
คอลัมน์ : Market-think ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมมีข้อสงสัยอยู่เรื่องหนึ่ง
ทำไม “รีเจนซี่” จึงเริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มนักดื่มที่มีกำลังซื้อสูง
ผมทำหลักสูตร ABC กับ “โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ
ที่ผ่านมาคนเรียน ABC ที่เป็นนักธุรกิจหรือนักบริหารทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ นอกจากดื่มไวน์แล้ว จะดื่ม “เหล้านอก” เป็นหลัก
ระดับ “แบล็กเลเบิล” ไม่ค่อยมีคนดื่ม
ส่วนใหญ่จะต้องเป็น “โกลด์เลเบิล” หรือเหล้าประเภท “ซิงเกิลมอลต์”
แต่ช่วง 2-3 ปีนี้ คนกลุ่มนี้เปลี่ยนมาดื่ม “รีเจนซี่” เป็นหลัก
บนโต๊ะในงานเลี้ยงจะมี “รีเจนซี่” วางคู่กับไวน์ยี่ห้อต่าง ๆ
ทั้งที่กำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ไม่เปลี่ยนแปลง
เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก
ในฐานะคนที่ไม่ใช่ “นักดื่ม” ผมพยายามถามน้อง ๆ นักดื่มว่า ทำไมถึงเปลี่ยนมาดื่ม “รีเจนซี่”
คำตอบก็ไม่ชัดเจน
ส่วนหนึ่งบอกว่า ดื่ม “รีเจนซี่” แล้วไม่แฮงก์
บางคนก็บอกว่า ช่วงหลัง “เหล้านอก” ปลอมเยอะ
แต่ทั้ง 2 เหตุผลก็ยังไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไรนัก
เพราะเรื่องคำร่ำลือว่า ดื่ม “รีเจนซี่” แล้วไม่แฮงก์ตอนเช้า เป็นเรื่องที่บอกต่อ ๆ กันนานมาแล้ว
ส่วนเรื่อง “เหล้าปลอม” ตอนหลัง “รีเจนซี่” ก็เริ่มมีปลอมมากขึ้น
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
เพราะ “รีเจนซี่” เป็นสินค้าที่ขาดตลาดมานานแล้ว
ผลิตเท่าไรก็หมด
ราคาก็ขยับขึ้นเรื่อย ๆ
ล่าสุดเพิ่งขยับราคาครั้งใหญ่ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ที่สำคัญ มีช่องว่างราคาระหว่างร้านสะดวกซื้อ หรือโมเดิร์นเทรด กับร้านค้าทั่วไปสูงมาก
ประมาณขวดละ 100 บาท
ว่ากันว่า พนักงานเซเว่นฯจะมีรายได้พิเศษจาก “ลูกค้าประจำ” ให้ช่วยเก็บ “รีเจนซี่” ให้หน่อย
เพราะหาซื้อราคานี้ยาก
สถานการณ์แบบนี้ไม่ปลอมก็แปลกแล้ว
“รีเจนซี่” เป็นเหล้าประเภท “บรั่นดี” ที่มีไม่กี่ยี่ห้อในเมืองไทย
ครองตลาด “บรั่นดี” ประมาณ 85%
“บรั่นดี” เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความพิถีพิถันเป็นพิเศษเพราะต้องบ่มในถังไม้โอ๊ค เป็นเวลา 3 ปี
แต่การดื่มบรั่นดีในเมืองไทย ไม่เหมือนกับต่างประเทศ
ตามปกติ คนต่างชาติจะดื่มเพียว ๆ
แต่คนไทยดื่ม “บรั่นดี” เหมือนกับวิสกี้
คือ ใส่น้ำแข็ง ผสมโซดาหรือน้ำ
ตลาด “บรั่นดี” จึงกินตลาดวิสกี้ด้วย
การที่ “รีเจนซี่” ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องกำลังการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้เกิด “ช่องว่าง” ทางการตลาด
และเป็นเหตุผลที่ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” แห่งคาราบาวแดง เห็น “โอกาส”
เขาดึงมือปรุงบรั่นดีของ “รีเจนซี่” มาทำ “บรั่นดี” ยี่ห้อ “แกแล็กซี่”
เจาะช่องว่างตลาดนี้โดยตรง
แต่ไม่ได้มองแค่ตลาดบรั่นดีที่มีมูลค่าไม่ถึงหมื่นล้าน
เขามองถึงโอกาสที่จะไปกินตลาดวิสกี้ ซึ่งมีมูลค่าแสนล้านบาทด้วย
ตามธรรมชาติหลักการตลาดพื้นฐาน ถ้าสินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค
ลูกค้าอยากดื่ม แต่หาของไม่ได้
คนก็จะทดลองสินค้าประเภทเดียวกันตัวใหม่ทันที
ถ้ารสชาติทดแทนกันได้ เขาก็จะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าใหม่ที่หาซื้อง่าย
ยิ่งตอนนี้ “รีเจนซี่” กินตลาดไปถึงลูกค้าระดับบนด้วย
มูลค่าตลาดกลุ่มนี้ใหญ่มาก
ถ้าพึงพอใจก็พร้อมจ่ายแพง
ไม่รู้ว่าเหตุผลหนึ่งที่ “รีเจนซี่” ขาดตลาดหนักขึ้น
เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ลงมากว้านซื้อเก็บตุนไว้ด้วยหรือเปล่า
คงต้องติดตามและหาคำตอบกันต่อไป