Market-think: จิตวิทยา “น้ำท่วม”

น้ำท่วม
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

วันก่อนในไลน์กลุ่มหมู่บ้าน เริ่มมีคนถามถึงเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554

หมู่บ้านของผมเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ อายุประมาณ 20 กว่าปี

ผ่านวิกฤตน้ำท่วมใหญ่มาอย่างโชกโชน

สมาชิกคนนี้เพิ่งซื้อบ้านเก่ามาปรับปรุงใหม่ อยู่ในหมู่บ้านได้แค่ 3-4 ปี

เขานึกสภาพไม่ออกว่า น้ำท่วมถึงระดับไหน

สมาชิกเก่าผู้มีประสบการณ์ตรงก็ส่งรูปเก่าลงในกลุ่มและเล่าเรื่องให้ฟัง

มีบางคนเล่าอย่างสนุกสนาน

แต่บางคนเริ่มรู้สึกวิตกกังวล

ครับ ความทรงจำในอดีตเริ่มหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ผมเชื่อว่าคงไม่ใช่เฉพาะในหมู่บ้านของผมเท่านั้น คนกรุงส่วนใหญ่ก็คงวิตกกังวลเหมือนกัน

เพียงแต่มากหรือน้อยแตกต่างกัน

“จิตวิทยา” นี้เองที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ตอนนี้

ทำเลที่น้ำท่วม คนตัดสินใจซื้อช้าลง

คอนโดมิเนียมในเมืองแนวรถไฟฟ้าขายดีขึ้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดามากเลยครับ

จำได้ไหมครับว่า ตอนที่เกิดโควิดใหม่ ๆ บ้านจัดสรรขายดีมาก โดยเฉพาะบ้านราคาแพง

ส่วนหนึ่ง เพราะคนรวยส่วนใหญ่ไม่สะเทือนกับสถานการณ์นี้

รวยก็ยังรวยเหมือนเดิม

เพิ่มเติมคือรวยขึ้น

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายในฝันของสินค้าต่าง ๆ

เพราะสะเทือนกับสถานการณ์เศรษฐกิจน้อยมาก

แต่เหตุผลหนึ่งที่ตัดสินใจซื้อบ้านเดี่ยวราคาแพง ๆ เพราะ “โควิด” ทำให้การใช้พื้นที่ในบ้านมากขึ้น

จากเดิมทุกคนออกไปทำงาน หรือไปเรียนหนังสือ

เย็น ๆ ค่ำ ๆ จึงกลับมาที่บ้านหรือคอนโดมิเนียม

แต่ช่วงโควิด คนทำงานต้อง work from home นักเรียน-นักศึกษาก็ต้องเรียนออนไลน์

อยู่บ้านพร้อมกันทั้งวัน

บ้านที่เคยกว้างจึงแคบลง

ใครที่อยู่คอนโดมิเนียมยิ่งแล้วใหญ่ หันไปก็เจอกันแล้ว

คนรวยเป็นโรคขี้รำคาญ เมื่อมีเงินอยู่แล้วก็ตัดสินใจง่าย

ซื้อบ้านใหม่ที่มีพื้นที่กว้าง ๆ ดีกว่า

จะได้ไม่อึดอัด

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ คนที่กำลังตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นหลังที่ 1 หรือหลังที่ 2

จากเดิมที่คิดจะซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน

เขาเริ่มรู้สึกแล้วว่าพื้นที่คอนโดฯเล็กเกินไป สำหรับการใช้ชีวิตช่วงโควิด ซึ่งไม่รู้ว่าจะยาวนานแค่ไหน และจะมีโรคใหม่ระบาดอีกหรือไม่

การทำงานแบบ WFH อาจจะกลับมาอีกได้

กลุ่มเป้าหมายนี้จึงเลือกทาวน์เฮาส์ หรือบ้านเดี่ยว แทนคอนโดมิเนียม เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง

แต่พอเจอเรื่องน้ำท่วม กทม.ในวันนี้ แม้ยังไม่หนักหนาสาหัสเหมือนตอนปี 2554

แต่ผลทางจิตวิทยาทำให้คนซื้อบ้านเริ่มคิดใหม่

ทำเลที่น้ำท่วมช่วงนี้ ถ้าเลือกได้ก็คงไม่เลือก

การจราจรในช่วงน้ำท่วมที่นรกแตกมากสำหรับคนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง อาจมีผลทางจิตวิทยาที่คนเริ่มมองหาคอนโดมิเนียมที่อยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้า

เพราะตอนน้ำท่วม ชีวิตของคนที่ใช้รถไฟฟ้ากับใช้ชีวิตบนถนนนั้นแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

บทเรียนจากปี 2554 ชัดเจนมาก

นอกจากนั้นยังมีคนที่จินตนาการไกลกว่านั้น

คนจำนวนไม่น้อยเริ่มคิดถึงเรื่องโลกร้อน น้ำทะเลสูงจนเริ่มท่วม กทม.

เขาคิดถึงการซื้อที่ดินบนพื้นที่สูง ๆ ในต่างจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลเมืองกรุง

อย่างเช่น เขาใหญ่ ฯลฯ

คนที่ผ่านวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 คงจำความรู้สึกนี้ได้

หรือบางคนเริ่มคิดถึงการใช้ชีวิตในต่างจังหวัด

“นรก” บนท้องถนนเพียงแค่ไม่กี่วันที่น้ำท่วม กทม. มีผลทางจิตวิทยามากเลยนะครับ

และคงไม่ใช่เพียงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว

ธุรกิจรถยนต์ก็น่าจะมีผลเช่นกัน

คนที่ตัดสินใจซื้อรถเก๋งน่าจะมีลูกลังเลบ้าง

เพราะตอนน้ำท่วมปี 2554 ทำให้ชนชั้นทางสังคมเปลี่ยนไป

คนนั่งรถเก๋งแพง ๆ กลายเป็นชนชั้นล่าง

แต่คนที่นั่งรถกระบะ หรือรถตู้ กลายเป็นชนชั้นสูง

ระดับชนชั้นในปีนั้น เขาเปลี่ยนวิธีการวัดใหม่

ไม่ได้วัดจากฐานะ หรือเงินในแบงก์

แต่วัดจากระดับความสูงจากถนนถึงใต้ท้องรถครับ

รถใครสูงกว่า คนนั้น คือ ชนชั้นสูง