผลิตแพทย์เอกชน 4 แห่ง ดังนี้
โรงเรียนแพทย์รัฐบาล
-
- คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- คณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก
โรงเรียนแพทย์เอกชน
-
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
ตัวอย่างใจความสำคัญของสัญญา นิสิต/นักศึกษาที่เข้าเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยรัฐ ดังนี้
ข้อมูลจากเว็บไซต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้รายละเอียดว่า สัญญาการเป็นนิสิตเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ มีกฎระเบียบที่สำคัญประการหนึ่งคือ เป็นระเบียบการชดใช้ทุนของนิสิตแพทย์เมื่อจบการศึกษา สำหรับรายละเอียดที่สำคัญของการปฏิบัติงานชดใช้ทุน เมื่อแพทย์จบการศึกษา และต้องไปปฏิบัติงานชดใช้ทุน (บางส่วนของสัญญา) มีสาระสำคัญดังนี้
ก.นิสิตแพทย์ทุกคนต้องทำสัญญากับมหาวิทยาลัยเมื่อแรกเข้า โดยยินยอมปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสัญญานั้น
ข.เมื่อสำเร็จการศึกษา ต้องยินยอมเข้ารับราชการ หรือทำงานจนครบกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่นับระยะเวลาระหว่างเข้ารับการศึกษาอบรมเพิ่มเติมรวมคำนวณเข้าด้วย
ค.หากนิสิตแพทย์ไม่เข้ารับราชการ หรือ ทำงานตามที่คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์มอบหมาย หรือไม่ปฏิบัติงานชดใช้ทุนตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด นิสิตแพทย์ต้องยินยอมรับผิด ชดใช้เงินให้แก่มหาวิทยาลัยเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท (สี่แสนบาทถ้วน) ในทันที โดยที่มหาวิทยาลัยมิต้องทวงถาม และมหาวิทยาลัยมีสิทธิ์คิดดอกเบี้ยตามกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ผิดสัญญา ทั้งนี้ ถ้านิสิตแพทย์รับราชการ หรือทำงานไม่ครบกำหนดเวลา ต้องชำระเงินให้แก่มหาวิทยาลัยตามระยะเวลาที่ขาด โดยคิดคำนวณลดลงตามส่วนเฉลี่ยจากจำนวนเงินที่ต้องชดใช้
เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ในสัญญาระบุว่า หากไม่รับราชการหลังเรียนจบ จะต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาทถ้วน ภายในระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด หรือรับราชการไม่ครบกำหนดก็ต้องชดใช้เงินให้แก่มหาวิทยาลัยตามระยะเวลาที่ขาด โดยคิดคำนวณลดลงตามส่วนเฉลี่ยจากจำนวนเงินที่ต้องชดใช้
ขณะที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า หากไม่ใช้ทุนคืนก็ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าปรับ 400,000 บาท ภายในกำหนดที่มหาวิทยาลัยเรียกร้องให้ชำระ โดยที่ต้องชดใช้ทุนให้หมดในคราวเดียว ไม่อนุญาตให้มีการผ่อนชำระ