ความน่ากลัวของ “สังคมสูงวัย”

older
คอลัมน์​ : สามัญสำนึก 
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาโตช้า-โตต่ำกว่าศักยภาพ และมีการตอกย้ำและยืนยันชัดเจนจากข้อมูลตัวเลขไตรมาส 1/2567 จีดีพีไทยเติบโต 1.5% แบบรั้งท้ายประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

ด้วยสารพัดปัญหาทั้งจากภายนอกและภายในประเทศเอง ที่ไม่ได้รับการจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเป็นการเติบโตด้วยการบริโภคจากการก่อหนี้

นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่มีภาระหนี้สูง แต่รายได้ไม่พอรายจ่ายและไม่พอใช้หนี้

อีกหนึ่งโจทย์ท้าทายที่ทำให้กำลังซื้อและการบริโภคในประเทศถดถอยลงก็คือ โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนไป ทั้งจากจำนวนประชากรที่เริ่มลดลง และเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-aged society)

โจทย์ท้าทายเรื่องการเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ไม่ใช่แค่ปัญหาสังคมของคนแก่ที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่เผชิญ 3 ด้านหลัก ได้แก่

1. การขาดแคลนแรงงานในระดับที่รุนแรงขึ้นในทุกระดับ ทั้งแรงงานไม่มีทักษะหรือทักษะสูง และนี่ก็เป็นโจทย์ที่ภาครัฐต้องวางยุทธศาสตร์ เพราะปัญหาแรงงาน คือคำถามอันดับต้น ๆ ของผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในเมืองไทย

ADVERTISMENT

2. ภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นจากการที่จะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งสำหรับประเทศไทยถือว่าสวัสดิการและการดูแลผู้สูงอายุก็ยังอยู่ในระดับต่ำ

และ 3. การบริโภคในประเทศที่โตช้าลง เพราะประชากรสูงวัยก็มีการบริโภคและจับจ่ายลดลง ประกอบกับเมื่อไม่มีรายได้การใช้จ่ายก็ถูกจำกัด

ADVERTISMENT

ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยปัจจุบันพึ่งพาการบริโภคในประเทศในสัดส่วนที่สูงขึ้น

โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในปี 2023 การบริโภคในประเทศมีสัดส่วนถึง 58% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วน 53%

สวนทางกับประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ที่กำลังจะเป็นสังคมสูงวัยขั้นสุดยอดไล่เลี่ยกับไทย แต่มีการพึ่งพาการบริโภคในประเทศลดลงจาก 37% ของจีดีพี เหลือเพียง 31%

หรือแม้แต่ เวียดนามและอินโดนีเซีย ที่กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ก็เริ่มเห็นสัดส่วนการพึ่งพาการบริโภคในประเทศลดลงเช่นกัน แต่การเติบโตของเศรษฐกิจยังไปได้ดีและขยายตัวมากกว่าประเทศไทย สะท้อนว่าประเทศอื่น ๆ มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านอื่นมาเสริม

ขณะที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการบริโภคในประเทศถึง 58% แต่ก็พบว่าการบริโภคในประเทศของไทยเติบโตชะลอลง จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่กระทบกำลังซื้อ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาสินค้าและบริการแพงขึ้น รวมถึงภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ดังนั้นหากจำนวนประชากรของไทยที่มีแนวโน้มลดลง อย่างมีนัยสำคัญจะยิ่งฉุดการบริโภคในประเทศให้ขยายตัวช้าลงอีก

โครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอดอย่างรวดเร็ว ขณะที่รายได้ประชากรความไม่แน่นอนตามสถานการณ์เศรษฐกิจการบริโภคที่อาจลดลงจากทั้งผู้สูงอายุ ที่ใช้จ่ายน้อยลงและจำนวนประชากรที่น้อยลงจะยิ่งส่งผลลบต่อการบริโภคในประเทศ

นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่มาจากโครงสร้างประชากรสูงวัย

“สังคมสูงวัย” จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทย

ขณะที่ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ซึ่งแถลงภาวะสังคมไตรมาส 1/67 ก็สะท้อนความกังวลปัญหาสังคมสูงวัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พร้อมเปิดเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนโสดมากขึ้น โดยพบว่าคนไทยวัยเจริญพันธุ์ (15-49 ปี) เป็นคนโสดถึง 40.5% ขณะที่แนวทางการแก้ปัญหานโยบายส่งเสริมการมีลูกของภาครัฐไม่ต่อเนื่อง และไม่ครอบคลุมความต้องการ

ถือเป็นต้นตอแห่งปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบขั้นสุดยอดอย่างรวดเร็ว