Market-think : หนังสั้น

คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ตั้งแต่เริ่มทำหลักสูตร ABC กับ “โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ

เราคิดว่าตอนจบน่าจะมีกิจกรรมอะไรบางอย่างที่เหมือนการทำวิทยานิพนธ์

แต่ต้องเป็นวิทยานิพนธ์ที่สนุก และเกี่ยวกับ “ความคิดสร้างสรรค์”

เพราะหลักสูตร ABC สอนเรื่องธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์

เอาสมองซีกซ้ายและซีกขวามาชนกัน

ความคิดซน ๆ ของเรามาจบที่ “การทำหนังสั้น”

ADVERTISMENT

ผมกับ “โจ้” ไม่ได้เรียนคณะนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์

เราไม่เคยทำ “หนังสั้น” มาก่อน

แต่คิดง่าย ๆ ว่า “หนังสั้น” แค่ 10 นาทีไม่น่าจะยากอะไร

ถ้าให้สอนการเขียนบท การทำหนังสัก 1 วัน

ถ่ายทำ 1 วัน

วันรุ่งขึ้นก็ส่งงาน

หนังแค่ 10 นาทีไม่น่าจะยากอะไร

หนังอาจไม่ดีนัก แต่ก็คงดูรู้เรื่อง

ยิ่งเรามีน้องนักศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มาช่วยในเรื่องกล้องและตัดต่อ

ยิ่งง่ายใหญ่เลย

ผมคิดถึง “พี่เก้ง” จิระ มะลิกุล และทีม GDH ซึ่งเป็น “มือหนึ่ง” ของวงการหนังไทย

จิระ มะลิกุล

ตอนที่ไปคุยโครงการนี้กับ “พี่เก้ง” และ “วรรณฤดี” ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของ GDH

 

“พี่เก้ง” หัวเราะ แล้วบอกว่าสนุกดี

รับปากมาสอนให้

นั่นคือ ที่มาของกิจกรรมหนังสั้นใน ABC

นักธุรกิจที่ไม่เคยรู้เรื่องหนัง แต่ต้องมาทำหนัง

เขียนบทเอง-ถ่ายทำเอง และเล่นเอง

เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน.

ทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้

“พี่เก้ง” มาเฉลยตอนหลังว่าขนาดเด็กนิเทศศาสตร์ เขาเรียนกัน 1 เทอม เพื่อทำหนังสั้น

แต่นักธุรกิจที่ไม่รู้เรื่องนี้เลยมาเรียนแค่ 1 วันและใช้เวลาทำแค่ 2 วัน 1 คืน

“พี่เก้ง” อยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไร

แต่ผลที่ออกมาน่าภูมิใจมาก.

ทุกรุ่นทำหนังออกมาได้ดีจน “พี่เก้ง” ชม

ตอนหลังเราอาศัยศิษย์เก่าที่อยู่ในแวดวงหนังหรือโทรทัศน์ที่เรียนจบไปมาเป็น “โค้ช”

หนังยิ่งออกมาดีกว่าเดิม

นักเรียนก็ประทับใจ

เพราะเป็นกิจกรรมที่ฟังแล้วนึกไม่ออกว่าจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร

คนไม่เคยทำหนังมาเลย ต้องมาทำหนัง

เหนื่อยมาก แต่สนุกมาก

และทำให้เสร็จภายในเวลา 3 วัน 2 คืน

พอมาฉายในโรงภาพยนตร์จริงๆ เห็นตัวเองและเพื่อนบนจอขนาดใหญ่ยิ่งสนุก

กลายเป็น “วิทยานิพนธ์” ในความทรงจำของนักเรียนทุกคน

ในขณะที่ผมก็ได้บทเรียนสำคัญในชีวิต

“ความไม่รู้” คือ”ความรู้” อย่างหนึ่ง

เพราะถ้าเคยเรียนคณะนิเทศศาสตร์ หรือผ่านวงการหนังมา ผมคงไม่กล้าทำ

ผมเพิ่งรู้ว่าการตัดต่อหนังสั้น 1 นาทีนั้นใช้เวลา 1 ชั่วโมง

แต่เพราะไม่รู้จึงกล้า

และเมื่อ “ความไม่รู้+ความกล้า” จึงกลายเป็น “นวัตกรรม”

“พี่เก้ง” ก็เพิ่งรู้ว่าทำแบบนี้ก็ทำได้

เขานำรูปแบบกิจกรรมนี้ไปใช้กับบริษัท GDH เอาพนักงานทั้งหมดที่ไม่ใช่ผู้กำกับหรือคนที่รู้เรื่องการทำหนัง

ฝ่ายบัญชี รปภ. แมสเซนเจอร์ ฝ่ายบุคคล

เอาไปทำหนังสั้นกัน

3 วัน 2 คืน

กลายเป็นกิจกรรมการละลายพฤติกรรมที่ดีมาก

ทำให้คนในบริษัทได้รู้จักโปรดักต์ของบริษัทอย่างแท้จริง
ได้รู้ว่าการทำหนังนั้นยากแค่ไหน

“ยอร์ช” ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร ผู้กำกับร้อยล้านซึ่งมาเป็น “โค้ช” บอกผมว่าเวลาไปสอนนักศึกษา แล้วให้ทำหนังสั้นในเวลาไม่กี่วัน

ทุกคนจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้

“ยอร์ช” จะยกตัวอย่าง ABC ว่าเขาทำมาหลายรุ่นแล้ว

“ทำได้” เขาบอกนักศึกษา และสรุปสั้นๆ

“ไม่เชื่อ ไปถามพี่เก้ง”