ขาดทุนคือกำไร

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

วันก่อน คุณตัน ภาสกรนที มาบรรยายที่หลักสูตร ABC แทนที่จะคุยเรื่องธุรกิจชาเขียว เราเปลี่ยนมาคุยกันเรื่อง “ตลาดนัด”

ตอนนี้ “ตัน” ทำตลาดนัดแห่งใหม่ที่ชลบุรี

ชื่อว่า “ตลาดนัดนินจา อมตะ”

คำว่า “อมตะ” เพราะอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมอมตะ

เป็นตลาดนัดใหญ่มาก ประมาณ 80 ไร่

พื้นเทปูนอย่างดี มีอาคารขนาดใหญ่ 2 หลัง

รองรับพ่อค้าแม่ค้าได้มากกว่า 2,000 แผง

ก่อนหน้านี้ คุณตันเคยทำตลาดนัดมาแล้วที่จังหวัดลพบุรี

สั่งสมประสบการณ์เรื่อง “ตลาดนัด”มาพอสมควร

ตอนนี้ตลาดนัดนินจา อมตะ ของคุณตัน ประสบความสำเร็จสูงมาก

เปิดมาได้เกือบ 3 เดือน คนแน่นแทบทุกวัน

ส่วนหนึ่ง เพราะคุณตันเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่กล้าได้กล้าเสีย

จัดเต็ม-ใส่เต็ม ตามสไตล์คุณตัน

ส่วนหนึ่ง มาจากประสบการณ์การลองผิดลองถูกจากตลาดนัดลพบุรีมาแล้ว

ส่วนหนึ่ง เพราะคุณตันมาจาก “ดิน”

เริ่มทำธุรกิจแรก คือ แผงขายหนังสือพิมพ์หน้าตึกแถว

เขารู้ว่าพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มนี้ต้องการอะไร

เรื่องนี้สำคัญมากครับ

เพราะการทำตลาดนัด เราต้องดีลกับพ่อค้ารายย่อย ประมาณ 2,000-3,000 คน

พ่อค้าแม่ค้ากลุ่มนี้ รายได้และรายจ่ายของเขาเป็น “รายวัน”

ไม่ได้มีสายป่านยาว

จ่ายค่าเช่าแผงเป็นวัน

รายได้จากการขายเป็นวัน

เมื่อสายป่านไม่ยาว ถ้าตลาดนัดจุดติดช้า เขาจะหนีทันที

เพราะไม่สามารถขาดทุนได้นาน

คำว่า “จุดติดช้า” ไม่ได้หมายความว่า 1-2 เดือนนะครับ

แค่ไม่ถึงสัปดาห์ ถ้าไม่มีคนเดินตลาดนัด เขาก็ไปแล้ว

ตอนเปิดตลาดนัดนินจา อมตะ คุณตันใช้ 2 กลยุทธ์

กลยุทธ์แรก คือ จัดคอนเสิร์ตต่อเนื่องทุกวัน 2 เดือน

เรียกคนมาดูคอนเสิร์ตฟรี เพื่อให้เดินตลาดนัดต่อ

เป็นคาถาเรียก “ลูกค้า” ให้ “พ่อค้า”

กลยุทธ์ที่สอง คือ ให้พ่อค้าแม่ค้าขายฟรี 3 เดือน

ไม่เก็บเงินค่าเช่าแผง

มุมหนึ่ง คือ การ “เติมเงินในกระเป๋า” พ่อค้าแม่ค้า

ให้ทุกคนกระเป๋าลึกขึ้น

มีต้นทุนในการทำมาค้าขาย

ใครที่กู้เงินนอกระบบมาลงทุน จะได้มีเงินไปจ่ายเขา

หลังเดือนที่ 3 ค่อยว่ากัน

ในอีกมุมหนึ่ง เพราะ “คุณตัน” เข้าใจคนระดับ “รากหญ้า” ดี

รู้ว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้คืออะไร

พอเริ่มเก็บเงินค่าเช่าแผง วันละ 100-200 บาท

พ่อค้าแม่ค้าทุกคนมีเงินทุนในกระเป๋าแล้ว จากการขายฟรี 3 เดือน

และรู้ว่า “รายรับ” ต่อวันเท่าไร เพราะได้ทดลองขายมาแล้ว

แทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย

ตอนที่เขาทำตลาดนัดที่ลพบุรี

“น้องกิฟท์” ลูกคุณตัน เคยบอกพ่อประโยคหนึ่งที่เขาประทับใจมาก

เพราะเข้าใจในสิ่งที่เขาตั้งใจทำ

“กิฟท์” บอกว่า ธุรกิจตลาดนัดไม่ได้ทำกำไรมากมาย

“แต่มันมีคุณค่ามาก”

สิ่งที่ “ตัน” มีความสุขที่สุด คือ ได้สร้างชีวิตใหม่ให้กับพ่อค้าแม่ค้าจำนวนมาก

มีกินมีใช้ มีเงินส่งลูกไปเรียน มาจากตลาดนัดของเขา

คุณตันบอกว่า “กำไร” ของเขา คือ การได้เดินตลาดนัด แล้วได้กินของฟรีตามแผงต่าง ๆ

เดินไปแผงไหน ทุกคนก็ยื่นอาหารหรือขนมให้

ด้วย “รอยยิ้ม”

เพราะทุกคนได้ “ชีวิตใหม่” จากตลาดนัดของ “ตัน”

ในความคิดของเขา “พ่อค้าแม่ค้า” ในวันนี้ ก็คือ ตัวเขาในอดีต

วันนั้น เขาอยากได้รับความช่วยเหลือแบบไหน

วันนี้ “ตัน” ก็ให้ “ตัวเขาในอดีต” แบบนั้น


…เท่านั้นเอง