
ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักกอลลี เติบโตขึ้น 52.1% ทั้งที่ตลาดสุรารวมหดตัว ไม่เท่านั้นยังขยายไปตลาดโลก จนเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลัง
วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานถึง ซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้ที่กำลังมาแรง เป็นสาโท หรือน้ำเมาพื้นบ้านของเกาหลี ชื่อ Makgeoll – มักกอลลี ได้รับความนิยมจนเฉิดฉายออกมาจากเงาของเหล้าโชจู และถึงกับได้ชื่อว่า เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำเงินยิ่งกว่าเคพ็อป
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
ผศ.คิม คย็อง–ซบ ประจำมหาวิทยาลัยโกลบอล ไซเบอร์ในกรุงโซล สอนการหมักมักกอลลีมา 10 ปี เล่าย้อนความหลังครั้งยังเป็นเด็กนักเรียนว่า หลังเลิกเรียนแล้ว มักจะตั้งวงดื่มมักกอลลี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สีขาวนวลคล้ายนม รสชาติหวาน ราคาย่อมเยา

ปี 1989 (พ.ศ. 2532) คิมเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ในตอนนั้น มักกอลลีครึ่งแกลลอน ราคาเพียง 40 เซนต์ คิมและเพื่อน ๆ นั่งล้อมวงสังสรรค์กันรอบโต๊ะ เทมักกอลลีจากกาทองเหลืองลงในชามทองเหลืองตามประเพณี
คิมเผยว่า ยังจำวันแรกที่จิบมักกอลลีรสชาติเปรี้ยวและขมได้ดี ถ้าต้องดื่มกับผู้หญิง คิมและเพื่อนจะดื่มเบียร์ เพราะมักกอลลีมีชื่อเสียงด้อยกว่าเบียร์และผู้หญิงอาจจะไม่ประทับใจ
20 ปีต่อมา มักกอลลีมีขายในบาร์ทั่วกรุงโซลและเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ทั้งผู้ประกอบการและผู้ผลิตเบียร์ หลังจากพยายามอย่างหนักเพื่อลบภาพลักษณ์เดิมๆ ของมักกอลลี
ส่วนคิม มิน–กยู ผู้ผลิตสุรารายหนึ่งเปิดตัวมักกอลลีพรีเมี่ยม ในปี 2009 (พ.ศ. 2552)

แต่ว่าก่อนหน้านั้น พ่อชาวคริสเตียนผู้เคร่งศาสนาและไม่ดื่มเหล้าคัดค้านแผนของลูกชายเพราะส่งเสียให้ร่ำเรียนด้านสถาปัตยกรรมที่วิทยาลัยคูเปอร์ ยูเนียน ในนครนิวยอร์ก 5 ปี จึงทุบหม้อดินที่ใช้หมักมักกอลลีด้วยความโมโห แต่มิน–กยูไม่ได้ห้ามพ่อและเชื่อมั่นสูตรมักกอลลีของยาย
เมื่อครั้งยังเด็ก เขาไปเยี่ยมยายที่ จ.ยังซัน ยายหมักมักกอลลีเองและแบ่งให้เพื่อนบ้าน จากนั้น ก็จะร้องเพลงและเต้นรำกัน
มิน–กยู กล่าวว่าการหมักเหล้าเป็นส่วนขยายของสถาปัตยกรรมของเขาด้วยการอบรม ออกแบบแบรนด์ สื่อการตลาดและโรงกลั่น ส่วนแม่มีหน้าที่หมักมักกอลลี จนผลิต Boksoondoga ขวดแรกโดยตั้งชื่อจากการรวมคำว่า Doga หมายถึง หมักเหล้า และ Boksoon เป็นชื่อแม่
ประวัติศาสตร์ดื่มน้ำเมา
มักกอลลี เป็นคำผสมระหว่างคำว่า mak ในภาษาเกาหลีแปลว่า ทำอย่างหยาบๆ หรือ เมื่อไม่นานมานี้ และ geolleun คือ การกรอง
พบครั้งแรกในสารนุกรม Gwangjaemulbo ที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 19 พูดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สีขุ่นที่มีประวัติย้อนกลับไปยาวนาน
จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 มีบันทึกอ้างว่ามักกอลลีเป็นเครื่องดื่มที่นิยมในเกาหลี

คิม คย็อง–ซบ กล่าวว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวเกาหลีนิยมเนื่องจากความธรรมดา ๆ นี่เอง เพราะมีส่วนผสมากข้าวที่หุงแล้ว ยีสต์และน้ำ หมักทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ในหม้อดิน หลายครอบครัวทั่วมีสูตรเฉพาะของแต่ละบ้าน
เมื่อญี่ปุ่นล่าอาณานิคมในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ทำให้อุตสาหกรรมหมักเหล้าตามบ้านต้องเลิกไปเพราะรัฐบาลเจ้าอาณานิคมห้ามหมักเหล้าเองในครัวเรือนและแทนที่ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีการผลิตได้มาตรฐาน รวมทั้ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดต้องจ่ายภาษีและมีใบอนุญาต แม้หมักไว้บริโภคภายในบ้านก็ตาม
เครื่องดื่มที่ใช้กำลังผลิตจำนวนมากครองตลาดแทนที่มักกอลลีแบบบ้าน ๆ และประมาณ ปี ค.ศ. 1934 การหมักเหล้าตามบ้านก็กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีทำให้ประเทศย่อยยับ รัฐบาลใหม่ยังดำเนินมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สถานการณ์ขาดแคลนอาหารย่ำแย่ลงในทศวรรษที่ 1960 รัฐบาลจึงสั่งห้ามนำข้าวไปหมักมักกอลลี ผู้ผลิตหันมาใช้ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์แทนทำให้ความนิยมของมักกอลลีลดลง ขณะที่โซจูสมัยใหม่มีกระแสตอบรับดีมาก
ต่อมา เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นและอุปทานข้าวมีมากกว่าการบริโภคจึงยกเลิกการห้ามใช้ข้าวสำหรับหมักเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี ค.ศ. 1989 และการหมักเหล้าตามบ้านก็กลับมาถูกกฎหมายอีกครั้งในปี ค.ศ. 1995 แต่ประเพณีส่วนใหญ่สูญหายไป

รื้อฟื้น มักกอลลี
ศิลปะการหมักมักกอลลีกลับมาอีกครั้งโดยต้องยกความดีความงามให้นักวิจัยรุ่นผู้บุกเบิก เช่น พัค ร็อค–ดัม ที่ตระเวนไปทั่วเกาหลีอยู่ 30 ปี เพื่อรวบรวมสูตรหมักเหล้าและฟื้นเทคนิคเก่า ๆ ขึ้นมาใหม่
ส่วนรัฐบาลยอมรับว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบดั้งเดิมเป็นมรดกความภาคภูมิใจและสร้างรายได้
ปี ค.ศ. 2016 รัฐบาลอนุญาตให้โรงกลั่นเหล้าและโรงกลั่นขนาดเล็กขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยลดข้อกำหนดขนาดถังต้มจาก 5,000 เป็น 1,000 ลิตร
ปีหน้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบดั้งเดิมจะได้รับสิทธิพิเศษเฉพาะช่องทางขายออนไลน์และส่งตรงถึงผู้บริโภค
ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ผู้คนถูกห้ามไม่ให้ไปบาร์และร้านอาหารทำให้ยอดสั่งซื้อมักกอลลีทั้งออนไลน์และออฟไลน์สูงขึ้น
Korea Agro-fisheries and Food Trade Corporation ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการโดยรัฐบาลซึ่งส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรระบุว่าปีที่แล้ว ตลาดมักกอลลีเติบโตขึ้น 52.1% ในขณะที่ตลาดสุรารวมหดตัว 1.6% ในปี ค.ศ. 2020
ขณะที่ในชั้นเรียนของคิม คย็อง–ซบ นักเรียนครึ่งห้องเป็นผู้ประกอบการ หลายคนเป็นผู้หญิงในวัย 30 ปีหรือน้อยกว่า แต่เมื่อ 10 ปีก่อน เกือบทุกคนมีอายุเกิน 50 ปี และมาเรียนเพื่อเป็นงานอดิเรกหลังเกษียณอายุ
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 มีผู้ถือใบอนุญาตการผลิตมักกอลลีเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เนื่องจากการเปิดโรงหมักมักกอลลีง่ายกว่าแอลกอฮอล์ประเภทอื่นมาก เทียบระหว่างต้นทุนอุปกรณ์สำหรับตั้งโรงเบียร์ขนาดเล็กจะอยู่ที่ประมาณ 200-300 ล้านวอน หรือประมาณ 5,270,000- 7,922,000 บาท
แต่ต้นทุนเดียวกันในการตั้งโรงหมักมักกอลลีใช้เพียง 10 ล้านวอนหรือประมาณ 265,200 บาทและใช้เวลาเรียนในชั้นเรียนเพียง 3 ชั่วโมงก็จะได้ความรู้ในการผลิตมักกอลลีที่รสชาติดีกว่ามักกอลลีที่ขายตามตลาดทั่วไป
มุ่งสู่ตลาดโลก
จูเลีย เมลเลอร์ พลเมืองออสเตรเลียมาเกาหลีใต้เพื่อสอนภาษาอังกฤษ ต่อมา ปี 2009 เธอรู้จักมักกอลลี
ทุกวันนี้ บริษัท The Sool สอนการหมักมักกอลลีและให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจจะเปิดโรงเหล้าของตัวเอง ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศและในช่วงโควิด-19 ระบาดใหญ่ ธุรกิจดีขึ้น 4 เท่า มีทั้งมาจาก สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และเดนมาร์ก หลายคนเป็นชาวเกาหลีพลัดถิ่นที่อยากนำความรู้เรื่องการหมักมักกอลลีกลับไปต่างประเทศ

ด้านคิม มิน–กยู กล่าวว่ามักกอลลีของเขากำลังจะขายในสหรัฐ และออสเตรียในปีนี้และยังมีผู้ซื้อจากประเทศตะวันตกอีกหลายรายที่สนใจ
ขณะนี้ มักกอลลีของเขาเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นตามกระแสฮัน–รยู หรือคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีในช่วงกลางศตวรรษที่ 2000 ที่ละครเกาหลีและเค-พ็อป ฮิตไปทั่วโลกเหมือนกับกิมจิและเครื่องดื่มแบบดั้งเดิม
ผู้บริโภคต่างชาติชื่นชอบมักกอลลีเพราะหมักตามธรรมชาติซึ่งดีต่อสุขภาพ ทำจากวัตถุดิบออร์แกนิกและสะอาด อีกทั้ง เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แปลกใหม่สำหรับคนต่างชาติ
จับคู่เมนูคูล ๆ
แม้มักกอลลีเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่โซจูและเบียร์ยังครองตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเกาหลีใต้โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของยอดขาย
มิน–กยู กล่าวว่าสาธารณชนติดภาพว่ามักกอลลีเป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้สูงอายุ จึงต้องเปลี่ยนการรับรู้ผ่านการโฆษณา
ส่วนการเปลี่ยนแปลงการรับรู้เกี่ยวกับอาหารที่จับคู่กับมักกอลลีก็เป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่ง

ตามวัฒนธรรมเกาหลี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะดื่มพร้อมกับของกินเล่น แต่สำหรับมักกอลลีเข้ากันได้ดีกับจอน แพนเค้กเกาหลีที่ผัดเนื้อหรือผักในแป้งปรุงรสซึ่งชุดคอมโบขายดีมากในวันฝนพรำ ยอดขายมักกอลลีและจอนสูงขึ้นมากตามร้านสะดวกซื้อ
แต่ มิน กยู กล่าวว่ามักกอลลีระดับพรีเมี่ยมเข้ากันได้ดีกับอาหารทุกประเภท เช่น จาจังมยอน (บะหมี่แบบจีนผสมเกาหลี) หรือไอศกรีม และเนื่องจากเป็นเครื่องดื่มหมักจึงมีรสชาติเยี่ยมเมื่อดื่มคู่กับการรับประทานอาหารหมักดองอื่นๆ เช่น กิมจิและชีส
ขณะนี้ มักกอลลี Boksoondoga เป็นเครื่องดื่มประจำรานอาหารกึ่งผับในย่านฮับจองอันทันสมัยของกรุงโซลไปแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนทำงานวัยหนุ่มสาว พักผ่อนฟังเสียงดนตรีฮิบฮอป พร้อมเลือกเมนูเป็นสเต๊กทาร์ทาร์เนื้อคู่กับมักกอลลีระดับพรีเมี่ยม