สธ. รับ แพทย์งานล้น เร่งเพิ่มกำลังคน-ดูแลอินเทิร์นใกล้ชิด

แพทย์
ภาพประกอบจาก unsplash

รองปลัด สธ. ยอมรับแพทย์ รพ.รัฐงานล้น ทำงาน 40-64 ชม./สัปดาห์ จากปัญหาขาดกำลังคน หลังผลิตใหม่ต่ำเป้า ลาออก-เกษียณเฉลี่ย 655 คน/ปี งัดหลากมาตรการรับมือ ทั้งถก กพ.เพิ่มอัตรา-ค่าจ้าง โยกย้ายเกลี่ยกำลังคน พร้อมดูแลอินเทิร์นใกล้ชิด

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณะสุข กล่าวถึงสถานการณ์ขาดแคลนบุคลากรในวงการสาธารณะสุขของไทยว่า ปัจจุบันไทยมีแพทย์ประมาณ 5-6 หมื่นคน แต่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพียง 24,649 คน หรือ 48% แต่ต้องรองรับประชากรในระบบประกันสุขภาพกว่า 45 ล้านคน เทียบเท่าแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 2,000 คน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่แพทย์ 3 คนต่อ ประชากร 1,000 คน อยู่มาก

การขาดแคลนบุคลากรนี้เป็นผลจาก 3 ปัจจัย คือ

1. การผลิตแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

โดยจากการประเมินของ สธ. ระบบสาธารณะสุขต้องการแพทย์ 2,055 คน/ปี แต่การผลิตแพทย์ใหม่ซึ่งวางเป้าไว้ประมาณ 3,300 คน/ปี ต่อเนื่อง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2570 นั้นที่ผ่านมามีแพทย์จบการศึกษาประมาณปีละ 2 พันกว่าคนเท่านั้น เนื่องจากการควบคุมคุณภาพทำให้มีนักศึกษาบางส่วนถูกคัดออกหรือใช้เวลาเรียนนานกว่าที่คาด

นอกจากนี้ในจำนวนแพทย์ใหม่ 2 พันว่าคน ยังต้องแบ่งไปประจำยังหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กทม. กลาโหม มหาวิทยาลัย ฯลฯ ทำให้มีแพทย์เข้าสู่ รพ. 117 แห่งของ สธ. ในช่วงใช้ทุนหรืออินเทิร์นเฉลี่ย 1,800-2,000 คน/ปี

2. แพทย์ออกจากระบบทั้งเรียนต่อ ลาออกและเกษียณ

ขณะเดียวกันด้วยนโยบายเน้นแพทย์เฉพาะทาง ส่งผลให้เมื่อใช้ทุนครบ 1 ปี จะมีแพทย์ใช้ทุนจำนวนกว่า 4,000 คน ลางานเพื่อเรียนต่อเฉพาะทาง ทำให้แพทย์ในระบบลดจาก 2.4 หมื่นคน เหลือ 2 หมื่นคน

อีกทั้งยังมีการลาออกและเกษียณ ซึ่งการลาออกของแพทย์ 10 ปีย้อนหลัง (2556-2565) นั้นจากแพทย์บรรจุรวม 19,355 คน แพทย์ใช้ทุนปีแรก ลาออก 226 คน คิดเป็น 1.2% เฉลี่ยปีละ 23 คน, แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออก 1,875 คน คิดเป็น 9.69% เฉลี่ยปีละ 188 คน, แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4% เฉลี่ยปีละ 86 คน, ส่วนแพทย์ที่ลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุนมีจำนวน 1,578 คน คิดเป็น 8.1% เฉลี่ยปีละ 158 คน

เท่ากัยเฉลี่ยแต่ละปีมีแพทย์ลาออก 455 คน นอกจากนี้ยังมีเกษียณปีละ 150-200 คน ทำให้มีแพทย์ลดลงจากทั้ง 2 สาเหตุประมาณปีละ 655 คน “ตัวเลขที่ออกไปยังสื่อมวลชนว่า ลาออกไป 900 กว่าคนจึงเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน”

3. ภาระงานหนักบีบคนออกนอกระบบ

อีกหนึ่งในสาเหตุที่แพทย์ตัดสินใจลาออกเป็นผลจากภาระงานที่หนัก เพราะขาดแคลนบุคลากร โดยจากการเก็บข้อมูลเมื่อเดือนพฤษจิกายน 2565 พบว่า ในโรงพยาบาลของ สธ. 117 แห่งนั้น มีการทำงานระดับมากกว่า 40-64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หลายสิบแห่ง แบ่งเป็น

ทำงานมากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 9 แห่ง
ทำงานมากกว่า 59-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 4 แห่ง
ทำงานมากกว่า 52-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 11 แห่ง
ทำงานมากกว่า 46-52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 18 แห่ง
ทำงานมากกว่า 40-46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 23 แห่ง

“ทั้งนี้ชั่วโมงการทำงานตามมาตรฐษนสากลอยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น ซึ่ง สธ. พยายามหาวิธีลดปัญหาชั่วโมงทำงานอย่างเร่งด่วน แต่ไม่สามารถออกประกาศบังคับกำหนดชั่วโมงทำงานเป็นการทั่วไปได้ เนื่องจากสถานการณ์ในแต่ รพ. แตกต่างกัน จึงอาจทำให้เกิดผลลบได้”

เร่งรัดมาตรการแก้ไข

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จะมุ่งลดภาระงานเป็นหลัก หลังการสำรวจความต้องการของแพทย์พบว่า ต้องการลดภาระงานและมี Work-Life Balance มากที่สุด ส่วนค่าตอบแทนเป็นความต้องการลำดับรองลงมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับสำนักงาน กพ. เพื่อหาวิธีเพิ่มจำนวนแพทย์ เช่น การจ้างแพทย์ที่จบจากต่างประเทศ และการปรับรายได้ รวมถึงหารือกับหลายหน่วยงานทางการแพทย์เพื่อแบ่งกำลังคน เช่น โยกย้ายแพทย์ในรพ.ใกล้เคียงมาช่วย

พร้อมกันนี้กำชับให้สตาฟฟ์ ผู้ตรวจราชการฯ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผอ.โรงพยาบาล ฯลฯ ดูแลแพทย์ใช้ทุนอย่างใกล้ชิดแบบรายคน ลดปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างแต่ละฝ่าย รวมอาจมีการสัมภาษณ์แพทย์ที่ลาออกเพื่อสอบถามสาเหตุ และนำมาปรับปรุงแก้ไข

“การแก้ปัญหานี้ต้องใช้เวลาเพราะ เราไม่สามารถลดปริมาณงานได้ ยกเว้นในส่วนของห้องฉุกเฉินหรือ ER เนื่องจากต้องให้บริการกับประชาชน และต้องคุมคุณภาพการผลิตแพทย์ แต่เชื่อว่าการผลักดัน พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิจะช่วยลดปัญหานี้ได้”