
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร
ราคาข้าวนาปรังปี 2567/2568 ที่ตกลงเหลือตันละ 8,000, 9,000 บาท จากผลผลิตทั้งหมด 6.53 ล้านตัน ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล เมื่อกลุ่มชาวนาทั้งในนาม สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และกลุ่มชาวนาภาคกลาง ได้ออกมาเคลื่อนไหวขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเรื่องราคาข้าว โดยกลุ่มชาวนาต้องการให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนโดยตรง ไม่ว่าจะเรียกว่า การประกันราคาข้าว หรือมาตรการช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามให้ได้ตันละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท
ขณะที่รัฐบาลเองก็อ้างว่า ไม่เคยมีโครงการช่วยเหลือราคาข้าวนาปรังมาก่อน ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลเองก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะหาเงินเข้ามาอุดหนุนราคาข้าวเปลือกในประเทศเหมือนกับที่เคยกระทำกับโครงการช่วยเหลือราคาข้าวนาปีที่จะต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท
ปัญหาการตกต่ำของราคาข้าวเปลือกนาปรังในปีนี้ เกิดจากปัจจัยภายนอก 5 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1) ผลผลิตข้าวโลก รวมถึงผลผลิตข้าวนาปรังของไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สต๊อกข้าวโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ 2) อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ปลูกข้าวรายใหญ่ ได้หันกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง หลังจากที่หยุดไป 2 ปี 3) ราคาข้าวส่งออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวขาว มีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวจากเวียดนาม
4) ประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่อย่าง จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกข้าวไทย ครึ่งปีแรกยังไม่มีทีท่าจะเปิดให้มีการซื้อข้าว จากเหตุผลที่ว่าที่ผ่านมามีการนำเข้าข้าวไปก่อนหน้านี้ และผลผลิตข้าวในประเทศก็เพิ่มขึ้นด้วย
และ 5) ในไตรมาสแรกของปีนี้ยังไม่มีคำสั่งซื้อข้าวลอตใหญ่เข้ามา เมื่อไม่มีคำสั่งซื้อข้าว การซื้อขายข้าวในประเทศเพื่อการส่งออกก็ชะลอตัวลงตามออร์เดอร์ หรือผู้ส่งออกข้าวไม่มีคำสั่งซื้อ ก็หยุดซื้อข้าวจากโรงสีข้าว ด้านโรงสีข้าวเองก็ไม่มีการสต๊อกข้าวนาปรังส่วนเกินเพื่อขายให้กับผู้ส่งออก ผลก็คือราคาข้าวเปลือกนาปรังตกต่ำลงทันที
เป็นความจริงที่ว่า ปัจจัยภายนอกทั้ง 5 ปัจจัย แม้ไม่สามารถที่จะควบคุมได้ แต่ปัจจัยภายในประเทศเองก็มีส่วนอย่างสำคัญต่อ “ต้นทุน” การปลูกข้าว สะท้อนกลับมาที่ราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาจะขายได้ เรื่องสำคัญที่มีส่วนอย่างมากต่อต้นทุนการปลูกข้าวของไทยก็คือ ผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทย นั้น “ต่ำที่สุด” เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายอื่น ๆ โดยอินเดีย ซึ่งหันกลับมาส่งออกข้าวในปีนี้ สามารถปลูกข้าวมีผลผลิต 696 กก./ไร่, เวียดนาม 976 กก./ไร่, ปากีสถาน 632 กก./ไร่, สหรัฐ 1,390 กก./ไร่, จีน 1,146 กก./ไร่, ออสเตรเลีย 1,634 กก./ไร่, ไต้หวัน 1,112 กก./ไร่, เกาหลีใต้ 1,088 กก./ไร่ แม้กระทั่งกัมพูชาก็ยังมีผลผลิตข้าว 531 กก./ไร่
ในขณะที่ประเทศไทยปี 2568 มีตัวเลขประมาณการผลผลิตแค่ 456 กก./ไร่ ซึ่งไม่ใช่ปีนี้เป็นปีแรกที่ผลผลิตข้าวไทยต่ำ แต่ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทย “ตกต่ำ” มาตลอด 4 ปีย้อนหลัง โดยในปี 2564 มีผลผลิต 435 กก./ไร่ ปี 2565 ได้ 450 กก./ไร่ ปี 2566 มีผลผลิต 458 กก./ไร่ ปี 2567 ผลผลิต 456 กก./ไร่ ในย่านอาเซียนเองเห็นจะมีแต่ เมียนมา ประเทศเดียวเท่านั้นที่มีผลผลิตข้าวต่ำกว่าไทย หรือ 435 กก./ไร่ แต่ก็เข้าใจได้ว่า เมียนมาประสบปัญหาทางการเมือง จนไม่มีความสามารถที่จะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เหมือนในอดีต
ประเด็นคำถามก็คือ เราจะแก้เรื่องผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยต่ำกว่าประเทศคู่แข่งได้อย่างไร ปัญหานี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวและปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของปุ๋ย แต่ที่ผ่านมาผลผลิตงานวิจัยพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงจากหน่วยงานราชการมีน้อยมาก และไม่ทันกับสถานการณ์การแข่งขัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาพันธุ์ ประกอบกับทุนการวิจัยที่จะให้กับนักวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนก็ต่ำ ส่งผลให้พันธุ์ข้าวไทยในปัจจุบันสู้ไม่ได้กับพันธุ์ข้าวของเวียดนามที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า ยังไม่นับพันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคที่เริ่มกินข้าวน้อยลง รวมไปถึงคนไทยเองด้วย